วันพุธ, มิถุนายน 30, 2553

ยอดผู้เสียชีวิตไฟใต้ทะลุ 4,000 ราย!

ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนจากค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 พุ่งทะลุ 4,000 รายแล้ว เมื่อนับถึงสิ้นเดือน เม.ย.2553 ขณะที่สถานการณ์ในเดือน พ.ค.สะท้อนแนวโน้มความรุนแรงที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เหตุการณ์ความไม่สงบในรอบเดือน เม.ย.2553 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา รวม 68 เหตุการณ์ มีผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์รวมทั้งสิ้น 203 ราย แยกเป็นเสียชีวิต 29 ราย บาดเจ็บ 174 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิตตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อต้นปี 2547 จนถึงปัจจุปันรวมทั้งสิ้น 4,006 ราย

เหตุรุนแรงในรอบเดือน เม.ย. 69 เหตุการณ์ แยกตามพื้นที่ในระดับอำเภอและจังหวัดได้ดังนี้
ปัตตานี 24 เหตุการณ์ เกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอเมือง 5 เหตุการณ์ อ.โคกโพธิ์ และ อ.ยะรัง อำเภอละ 4 เหตุการณ์ อ.มายอ 3 เหตุการณ์ อ.สายบุรี และ อ.หนองจิก อำเภอละ 2 เหตุการณ์ อ.ยะหริ่ง อ.ไม้แก่น อ.แม่ลาน และ อ.กะพ้อ อำเภอละ 1 เหตุการณ์
ยะลา 11 เหตุการณ์ เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.ธารโต 5 เหตุการณ์ อ.รามัน 3 เหตุการณ์ อำเภอเมือง 2 เหตุการณ์ อ.บันนังสตา 1 เหตุการณ์
นราธิวาส 33 เหตุการณ์ เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.บาเจาะ 9 เหตุการณ์ อ.ระแงะ 7 เหตุการณ์ อ.รือเสาะ อ.เจาะไอร้อง และ อ.จะแนะ อำเภอละ 3 เหตุการณ์ อำเภอเมือง อ.ยี่งอ และ อ.ศรีสาคร อำเภอละ 2 เหตุการณ์ อ.แว้ง กับ อ.ตากใบ อำเภอละ 1 เหตุการณ์
หากแบ่งตามลักษณะเหตุการณ์และพื้นที่เกิดเหตุ สามารถแบ่งได้ดังนี้
ลอบยิงรายวัน 53 เหตุการณ์ แยกเป็นพื้นที่ จ.ปัตตานี 20 เหตุการณ์ ยะลา 6 เหตุการณ์ นราธิวาส 27 เหตุการณ์
ลอบวางระเบิด 15 เหตุการณ์ แยกเป็นพื้นที่ จ.ปัตตานี 4 เหตุการณ์ ยะลา 5 เหตุการณ์ นราธิวาส 6 เหตุการณ์
ด้านเหยื่อความรุนแรงจากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นทั้งเสียชีวิตและบาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 203 ราย แบ่งเป็นเสียชีวิต 29 ราย บาดเจ็บ 174 ราย แยกตามจังหวัด กลุ่ม และอาการของเหยื่อความรุนแรงได้ดังนี้
ปัตตานี 102 ราย เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 63 ราย ประชาชนเสียชีวิต 12 ราย บาดเจ็บ 24 ราย
ยะลา 43 ราย เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาดเจ็บ 17 ราย ประชาชนบาดเจ็บ 26 ราย
นราธิวาส 58 ราย เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 21 ราย ประชาชนเสียชีวิต 12 ราย บาดเจ็บ 23 ราย
พ.ค.ป่วนหนักกว่าเก่า
เหตุการณ์ความไม่สงบในรอบเดือน พ.ค.2553 เกิดเหตุรุนแรงทั้งสิ้น 71 เหตุการณ์ มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ 151 ราย แยกเป็นผู้เสียชีวิต 35 ราย บาดเจ็บ 116 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิตตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อต้นปี 2547 จนถึงสิ้นเดือน พ.ค.รวมทั้งสิ้น 4,041 ราย
ทั้งนี้ เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในเดือน พ.ค.ทั้งหมด 71 เหตุการณ์ แยกตามพื้นที่ในระดับอำเภอและจังหวัดได้ดังนี้
ปัตตานี 22 เหตุการณ์ เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.ยะรัง 7 เหตุการณ์ อ.หนองจิก อ.สายบุรี และ อ.โคกโพธิ์ อำเภอละ 3 เหตุการณ์ อ.กะพ้อ อ.ทุ่งยางแดง อ.ปะนาเระ อ.ยะหริ่ง และ อำเภอเมือง อำเภอละ 1 เหตุการณ์
ยะลา 21 เหตุการณ์ เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.บันนังสตา และ อำเภอเมือง อำเภอละ 7 เหตุการณ์ อ.ธารโต และ อ.ยะหา อำเภอละ 2 เหตุการณ์ อ.รามัน อ.กรงปินัง และ อ.เบตง อำเภอละ 1 เหตุการณ์
นราธิวาส 28 เหตุการณ์ เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.ระแงะ 7 เหตุการณ์ อ.รือเสาะ 6 เหตุการณ์ อ.ศรีสาคร 3 เหตุการณ์ อำเภอเมือง อ.บาเจาะ และ อ.เจาะไอร้อง อำเภอละ 2 เหตุการณ์ อ.ยี่งอ อ.สุไหงปาดี อ.สุไหงโก-ลก อ.แว้ง อ.สุคิริน และ อ.จะแนะ อำเภอละ 1 เหตุการณ์
จากสถานการณ์ในภาพรวม หากแบ่งตามลักษณะเหตุการณ์และพื้นที่เกิดเหตุ สามารถแบ่งได้ดังนี้
ลอบยิงรายวัน 53 เหตุการณ์ แยกเป็นพื้นที่ จ.ปัตตานี 18 เหตุการณ์ ยะลา 12 เหตุการณ์ นราธิวาส 23 เหตุการณ์
ลอบวางระเบิด 18 เหตุการณ์ แยกเป็นพื้นที่ จ.ปัตตานี 4 เหตุการณ์ ยะลา 9 เหตุการณ์ นราธิวาส 5 เหตุการณ์
ด้านเหยื่อความรุนแรงจากสถานการณ์ความไม่สงบทั้งเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 151 รายนั้น แบ่งเป็นเสียชีวิต 35 ราย บาดเจ็บ 116 ราย แยกตามจังหวัด กลุ่ม และอาการของเหยื่อความรุนแรงได้ดังนี้
ปัตตานี 29 ราย เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 7 ราย ประชาชนเสียชีวิต 11 ราย บาดเจ็บ 9 ราย
ยะลา 78 ราย เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาดเจ็บ 16 ราย ประชาชนเสียชีวิต 11 ราย บาดเจ็บ 50 ราย ผู้ก่อความไม่สงบเสียชีวิต 1 ราย
นราธิวาส 44 ราย เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาดเจ็บ 22 ราย ประชาชนเสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บ 12 ราย ผู้ก่อความไม่สงบเสียชีวิต 1 ราย

อ่านต่อ...

