วันอังคาร, ตุลาคม 13, 2552

นักเขียนน้อยชายแดนใต้..."บล็อกเกอร์พันธุ์ใหม่"



เรื่องเล่าจากนักเขียนน้อยชายแดนใต้ เป็นแนวคิดของ "สำนักหัวใจเดียวกัน" ที่เชื่อในพลังของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในดินแดนปลายด้ามขวานซึ่งมีต้นทุนชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม ทั้งยังมีประวัติศาสตร์อันยาวนานน่าภาคภูมิใจ เพียงแต่ยังขาดทักษะและ "แรงบันดาลใจ" ที่จะลุกขึ้นมาบันทึกเรื่องราวเหล่านั้นในท้องถิ่นของตนเองเผยแพร่สู่โลกกว้าง

“โครงการอบรมการเขียนเว็บบล็อก (Web Blog) สร้างนักข่าว-นักเขียนสายพันธุ์ใหม่ชายแดนใต้” จึงเกิดขึ้น เป็นการดำเนินงานในลักษณะพันธมิตรเครือข่ายภายใต้ความร่วมมือของ “สำนักหัวใจเดียวกัน” ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา วิทยุชุมชน 97.5 Modern Hit Peace FM จ.ยะลา และทีมงานบล็อกเกอร์ OK.NATION ในเครือเนชั่นมัลดิมีเดียกรุ๊ป โดยมีเยาวชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้สนใจเข้าร่วมกว่า 50 คน
กิจกรรมดีๆ เช่นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนหันมาสนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทั้งในแง่ของวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของผู้คน เป็นการปูพื้นฐานการเขียน การถ่ายภาพ อันจะมีผลต่อการพัฒนาทักษะด้านการอ่าน การเก็บข้อมูล การสัมภาษณ์ ตลอดจนการศึกษาและการทำงานในอนาคต ขณะเดียวกันยังเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนมีสำนึกรักบ้านเกิด ก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างคนต่างศาสนาในฐานะผู้ร่วมอาศัยอยู่บนแผ่นดินเดียวกัน
ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ หรือ “พี่ย่อง” ของน้องๆ บรรณาธิการนิตยสารหัวใจเดียวกัน กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ว่า จากที่คลุกคลีในวงการสื่อทั้งส่วนกลางและในพื้นที่มาหลายปี วันหนึ่งมีเหตุร้ายเกิดขึ้นที่บ้านเกิดของตัวเอง จึงคิดว่าไม่ควรนิ่งเฉยอีกต่อไป จึงตัดสินใจรวมกลุ่มกับเพื่อนในวงการนักข่าวและนักเขียน จัดตั้ง “สำนักหัวใจเดียวกัน” เพื่อคิดหากิจกรรมดีๆ ลงมาช่วยพื้นที่ เป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วม และใช้พลังเยาวชนในการขับเคลื่อน
“ผมไม่ปฏิเสธว่าในพื้นที่มีความรุนแรงตามที่สื่อกระแสหลักนำเสนอออกไป แต่ผมมองว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากคนเพียงส่วนน้อยเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่เรายังมีต้นทุนทางสังคม ต้นทุนทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งวิถีชีวิต และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ขณะที่สมรรถภาพของผู้คนก็ยังแข็งแรง ยังมั่นคงอยู่ เรื่องราวดีๆ ต่างๆ จึงสมควรได้รับการนำเสนอ”
“แต่ปัญหาที่พบมาตลอดก็คือ สื่อกระแสหลักไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างแท้จริง ผมจึงคิดว่าในเมื่อเรามีเด็กอยู่ในพื้นที่ โดยที่ทุกคนมีพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง คนรอบข้าง และสิ่งแวดล้อมที่เป็นต้นทุนของชีวิตเขาอยู่แล้ว เขาย่อมสามารถเข้าใจบ้านของเขาเองได้ดีกว่า จึงสร้างแรงบันดาลใจ ให้กำลังใจ และกระตุ้นให้เขานำเรื่องราวของบ้านเกิดมาเขียน”