วันอังคาร, มิถุนายน 29, 2553

เอ็นจีโอจี้ปิด"ศูนย์ซักถาม"ค่ายอิงคยุทธฯ ทหารโวยให้ตรวจสอบองค์กรสิทธิ์บ้าง!

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้ออกแถลงการณ์เนื่องในวันต่อต้านการทรมานสากล 26 มิ.ย.2553 เรียกร้องให้ปิดศูนย์ซักถามตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยอ้างว่ามีการทรมานผู้ต้องสงสัยให้รับสารภาพและขังเดี่ยว อันถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

แถลงการณ์ของทั้งสองมูลนิธิดังกล่าว ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและช่วยเหลือทางกฎหมายให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและกองทัพบก รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 ข้อคือ
ส่

1.ขอให้ปิดศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ (ศูนย์ซักถาม) ในค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ที่อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ด้วยเหตุว่าต้องสงสัยว่ามีผู้ทรมานผู้ต้องสงสัยให้สารภาพ และมีสภาพเป็นการขังเดี่ยวผู้ต้องสงสัยที่ยังไม่ได้รับการตัดสินว่ากระทำความผิด ซึ่งเป็นทรมานและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ขัดต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี และขัดต่อรัฐธรรมนูญ

2.ขอให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติต่อผู้ถูกเชิญตัวหรือผู้ต้องสงสัยที่ยังไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการทรมานหรือปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมต่อผู้ถูกเชิญตัวหรือผู้ต้องสงสัยโดยเด็ดขาด

3.หากพบว่ามีการกระทำความผิดตามที่มีเรื่องร้องเรียนจริง ทางรัฐบาลและกองทัพต้องดำเนินการลงโทษทางวินัยและทางอาญาเพื่อเป็นการป้องปรามและยุติการซ้อมทรมานซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง ขัดต่อกฎหมายในประเทศและขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ที่ผ่านมาการเรียกร้องและร้องเรียนของผู้เสียหายมักไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระ เหยื่อและญาติมักถูกคุกคามและหวาดกลัวอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ หลายกรณียุติการร้องเรียนและส่งผลให้การซ้อมทรมานเพื่อให้ได้คำสารภาพยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นเงื่อนไขใช้ความรุนแรงต่อต้านการบังคับใช้กฎหมายของรัฐ

4.จัดให้มีหน่วยงานอิสระ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัวอย่างเป็นประจำ ทั้งสถานที่ควบคุมตัวตามอำนาจตามกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมทั้งการพัฒนาและจัดให้มีคู่มือการปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยกรณีการก่อความไม่สงบ เพื่อเป็นการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และห้ามไม่ให้มีการซ้อมทรมานโดยเด็ดขาด

อนึ่ง แถลงการณ์ดังกล่าวซึ่งออกในโอกาสวันต่อต้านการทรมานสากล วันที่ 26 มิ.ย. ซึ่งประกาศโดยองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ยังอ้างข้อมูลว่า นับตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย.ถึงต้นเดือน พ.ค.2553 องค์กรสิทธิมนุษยชนได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีที่ผู้ถูกควบคุมตัวในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์อย่างน้อย 6 รายว่าถูกจำกัดการเยี่ยมจากญาติอย่างผิดปกติ บางคนได้รับอนุญาตให้ญาติพบหน้าในระยะห่างๆ เพียง 1-2 นาทีเท่านั้น บางรายไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับญาติอย่างเช่นที่เคยปฏิบัติกันมาตามปกติ

ในช่วงกลางเดือน พ.ค.2553 ญาติร้องเรียนขอให้แพทย์ตรวจร่างกายผู้ถูกควบคุมตัว 2 ราย โดยสงสัยว่าอาจถูกซ้อมทรมาน เนื่องจากพบเห็นผู้ถูกควบคุมตัวมีสภาพร่างกายอ่อนเพลีย และในวันที่ 30 พ.ค.2553 มีรายงานว่า นายสุไลมาน แนซา เสียชีวิตในห้องขังระหว่างการควบคุมตัวในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ด้วยสาเหตุที่ยังสรุปไม่ได้ว่าเป็นการผูกคอตายเอง หรือถูกผู้อื่นทำให้เสียชีวิต

แถลงการณ์ยังอ้างว่า ผู้ถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ณ ศูนย์ดังกล่าว ไม่ได้รับอนุญาตให้พบปะกับทนายความเพื่อปรึกษาหรือร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิของตน และมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับวิธีการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 30 กรณีนับตั้งแต่เดือน ม.ค.2552 จนถึงปัจจุบัน

แถลงการณ์ฉบับนี้ได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะหลังจากวันที่ 25 มิ.ย. นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดแถลงข่าวผลสรุปการสอบสวนเบื้องต้นการเสียชีวิตของ นายสุไลมาน แนซา ภายในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ โดย นางอมรา ตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวโดยยอมรับว่า การเสียชีวิตของนายสุไลมานมีความไม่ชอบมาพากลที่จะต้องตรวจสอบต่อไป

พร้อมกันนั้นก็ได้เสนอข้อเรียกร้อง 4 ข้อต่อรัฐบาล โดยเน้นให้ป้องกันปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการซ้อมทรมานระหว่างปฏิบัติการจับกุม คุมขัง หรือซักถามภายในศูนย์ควบคุมตัว รวมถึงการกดดันทางจิตใจ โดยให้จัดนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เข้าร่วมในการซักถามด้วย

ทั้งนี้ นายสุไลมาน วัย 25 ปีถูกพบเป็นศพมีผ้าผูกคอติดกับเหล็กดัดหน้าต่างภายในห้องควบคุมในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร เมื่อเช้าวันที่ 30 พ.ค.2553 หลังจากถูกคุมตัวมาจาก อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ได้เพียง 7 วัน ฐานเป็นผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบในพื้นที่

ต่อมามีการชันสูตรศพจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และตรวจดีเอ็นเอโดยเจ้าหน้าที่จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ผลชันสูตรไม่พบร่องรอยการถูกทำร้าย หรือรอยนิ้วมือของบุคคลอื่นภายในห้องควบคุม ทำให้ฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่า นายสุไลมานน่าจะผูกคอตายเอง แต่ฝ่ายเอ็นจีโอและญาติผู้เสียชีวิตต่างไม่เชื่อผลชันสูตร และสงสัยว่านายสุไลมานอาจจะถูกทำให้ตาย โดยข้อมูลของเอ็นจีโอบางแห่งอ้างว่านายสุไลมานคอหัก



แม่ทัพภาค 4 โวยไม่ยุติธรรมกับทหาร

จากข้อเรียกร้องของเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชน และปัญหาการเสียชีวิตของนายสุไลมานนั้น พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า กรณีของนายสุไลมาน ได้ให้ทุกฝ่ายดำเนินการอย่างโปร่งใส่ ในวันแรกที่พบศพมีการเข้าร่วมตรวจชันสูตรพร้อมกันทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นญาติของผู้เสียชีวิต องค์กรสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ แพทย์ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ตำรวจ ฝ่ายปกครอง อัยการ และนักข่าว รวมสิบกว่าฝ่าย ซึ่งผลการตรวจร่วมกันในวันนั้น ไม่ได้มีฝ่ายใดโต้แย้งหรือติดใจสงสัยการเสียชีวิตของนายสุไลมาน

"ในวันนั้นทางตำรวจเองก็ถามกับทางญาติและตัวแทนจากองค์กรสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ว่า ยังมีข้อสงสัยเรื่องการเสียชีวิตอยู่หรือไม่ หากมีก็จะประสานไปยังแพทย์จากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อนำศพไปผ่าพิสูจน์เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย แต่ทางญาติและตัวแทนองค์กรสิทธิ์ไม่ติดใจอะไร ทว่าพอนำศพกลับไปแล้ว กลับออกมาบอกว่าการตายของสุไลมานผิดปกติ สงสัยว่าจะเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ ตรงนี้ผมมองว่ามันไม่ยุติธรรมกับทางฝ่ายเจ้าหน้าที่เลย”

แม่ทัพภาคที่ 4 ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมตอนที่ศพอยู่ระหว่างการตรวจสอบของทุกฝ่าย ซึ่งญาติและตัวแทนจากองค์กรสิทธิมนุษยชนก็อยู่เป็นสักขีพยาน กลับไม่มีใครโต้แย้ง หากสงสัยหรือคิดว่ามีเงื่อนงำก็ต้องทักท้วงทันที แต่เมื่อนำศพกลับไปแล้วกลับมาอ้างว่าคอหักบ้าง มีสิ่งผิดปกติตรงนั้นตรงนี้บ้าง ทั้งๆ ที่ผลการชันสูตรจากแพทย์ และผลตรวจดีเอ็นเอจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ก็ยืนยันชัดเจน

“คุณคิดว่าคนกลางที่เข้าร่วมตรวจกับคุณหลายๆ ฝ่าย ทั้งอัยการ แพทย์ เขาเป็นอะไร เขาก็มีจรรยาบรรณในวิชาชีพของเขา หากทางเจ้าหน้าที่กระทำความผิดในกรณีนี้จริง จะยอมให้คนอื่นเข้ามาร่วมตรวจสอบทำไม แต่นี่เรายืนยันในความบริสุทธิ์ทุกอย่าง ไม่มีงุบงิบปิดบัง ทำทุกอย่างเปิดเผย”

“ทุกวันนี้การทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เป็นไปตามนโยบายของกองทัพบก ไม่มีนโยบายให้ใช้ความรุนแรง เพราะเรารู้ว่าวันนี้กลุ่มใดที่ใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ก็จะมีแต่พ่ายแพ้ กรณีการเสียชีวิตของสุไลมาน คิดกันง่ายๆ ถามว่าถ้าเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำ ผลที่ออกมาก็รู้แล้วว่ามันมีแต่ความเสียหาย แล้วเจ้าหน้าที่จะได้ประโยชน์อะไร เราจะทำไปเพื่ออะไร เมื่อรู้ว่ามีแต่ผลเสียเกิดขึ้นกับตัวเอง”

พล.ท.พิเชษฐ์ ยังกล่าวด้วยว่า ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานแก้ไขปัญหาความไม่สงบ ที่ผ่านมาสามารถรับรู้ข้อมูลความเคลื่อนไหวของฝ่ายปฏิบัติการในขบวนการก่อความไม่สงบเป็นจำนวนมาก และการดำเนินงานของทางศูนย์ฯก็ไม่มีอะไรปิดบัง

“คุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ (จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม) หรือนักสิทธิมนุษยชนในพื้นที่เองก็น่าจะทราบข้อเท็จจริงเหล่านี้ดี เพราะล้วนแต่เคยเข้าไปเยี่ยมชมสภาพภายในศูนย์ฯมาแล้วทั้งสิ้น ไม่เพียงแต่องค์กรในพื้นที่ องค์กรระดับชาติและองค์กรระหว่างประเทศหลายๆ องค์กรที่ลงมาในพื้นที่สามจังหวัด ก็เคยเข้าไปเยี่ยมชมการทำงานและความเป็นอยู่ของบุคคลภายในศูนย์ฯแล้วทั้งนั้น”

“ที่ผ่านมาการเสียชีวิตของสุไลมาน หรืออีกหลายๆ กรณีที่ทางศูนย์ฯถูกตั้งข้อสงสัย ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ได้เข้าไปตรวจสอบ และเชิญผู้เกี่ยวข้องไปชี้แจง สุดท้ายก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเราทำงานกันอย่างโปร่งใส สามารถตอบข้อซักถามได้ทั้งหมด”

ส่วนมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดกรณีซ้ำร้อยนายสุไลมานนั้น แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ทำได้เพียงกำชับให้เจ้าหน้าที่คอยดูแลให้ทั่วถึงมากขึ้น จะให้ถึงขั้นไปควบคุม หรือติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดดูพฤติกรรมของผู้ที่อยู่ภายในก็คงทำไม่ได้ เพราะเกรงว่จะละเมิดสิทธิ์ของผู้ถูกเชิญตัวมา กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาอีก

“ผมขอย้ำอีกครั้งว่ากองทัพบกไม่มีนโยบายใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ เรายึดหลักสิทธิมนุษยชนในการปฏิบัติมาตลอด หากพบว่ากำลังพลหรือเจ้าหน้าที่ส่วนใดภายใต้การบังคับบัญชากระทำการโดยใช้ความรุนแรงหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่ จะไม่มีการละเว้นหรือช่วยเหลือ ทุกคนต้องได้รับโทษในความผิดที่กระทำขึ้น เพราะถือว่ากระทำการขัดต่อนโยบายที่วางเอาไว้” พล.ท.พิเชษฐ์ กล่าว



ผอ.ศูนย์ฯซัดองค์กรสิทธิ์บิดเบือน

ขณะที่ พ.อ.ปิยวัฒน์ นาควานิช ผู้อำนวยการศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมาได้เดินทางเข้าพบและชี้แจงรายละเอียดทุกข้อสงสัยกับทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมทั้งได้นำเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของนายสุไลมานไปอธิบายให้ฟังด้วย

“คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไม่ได้ซักถามเฉพาะกรณีของนายสุไลมาน แต่ยังมีเรื่องการดำเนินงานของศูนย์ฯอีกหลายเรื่อง ซึ่งผมก็ได้ตอบคำถามไปในคราวเดียวกันจนหมดและครบถ้วน ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ไม่ได้ติดใจอะไร เพราะสามารถอธิบายได้ทั้งหมด เพียงแต่มีข้อเสนอแนะเรื่องการดำเนินงานของศูนย์ฯ ให้มีตัวแทนหรือหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนเข้าไปมีส่วนร่วม นี่คือข้อเสนอแนะเพียงประเด็นเดียว ซึ่งเรื่องนี้เป็นอำนาจการตัดสินใจของผู้บังคับบัญชา”

พ.อ.ปิยวัฒน์ ยังกล่าวถึงข้อเรียกร้องขององค์กรสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ที่ให้ปิดศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ว่า แม้แต่ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ได้เข้าชี้แจงก็ยังไม่ได้พูดประเด็นนี้ มีเพียงองค์กรในระดับพื้นที่เท่านั้นที่พยายามออกมาเรียกร้อง และพยายามให้ข้อมูลบิดเบือนข้อเท็จจริงการทำงานของศูนย์ฯมาตลอด รวมถึงกรณีของนายสุไลมานด้วย

“การเข้าชันสูตรศพและตรวจที่เกิดเหตุหลังการเสียชีวิตของนายสุไลมาน ก็มีทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม รวมไปถึงทางตัวแทนจากองค์กรสิทธิมนุษยชนในพื้นที่เอง ซึ่งก็ไม่มีการโต้แย้งใดๆ แต่เมื่อการตรวจสอบจบแล้ว องค์กรสิทธิมนุษยชนในพื้นที่กลับออกมาเรียกร้องและตั้งข้อสังเกต ตลอดจนให้ข่าวสารที่บิดเบือนสร้างความเข้าใจผิด ทั้งๆ ที่ทางศูนย์ฯพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ไม่ได้มีการปิดบังข้อมูลหรือข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น”

ส่วนที่มีการกล่าวอ้างในแถลงการณ์ขององค์กรสิทธิ์ฯว่า ทางศูนย์ฯอนุญาตให้ญาติผู้ต้องสงสัยเยี่ยมได้เพียง 1 นาที หรือให้เพียงเห็นหน้า ไม่ยอมให้พูดคุยนั้น พ.อ.ปิยวัฒน์ กล่าวว่า ได้อธิบายกับประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแล้วว่า สาเหตุที่บ้างครั้งอนุญาตให้เยี่ยมเพียงระยะเวลาสั้นๆ หรือให้เพียงเห็นหน้า เพราะในวันนั้นผู้ถูกเชิญตัวอยู่ระหว่างพาเจ้าหน้าที่ออกไปยังพื้นที่เพื่อตรวจค้นตามจุดต่างๆ หลังจากยอมรับสารภาพ เช่น จุดซุกซ่อนอาวุธปืนหรือวัตถุผิดกฎหมาย

“การให้ญาติได้เห็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ หรือไม่อนุญาตให้พูดคุยกัน เพราะเกรงว่าจะมีการบอกกล่าวจนเกิดผลเสียต่อการลงพื้นที่และความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ที่ต้องลงพื้นที่”



แนะให้ตรวจสอบองค์กรสิทธิ์บ้าง

ส่วนเรื่องการขังเดี่ยวตามที่มีการกล่าวอ้างนั้น พ.อ.ปิยวัฒน์ กล่าวว่า ตามข้อเท็จจริงแล้วเราไม่มีห้องขัง เราจัดสร้างสถานที่เป็นห้องพัก มีสิ่งอำนวยความสะดวกตามความเหมาะสม ทั้งห้องน้ำ พัดลม ตู้เสื้อผ้า และให้พักได้ห้องละ 1 คน ไม่มีการล็อคกลอนหรือล็อคกุญแจประตูห้องพักแต่อย่างใด ผู้ที่ถูกเชิญตัวก็มีอิสระในการออกมาทำกิจกรรมต่างๆได้ตามปกติ ไม่ได้ปิดกั้นหรือบังคับ

“เรื่องนี้จริงๆ แล้วไม่น่าจะมาเป็นประเด็นข้อสงสัยเลย เพราะที่ผ่านมาทางตัวแทนองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและระดับสากล รวมไปถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนในพื้นที่เอง ก็ล้วนเคยเข้าเยี่ยมชม ตรวจสอบ และเห็นความเป็นอยู่ของผู้ที่ถูกเชิญตัวมาแล้วทั้งนั้น”

“ผมอยากจะบอกว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนของศูนย์ซักถามเกือบทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางที่ลงมาทำงานในพื้นที่ เราไม่มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรเลย ตรงกับข้ามอยากให้ทางประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะจากส่วนกลาง เข้ามาตรวจสอบการทำงานของตัวแทนหรือองค์กรในพื้นที่บ้างว่ามีการทำงานกันอย่างไร และมีส่วนได้ส่วนเสียกับกรณีที่เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะหลายๆ ครั้งมีการพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริง”

“สำหรับเรื่องร้องเรียนกรณีถูกซ้อมทรมานนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีของผู้ที่มีพยานหลักฐานว่าเป็นผู้กระทำความผิดอาญา โดยคนกลุ่มนี้จะถูกส่งตัวไปดำเนินคดีและถูกลงโทษตามกฎหมาย ส่วนผู้ที่ถูกเชิญตัวมาและไม่พบความผิดใดๆ จะไม่พบการร้องเรียน”

“เท่าที่ผมทราบ กลุ่มคนที่ถูกดำเนินคดีมักจะตกเป็นเหยื่อขององค์กรในพื้นที่บางองค์กรที่พยายามร้องเรียนหรือเข้ามาช่วยเหลือต่อสู้คดี ทั้งๆ ที่รู้ว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลแล้วจะต้องพ่ายแพ้ และต้องได้รับโทษตามกฎหมาย เพราะหลักฐานค่อนข้างชัดเจน จนทำให้ผู้ต้องหาบางรายสูญเสียเงินทองให้กับกลุ่มที่เข้ามาช่วยเหลือจนต้องเป็นหนี้เป็นสิน ทั้งๆ ที่องค์กรเหล่านี้ทราบดีว่าพยานหลักฐานชัดเจน ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ แต่เมื่อแพ้คดีก็พยายามโยนความผิดให้กับเจ้าหน้าที่และกระบวนการยุติธรรมว่ารวมหัวกันกลั่นแกล้ง จึงอยากให้ประธานคณะกรรมการสิทธิมุนษยชนแห่งชาติเข้ามาตรวจสอบองค์กรที่มีพฤติกรรมหาประโยชน์จากประชาชนเช่นนี้บ้าง”

ผู้อำนวยการศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ที่ผ่านมาทางศูนย์ฯเป็นหน่วยงานเดียวในพื้นที่ที่สามารถหาข้อมูลความเชื่อมโยงจนนำไปสู่การทำลายโครงสร้างของกลุ่มก่อความไม่สงบที่เคลื่อนไหวอยู่ จึงตกเป็นเป้าหมายการโจมตีหรือทำทุกวิถีทางจากฝ่ายที่ไม่ต้องการให้เกิดความสงบสุขในพื้นที่ หรือต้องการเห็นความวุ่นวาย ด้วยหวังให้ยุบหรือปิดศูนย์ฯลง



วนที่เหลือ

อ่านต่อ...