ชุมศักดิ์ เล่าว่า ค่ายวรรณกรรมนักเขียนน้อยชายแดนใต้ นับเป็นกิจกรรมแรกที่ทำร่วมกับ “มูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง” (มี ดร.รุ่ง แก้วแดง อดีต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน) เพื่อเปิดช่องทางให้เด็กที่มีทักษะในงานเขียนได้ถ่ายทอดเรื่องราวที่ตัวเองประสบพบเจอผ่านตัวอักษร ปรากฏว่าประสบความสำเร็จเกินคาด น้องๆ สะท้อนความคิดผ่านงานเขียนได้ดีมาก แต่ละเรื่องที่เขียนออกมามีความน่าสนใจ และใช้ภาษาได้ดี เมื่อโครงการแรกประสบความสำเร็จ จึงเกิดความคิดที่จะใช้เทคโนโลยีในรูปแบบของ “เว็บบล็อก” ที่นิยมกันทั่วโลก เพื่อใช้ช่องทางนี้ในการสื่อสารเพิ่มเติม
และนี่คือจุดเริ่มของการจัดค่ายอบรมการเขียนเว็บบล็อก (Web Blog) สร้างนักข่าว-นักเขียนสายพันธุ์ใหม่ชายแดนใต้ โดยเลือกบ้านต้นหยี ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา เป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติในลักษณะ "อบรมเชิงปฏิบัติการ"
ต้องบอกว่าแค่ “โลเกชั่น” ที่เลือกทำค่ายก็ท้าทายไม่น้อยแล้ว เพราะครั้งหนึ่งพื้นที่แห่งนี้คือหมู่บ้านที่ถูกแต้ม “สีแดง” โรงเรียนตาดีกาหลายแห่งไม่มีเสาธงและธงชาติไทย แต่วันนี้บ้านต้นหยีไม่มีคำว่า “สีแดง” อีกต่อไป คนไทยทั้งพุทธและมุสลิมถ้อยทีถ้อยอาศัย อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข
ทั้งนี้ เหตุผลที่ ชุมศักดิ์ ตัดสินใจเลือกบ้านต้นหยีเป็นสถานที่ทำค่าย เพราะเขามีความหลังกับหมู่บ้านแห่งนี้
“ผมเคยทำกิจกรรมแรกกับ ดร.รุ่ง แก้วแดง มีโอกาสได้สัมผัสเรียนรู้วิถีชีวิตของคนแถบนี้ ทั้งเดินป่าและสัมภาษณ์ผู้นำชุมชนอย่างผู้ใหญ่บ้าน พูดคุยกันจนรู้สึกคุ้นเคย เหมือนเป็นพี่เป็นน้องกัน พอทราบข่าวว่าจะมีงานมัสยิด ก็เลยปรึกษากับทีมงานกันว่าน่าจะพาเด็กๆ ลงไปเรียนรู้พื้นที่ตรงนี้อีกครั้ง ไปเห็นวิถีชีวิตจริงๆ ของชาวบ้านที่เดิมเป็นพื้นที่สีแดง น่ากลัวมาก แต่ทุกวันนี้ทุกบ้านติดธงชาติ มีผู้ใหญ่บ้านที่เข้มแข็ง มีแนวคิดในเชิงพัฒนา” ชุมศักดิ์ บอก และว่า
“เมื่อพาน้องๆ ลงพื้นที่ ผมจะไม่เล่าเรื่องราวในอดีตของหมู่บ้านให้ฟัง แต่จะให้อิสระทางความคิด ไม่วางกรอบ น้องๆ สามารถทำเรื่องอะไรก็ได้ น้องๆ ไปเห็นร้านน้ำชา ไปเห็นคนกำลังกรีดยาง เลี้ยงแพะ อยากรู้อะไรก็เข้าไปถาม คุยกับเขา และเขียนออกมาได้เลย”
จากเรื่องราวที่หมุนคว้างอยู่ในความคิด ถูกจัดระเบียบและเรียงร้อยออกมาเป็นตัวอักษร แต่กระบวนการยังไม่จบเพียงแค่นั้น เพราะน้องๆ ทุกคนจะต้องนำเรื่องที่ตนเองเขียนถ่ายทอดผ่าน "เว็บบล็อก" อวดสู่สายตาสาธารณชนผ่านโลกไซเบอร์ด้วย
“เยาวชนทุกคนจะมีบล็อกเป็นของตัวเองอย่างสมบูรณ์ 1 คนต่อ 1 บล็อก จบจากค่ายนี้ น้องๆ ก็ยังสามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารจากพื้นที่จริงได้อย่างต่อเนื่อง โดยจะมีทีมบรรณาธิการคอยช่วยแนะนำงานเขียนของน้องๆ เพิ่มเติม และในระยะยาวหากเป็นไปได้จะมีการรวบรวมงาน
เขียนของเยาวชนรุ่นใหม่พิมพ์เป็นพ็อคเก็ตบุ๊คอีกด้วย” ชุมศักดิ์ บอก