วันอาทิตย์, มิถุนายน 27, 2553

หนึ่งปีไอร์ปาแย (จบ) คดีกราดยิง 10 ศพในมัสยิดที่ยังหาคนผิดไม่ได้

“แม้ว่ามันจะผ่านมา 1 ปีแล้ว แต่เราก็ยังติดตามข่าวสารตลอด และมีความหวังว่าทางเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะสามารถจับคนร้ายที่ยิงชาวบ้านในมัสยิดมาลงโทษตามกฎหมายได้” เป็นเสียงจากชาวบ้านไอร์ปาแยรายหนึ่งที่เผยความรู้สึกกับ "ทีมข่าวอิศรา" กับคดีที่เป็นปริศนา คนร้ายใช้อาวุธสงครามบุกยิงพี่น้องชาวไทยมุสลิมถึงในมัสยิดบ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อค่ำคืนวันที่ 8 มิ.ย.ปีที่แล้ว
เสียงจากชาวบ้านรายนี้สะท้อนความจริงว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แม้สถานการณ์ที่บ้านไอร์ปาแยจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ชาวบ้านก็ยังสนใจติดตามความคืบหน้าของคดีอยู่ และก็มีความหวังลึกๆ ว่าการจับกุมผู้ก่อเหตุได้ จะอธิบายถึงสาเหตุของโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นใน "บ้านของพระเจ้า"

หากย้อนเส้นทางคดีกราดยิงในมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอร์ปาแย จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 10 ราย บาดเจ็บอีก 12 คน เมื่อค่ำคืนวันที่ 8 มิ.ย.2552 จะพบว่าตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เจาะไอร้อง ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ เพิ่งจะออกหมายจับผู้ต้องหาไปเพียง 1 ราย คือ นายสุทธิรักษ์ คงสุวรรณ อายุ 34 ปี อยู่บ้านเลขที่ 132 หมู่ 10 ต.ปางบอ อ.เมือง จ.นราธิวาส
และนายสุทธิรักษ์ เป็นคนเดียวที่ถูกออกหมายจับในฐานะผู้ต้องหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ ป.วิอาญา ซึ่งอนุมัติโดยศาล
นอกเหนือจากนายสุทธิรักษ์แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อ.เจาะไอร้อง ยังออกหมาย ฉฉ. ที่อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มเติมอีก 1 รายในฐานะผู้ต้องสงสัยที่มีความเกี่ยวโยงกับคดี คือ นายลุกมัน ลาเต๊ะบือริง อายุ 26 ปี ซึ่งเป็นชาวบ้านในหมู่บ้านไอร์ปาแยนั่นเอง
การออกหมาย พ.ร.ก.กรณีของ นายลุกมัน สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในพื้นที่อยู่ระยะหนึ่ง เพราะชาวบ้านไม่เชื่อว่าจะมีคนมุสลิมร่วมขบวนฆ่ามุสลิมด้วยกันถึงในศาสนสถานอันเปรียบเสมือน "บ้านของอัลเลาะฮ์"
กล่าวสำหรับนายสุทธิรักษ์ ข้อมูลจากแฟ้มประวัติของฝ่ายความมั่นคง พบว่า นายสุทธิรักษ์เคยเป็นทหารพรานในพื้นที่ อ.เจาะไอร้อง แต่ถูกไล่ออกเนื่องจากพบพฤติกรรมพัวพันกับขบวนการค้ายาเสพติด และเป็นมือปืนรับจ้าง มีประวัติอาชญากรรมเคยก่อคดีใช้อาวุธปืนปล้นฆ่า นางกือลือซง ลาเต๊ะ เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2551 และสังหาร นายอับดุลตอเละ ซายอ เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ปีเดียวกัน
วันที่ 14 ม.ค.2553 คดีกราดยิง 10 ศพในมัสยิดไอร์ปาแยที่เงียบหายไปนานกว่า 6 เดือน ก็ฮือฮาขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อจู่ๆ นายสุทธิรักษ์ก็ปรากฏตัวพร้อมกับ นายสัญญา จันทรัตน์ ทนายความ เดินทางเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ที่กรุงเทพฯ โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ที่ปรึกษา (สบ10) และ พล.ต.ท.พีระ พุ่มพิเชฏฐ์ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบช.ศชต.) เป็นผู้รับมอบตัว

จากการสอบปากคำในเบื้องต้น นายสุทธิรักษ์ ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กราดยิงในมัสยิดอัลฟุรกอน พร้อมทั้งร้องขอให้โอนคดีจาก จ.นราธิวาส ไปที่กรุงเทพฯ โดยอ้างเหตุผลเรื่องความปลอดภัย

นายสัญญา จันทรัตน์ ทนายความของนายสุทธิรักษ์ บอกถึงสาเหตุที่ลูกความของเขาเข้ามอบตัวล่าช้าว่า เกิดจากความเครียด และเกรงว่าญาติพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่จะถูกทำร้าย ประกอบกับพ่อและแม่ของนายสุทธิรักษ์ก็เป็นห่วงในความปลอดภัย เกรงว่าจะถูกกลั่นแกล้ง จึงต้องใช้เวลาในการตั้งหลักเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ สำหรับใช้ต่อสู้คดี ก่อนจะตัดสินใจออกมามอบตัวกับตำรวจกองปราบปราม

นับจากวันมอบตัว ผ่านมาอีกกว่า 6 เดือน คดีดูเหมือนไร้ความคืบหน้า...

พล.ต.ต.ยงยุทธ เจริญวานิช รอง ผบช.ศชต. กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า คดียิงในมัสยิดไอร์ปาแยนั้น ได้ตั้งข้อหากับผู้ต้องหาแล้ว และตัวผู้ต้องหาก็ได้เข้ามอบตัวกับตำรวจกองปราบปราม ทั้งได้ร้องขอให้พนักงานสอบสวนจากส่วนกลางเป็นผู้รับผิดชอบคดี เหตุนี้ทางตำรวจในพื้นที่จึงต้องส่งสำนวนการสอบสวนทั้งหมดให้กองปราบปรามรับผิดชอบแทน จึงไม่ทราบว่าคดีคืบหน้าไปถึงไหน

แหล่งข่าวจากคณะพนักงานสอบสวนกองปราบปราม เปิดเผยว่า เพิ่งได้รับผลตรวจพิสูจน์อาวุธปืนที่คนร้ายใช้ในการก่อเหตุ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่ต้องนำมาประกอบในสำนวน เมื่อได้หลักฐานชิ้นนี้มา สัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะพนักงานสอบสวนอีกครั้งเพื่อมีความเห็นทางคดี จากนั้นจะสั่งคดีและส่งสำนวนให้พนักงานอัยการพิจารณาต่อไป

"สาเหตุที่ล่าช้าเพราะคดีนี้มีอะไรลึกๆ อยู่เยอะเหมือนกัน" เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจยิ่งของหนึ่งในทีมพนักงานสอบสวน

ส่วนกรณีของ นายลุกมัน ลาเต๊ะบือริง ผู้ต้องสงสัยที่ถูกหมาย พ.ร.ก. จนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่สามารถติดตามตัวได้ และนายลุกมันก็หายหน้าไปจากพื้นที่ ไม่มีใครเคยเห็นแม้เงา

จากการลงพื้นที่ไอร์ปาแยของ "ทีมข่าวอิศรา" เที่ยวล่าสุด ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงตั้งข้อสงสัยและไม่เชื่อว่า นายลุกมันจะเข้าไปเป็นส่วนเกี่ยวข้องกับคดีกราดยิงในมัสยิด เพราะในกลุ่มผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บบางส่วนก็เป็นญาติของนายลุกมันเอง

นายสมาน ปะเงาะห์ ผู้ใหญ่บ้านไอร์ปาแย กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า เท่าที่ทราบข้อมูล นายลุกมันเป็นชาวบ้านในหมู่บ้านจริงๆ แต่ไม่ได้อยู่ในหมู่บ้านมานานแล้ว ทราบว่าเข้าไปทำงานอยู่ในประเทศมาเลเซียประมาณ 3 ปีกว่า และไม่เคยย้อนกลับเข้ามาที่หมู่บ้านอีกเลย จึงเป็นธรรมดาที่ชาวบ้านย่อมไม่เชื่อว่า นายลุกมันเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัย ที่สำคัญผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บบางคนก็เป็นญาติของนายลุกมัน

“สำหรับคดียิงในมัสยิด คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมที่จะดำเนินการ ที่ผ่านมาก็มีบ้างที่ชาวบ้านพูดถึงหรือถามถึง แต่ก็เข้าใจว่าการดำเนินการมันต้องใช้เวลา และเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจะหาคำตอบของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนในหมู่บ้านได้" ผู้ใหญ่ฯสมาน กล่าว

คดีกราดยิงในมัสยิดอัลฟุรกอน ช่วงปลายปีที่แล้วก่อนที่นายสุทธิรักษ์จะเข้ามอบตัว ยังมีเหตุการณ์ที่สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในพื้นที่เป็นอย่างมาก ก็คือการเผยแพร่ใบปลิวที่ทำขึ้นในลักษณะเป็น "หมายจับ" ถูกมือมืดนำไปติดและแจกจ่ายในหลายอำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ใบปลิวหรือ "หมายจับ" ดังกล่าวมีข้อความระบุว่า “จับตายหน่วยปฏิบัติการเลือดมัสยิดอัลฟุรกอนไอปาแย” ลงชื่อ “เหล่านักรบแห่งรัฐปัตตานี”

ใบปลิวดังกล่าวปรากฏภาพของชายฉกรรจ์ 6 คน โดย 2 ใน 6 เป็นภาพของสุทธิรักษ์ และนายลุกมัน ซึ่งเป็นบุคคลที่เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าเป็นผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยในคดีอยู่แล้ว ส่วนอีก 4 รายตรวจสอบพบว่าเป็นอาสาสมัครรักษาเมือง (อรม.) ในพื้นที่เทศบาลตำบลตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส

หลังใบปลิวปริศนาเผยแพร่ได้ไม่นาน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกมายืนยันว่า ชายฉกรรจ์ 4 คนในหมายจับ ไม่ใช่ผู้ต้องหาหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กราดยิงในมัสยิด แต่ก็ไม่สามารถหาที่มาของใบปลิวดังกล่าวได้เช่นกัน

ชายฉกรรจ์หนึ่งใน 4 รายที่ปรากฏภาพอยู่ในใบปลิว เคยเปิดใจให้สัมภาษณ์กับ "ทีมข่าวอิศรา" โดยเขาเชื่อว่าใบปลิวดังกล่าวเป็นฝีมือของกลุ่มก่อความสงบในพื้นที่ และอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีกราดยิงในมัสยิด แต่ต้องการป้ายความผิดให้กับกลุ่ม อรม.ของพวกเขา เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจผิด และยังเป็นการตอกลิ่มสร้างความแตกแยกให้กับพี่น้องชาวไทยพุทธกับไทยมุสลิมในพื้นที่ อ.ระแงะ และพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย เพื่อง่ายต่อการเข้าไปสร้างสถานการณ์ เพราะที่ผ่านมาความสัมพันธ์ของชาวบ้านในเขตเทศบาลตันหยงมัส ทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิมค่อนข้างเข้มแข็ง ทำให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีเข้าไปก่อเหตุยาก

“การออกใบปลิวเป็นเหมือนการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือป้ายความผิดให้คนอื่น และยังสร้างความแตกแยก ความหวาดระแวงให้เกิดขึ้นในหมู่พี่น้องไทยพุทธกับไทยมุสลิม" เป็นบทวิเคราะห์จากหนึ่งใน 4 ชายฉกรรจ์ที่ตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับปริศนา

อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่น่าแปลกใจ กล่าวคือ ในใบปลิวปรากฏภาพนายลุกมัน ชาวไทยมุสลิมหนึ่งเดียวที่ถูกออกหมายทั้งโดยเจ้าหน้าที่ และกลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็น "นักรบแห่งรัฐปัตตานี" ทั้งๆ ที่คนมุสลิมส่วนใหญ่ในพื้นที่ไม่เชื่อว่าจะมีมุสลิมร่วมขบวนฆ่ามุสลิมด้วยกันถึงในมัสยิด

กับอีกประเด็นหนึ่งคือ ไม่มีการแจกจ่ายใบปลิวฉบับนี้ในพื้นที่บ้านไอร์ปาแย อันเป็นสถานที่เกิดเหตุแต่อย่างใด โดยข้อมูลนี้ได้รับการยืนยันจากทั้งผู้นำชุมชน ชาวบ้านไอร์ปาแยเอง รวมไปถึงหน่วยงานความมั่นคงที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ด้วย

นับถึงวันนี้...ผ่านไปแล้วกว่า 1 ปีสำหรับเหตุการณ์กราดยิงในมัสยิดอัลฟุรกอน ดูเหมือนคดีไอร์ปาแยกำลังขึ้นทำเนียบคดีปริศนาที่ค้างคาใจผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามหลังคดีใหญ่อย่างตากใบและกรือเซะ!