แม้โครงการนี้จะมีลักษณะเป็นโครงการนำร่องเพื่อทดลองแนวทางใหม่ในการปลุกพลังเยาวชนให้ลุกขึ้นมามีส่วนร่วมกับชุมชน และรับผิดชอบความเป็นไปของบ้านเกิด แต่ในอนาคตย่อมไม่ปิดโอกาสของการต่อยอดเพื่อพัฒนาเยาวชนเหล่านี้สู่การเป็น “นักข่าว-นักเขียน” ประจำชุมชนหมู่บ้าน ตามแนวทางของ “นักข่าวพลเมือง” หรือ citizen reporter
“เยาวชนแต่ละพื้นที่ที่เป็นตัวแทนเข้าร่วมโครงการบล็อกเกอร์ บอกได้เลยว่าอนาคตพวกเขาเหล่านี้จะเป็นผู้มีส่วนร่วมในการดูแลชุมชน คอยรายงานความคืบหน้าของการพัฒนา รายงานความสวยงามของพื้นที่ สภาพวิถีชีวิต รวมไปถึงปัญหาต่างๆ สิ่งนี้ผมเชื่อว่าจะเป็นแนวทางในการช่วยสร้างสันติสุขในพื้นที่ได้มาก ผมเชื่อในพลังของคนรุ่นใหม่ เชื่อระบบคิดของคนรุ่นใหม่” ชุมศักดิ์ กล่าว
“ทุกวันนี้เรากำลังทำสงครามทางความคิด ถ้าเด็กกลุ่มนี้มีปัญหา ระบบความคิดไม่แข็งแรงหรืออ่อนแอ ก็จะถูกชักจูงไปสู่ยาเสพติด สู่ปัญหาอื่นๆ มากมาย แต่ถ้าเราค่อยๆ ปลูกฝัง ค่อยๆ สอน ค่อยๆ ดูแลเยียวยาเขา ให้เขาแข็งแรงในทางความคิดก่อน ผมเชื่อว่าเยาวชนเหล่านี้จะเป็นพลังในการช่วยพื้นที่ให้กลับสู่สันติสุขได้ดังเดิม”
ในฐานะ “คนข่าว” ชุมศักดิ์ มองการทำงานของสื่อสารมวลชนที่มีผลต่อปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เอาไว้อย่างน่าสนใจ
“ตลอด 5 ปีที่สถานการณ์ยังคุกรุ่นอยู่ ผมชื่นชมศูนย์ข่าวอิศราที่คอยนำเสนอข่าวเชิงบวก เป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งนอกเหนือจากความรุนแรง แต่ต้องยอมรับความจริงว่าประเด็นที่เป็นอัตลักษณ์และความงดงามอีกมากมาย สื่ออื่นๆ ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ผมจึงอยากเห็นเรื่องราวเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดผ่านการร้อยเรียงของน้องๆ เยาวชนผ่านเว็บบล็อกด้วยเช่นกัน เพราะนี่คือการคลี่คลายปัญหา และเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมจริงๆ” บรรณาธิการนิตยสารหัวใจเดียวกัน ระบุ
ไฮไลท์สำคัญของค่ายนักข่าว-นักเขียนสายพันธุ์ใหม่ คือการลงพื้นที่บ้านต้นหยี ซึ่งเท่าที่สังเกตดู แม้แดดจะร้อนเปรี้ยงเพียงใด แต่ใบหน้าของทุกคนก็ยังเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มและความสุข ทุกคนพยายามเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด เพื่อนำไปเขียนเรื่องราวในบล็อกของตนเอง
ขณะที่ วาตี มามุ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) บอกว่า แรกเริ่มเข้าใจว่าการทำเว็บบล็อกเป็นเรื่องยาก แต่เมื่อมาเข้าอบรมทำให้รู้ว่าไม่ยากเลย ส่วนตัวตั้งใจจะเก็บเรื่องราวต่างๆ ที่ได้พบเจอ และเขียนไว้ในเว็บบล็อกในลักษณะบันทึกความทรงจำ
“ผมอยากเขียนเล่าเรื่องราวแบบนี้มานานแล้ว แต่ทำไม่เป็น พอโครงการนี้เกิดขึ้น ยิ่งทำให้อยากนำเสนอเรื่องราวในแง่มุมที่หลากหลายขึ้น เพื่อให้หลายๆ คนได้รับรู้ พี่ๆ แต่ละคนที่มาถ่ายทอดความรู้ล้วนมีประสบการณ์ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการได้ตระหนักว่า การจะเขียนเรื่องราวอะไรออกสู่สาธารณชน จะต้องมีเหตุผล มีความเป็นกลาง ไม่ควรเอนเอียงไปทางหนึ่งทางใด” วาตี กล่าว
อย่าลืมติดตามอ่านเรื่องราวของนักเขียนน้อยๆ เหล่านี้ในฐานะ "บล็อกเกอร์พันธุ์ใหม่" จากชายแดนใต้...



0 ความคิดเห็น:

Our Blogger Templates Web Design

  © Blogger templates The Professional Template by Ourblogtemplates.com 2008

Back to TOP