อ่านต่อ...

วันศุกร์, มิถุนายน 25, 2553

ปาบึ้มหน้ามัสยิดที่สายบุรี…อีกหนึ่ง“เหตุร้ายอธิบายยาก”

แม้จะยังไม่มีคำตอบสุดท้ายที่ชัดเจนเป็นข้อยุติว่าทำไมช่วงนี้ “ไฟใต้” จึงกลับมาคุโชนอีกครั้ง แต่สิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกันก็คือสถานการณ์ความรุนแรงกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่มากเป็นพิเศษ และยังมีเหตุการณ์แปลกๆ ที่นำไปสู่ความแตกแยก กลายเป็นหัวข้อวิจารณ์อย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนในพื้นที่อีกด้วย

และหลายเรื่องฝ่ายความมั่นคงก็ถูกลดทอนความน่าเชื่อถือตามเคย ไม่ว่าจะเป็นปริศนาการเสียชีวิตของ นายสุไลมาน แนซา ผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง วัย 25 ปี ที่เป็นศพผูกคอตายในค่ายทหาร หรือกรณีเหตุระเบิดบนถนนหน้ามัสยิดกลางประจำจังหวัดยะลาขณะที่มีรถทหารคันหนึ่งแล่นผ่าน แต่ช่วงแรกทหารกลับไม่ยอมรับว่าเป็นรถของกำลังพลตัวเอง ฯลฯ


และล่าสุดก็คือเหตุการณ์คนร้ายปาระเบิดเข้าไปบริเวณหน้ามัสยิดนูรูลมุตตาลีน บ้านตะบิ้ง หมู่ 1 ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อค่ำวันเสาร์ที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้มีเด็กวัย 9 ขวบกับ 10 ขวบ และผู้หญิงวัยกลางคนได้รับบาดเจ็บรวม 3 คน

เหตุรุนแรงที่กระทำต่อมัสยิดหรือใกล้กับสถานที่ประกอบศาสนกิจเช่นนี้ ต้องยอมรับว่ามีความอ่อนไหวสูงอยู่แล้ว แต่นี่ยังเกิดเหตุในพื้นที่ อ.สายบุรี อีก ทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ยิ่งหนักหนักสาหัสมากขึ้น เพราะต้องไม่ลืมว่าสายบุรีเคยมีเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่รัฐหลายเหตุการณ์ ซ้ำยังมีเหตุรุนแรงที่ชาวบ้านมองว่าเป็นลักษณะตอบโต้กันไปมาระหว่างฝ่ายรัฐกับกลุ่มขบวนการที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ด้วย



ย้อนรอยเหตุทหารพรานยิงชาวบ้าน

หลายคนคงยังจำได้ดีกับค่ำคืนวันเสาร์ที่ 22 ส.ค.2552 ที่ชุดอาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) จากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 ยิงกับกลุ่มวัยรุ่นและประชาชนที่บ้านปาตาบาระ หมู่ 1 ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี ขณะอ้างว่าขอเข้าตรวจค้นกลุ่มวัยรุ่นที่กำลังเสพยาเสพติดบริเวณชายหาดริมทะเล จนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย (ภายหลังเสียชีวิต 1 ราย) และสร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้าน ถึงกับรวมตัวกันนับร้อยคนมาล้อมกรอบกลุ่มอาสาสมัครทหารพรานจนกลายเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต เพราะเกิดเหตุในช่วงเทศกาลถือศีลอด หรือเดือนรอมฎอนพอดี

แม้ในเวลาต่อมาสถานการณ์ตึงเครียดจะคลี่คลาย เมื่อ นายลือชัย เจริญทรัพย์ นายอำเภอสายบุรี เข้าไกล่เกลี่ยทำความเข้าใจและยอมรับข้อเรียกร้อง 3 ข้อของชาวบ้าน คือให้ญาติผู้เสียหายเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่กระทำการเกินกว่าเหตุ และให้มีตัวแทนชาวบ้านร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงทุกขั้นตอน แต่หลังจากนั้นไม่นานเหตุการณ์ก็บานปลาย

โดยเมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ 27 ส.ค.2552 หรือ 5 วันหลังเกิดเหตุ มีคนร้ายไม่ทราบกลุ่มและจำนวนลอบวางเพลิงเผาสถานที่ราชการ 2 แห่งใน อ.สายบุรี พร้อมทั้งโปรยตะปูเรือใบ ตัดต้นไม้ขวางถนน เผายางรถยนต์ วางวัตถุต้องสงสัย และติดป้ายที่ทำจากกระสอบปุ๋ยโจมตีการทำงานของฝ่ายปกครอง อ.สายบุรี รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทหารพราน บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 ช่วงบ้านทุ่งคล้าถึงบ้านมะนังดาลำ ท้องที่ ต.ทุ่งคล้า ต.เตราะบอน ต.ตะบิ้ง และ ต.มะนังดาลำ

ถัดจากนั้นอีก 1 คืน เกิดเหตุคนร้าย 2 คนใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ ขว้างระเบิดเข้าใส่กลุ่มชาวบ้านที่เล่นเปตองอยู่ในสนามเปตอง บริเวณบ้านเลขที่ 75/4 หมู่ 2 ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ นายรอฮะ แวกาจิ อายุ 60 ปี ทั้งยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 16 ราย ล้วนเป็นคนสูงอายุ

น่าสังเกตว่าเป็น ต.ตะบิ้ง ตำบลเดียวกับที่เพิ่งเกิดเหตุคนร้ายปาระเบิดเข้าใส่ประชาชนบริเวณหน้ามัสยิดเมื่อไม่กี่วันมานี้ เพียงแต่ต่างหมู่กันเท่านั้น

และแม้ในที่สุดเหตุการณ์อาสาสมัครทหารพรานใช้อาวุธปืนยิงชาวบ้านจะจบลงได้ด้วยดี เพราะฝ่ายเจ้าหน้าที่ยอมรับว่ากระทำการเกินกว่าเหตุจริง และผู้บังคับบัญชาได้พาอาสาสมัครทหารพราน 3 นายที่ปฏิบัติการในคืนวันนั้นเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน สภ.สายบุรี กระทั่งล่าสุด “ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สรุปสำนวนสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 นาย ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการแล้วก็ตาม

ทว่าบรรยากาศคุกรุ่น อึมครึมก็ไม่ได้คลี่คลายไปจาก อ.สายบุรี...



เหตุร้ายอธิบายยาก

กับเหตุการณ์รุนแรงเที่ยวล่าสุดที่เกิดขึ้นถึงหน้ามัสยิด ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบที่ทวีความน่าสะพรึงกลัวขึ้นในช่วงนี้ นายลือชัย เจริญทรัพย์ นายอำเภอสายบุรี วิเคราะห์ว่า เหตุการณ์ที่เกิดจากประเด็นความมั่นคงลดจำนวนลง แต่มีสิ่งแปลกปลอมแทรกเข้ามาแทน และสร้างความสับสนให้กับผู้แก้ปัญหามากพอสมควร

“มันเหมือนผูกปมเงื่อนอะไรกันบางอย่าง เช่น กรณีเหตุล่าสุดที่คนร้ายขว้างระเบิดหน้ามัสยิดบ้านตะบิ้ง เหตุการณ์นี้เหมือนคนร้ายเจตนากระทำ แต่โดยปกติกลุ่มขบวนการจริงๆ จะไม่ทำในบ้านของอัลลอฮ์ ยังโชคดีที่ลูกระเบิดไม่เข้าไปในมัสยิด ตกแค่ที่กำแพง สิ่งที่ทำให้เกิดความสับสนคือลักษณะของลูกระเบิด เป็นระเบิดที่ผลิตเอง ตรงนี้ที่ทำให้ผิดเพี้ยนไป”

“ช่วงนี้มีหลายเรืองที่เป็นข้อเคลือบแคลงสงสัยของชาวบ้าน เช่น กรณีการเสียชีวิตของนายสุไลมาน ขณะอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ (สุไลมานเป็นชาว ต.กะดุนง อ.สายบุรี) สิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องช่วยกันคลี่คลาย ถ้าไม่คลี่คลายมันจะนำไปสู่เงื่อนไข ฉะนั้นต้องทำทุกเรื่องให้กระจ่าง”

“ที่สำคัญคือเรื่องความเป็นธรรม ต้องเริ่มตั้งแต่ความเป็นธรรมในเรื่องข้อมูล ต้องให้ญาติพี่น้องของผู้ถูกจับกุมมีโอกาสได้รับรู้ในฐานะที่เขาเป็นครอบครัวเดียวกัน ก็คือกระบวนการจับกุมเป็นอย่างไร จับไปเพราะมีเหตุสงสัยอะไร ซึ่งจะต้องมีเจ้าหน้าที่ไปเคลียร์ ไปคุย ไปสร้างความเข้าใจ แต่เมื่อไหร่ที่ไปคิดว่ามันไม่เป็นไรๆ อย่างนั้นมันไม่ใช่ และจะสร้างปัญหาตามมา เนื่องจากแต่ละคนมีญาติมีพี่น้อง มันก็จะลาม เป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่ความไม่เรียบร้อยได้ แม้ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่จะพยายามเข้าไปสร้างความรู้สึกตรงนี้ แต่ก็ยังช้าอยู่”

นายอำเภอสายบุรี กล่าวอีกว่า เมื่อความรู้สึกของชาวบ้านยังเป็นลบ จึงเปิดช่องให้เกิดเหตุรุนแรงได้ง่ายและถี่ขึ้น

“ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือต้องสร้างความเข้าใจเพื่อยับยั้งการขยายหรือลุกลามของปัญหา เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงหลังมันผิดปกติจากที่ผ่านมามากพอสมควร” เขาย้ำพร้อมตั้งข้อสังเกต แต่ก็เชื่อว่าเหตุร้ายที่สายบุรีไม่ใช่การแก้แค้นตอบโต้กันไปมา อาจมีปัญหาเรื่องยาเสพติดบ้าง แต่ประเด็นคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเวลานี้ค่อนข้างเชื่อมโยงกัน เชื่อมในลักษณะการกระทำที่ "ตอบคำถามชาวบ้านไม่ได้"



“มือที่สาม”ตอกลิ่ม

นายณัฐวุฒิ อาแวปูเตะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตะบิ้ง อ.สายบุรี มองไม่ต่างกันว่า สถานการณ์ในพื้นที่ขณะนี้มีการก่อเหตุในลักษณะสร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดความวุ่นวายอย่างแน่นอน แต่ไม่รู้ว่าเกิดจากฝ่ายไหน

“ชนวนเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นมีทั้งปัญหาการเมือง ยาเสพติด หรือเรื่องส่วนตัวก็มี และการก่อเหตุที่เป็นการต่อต้านอำนาจรัฐก็มี คือตอนนี้เหตุการณ์มันผสมโรงกันทั้งคนก่อเหตุและสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรง”

อย่างไรก็ดี นายก อบต.ตะบิ้ง ยังเชื่อว่า ผู้ก่อเหตุไม่น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่สงสัยว่าเป็นบุคคลที่สามที่ต้องการเข้ามาสร้างความแตกแยกและสร้างความไม่เข้าใจกันระหว่างชาวบ้านกับรัฐ

“ถ้าถามถึงความเป็นอยู่ของชาวบ้านในขณะนี้ ก็ต้องบอกว่ายังอยู่กันได้ แต่เหตุรุนแรงจะเพิ่มขึ้น เพียงแต่ต้องระมัดระวังตัวกันให้มากกว่าเดิม ส่วนความหวาดระแวงก็มีอยู่ตลอดอยู่แล้ว จึงขึ้นอยู่กับบทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐ หากเจ้าหน้าที่เข้าถึง ชาวบ้านก็จะเข้าใจและหวาดระแวงน้อยลง แต่เมื่อไหร่ที่เจ้าหน้าที่เข้าไม่ถึง ความหวาดระแวงก็จะมากทันที” นายณัฐวุฒิ กล่าว

นายสมพร สังข์สมบุญ นักวิจัยอิสระที่ทำงานช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่มานานปลายปี กล่าวว่า เหตุการณ์รุนแรงในช่วงหลังๆ เมื่อลองสังเกตดูดีๆ แล้วพบว่าแปลกไปกว่าในอดีต และไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเกิดจากฝ่ายไหน แต่ก็มั่นใจว่ามีมือที่สามเข้ามาป่วนสถานการณ์ เพื่อคงความรุนแรงในพื้นที่ต่อไป

“สถานการณ์ขณะนี้มีทั้งที่มาจากเรื่องการเมือง ซึ่งรวมถึงการเมืองในส่วนกลางและการเมืองท้องถิ่น เรื่องส่วนตัว เรื่องยาเสพติด และเรื่องของขบวนการ ทำให้เวลาเกิดเหตุก็ยากที่จะวิเคราะห์ได้ว่าเกิดจากฝ่ายไหน มันแตกต่างจากการก่อเหตุเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมามากทีเดียว” นายสมพร กล่าว



เอ็กซเรย์สายบุรี

อ.สายบุรี เป็นอำเภอติดทะเล อยู่ห่างจากตัวเมืองปัตตานีราว 40-50 กิโลเมตร จัดว่าเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดอำเภอหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งยังเป็นหัวเมืองเก่าที่มีความรุ่งเรืองและมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีสถานที่สำคัญทั้งในทางศาสนา วัฒนธรรม และการปกครองมากมาย

ปัจจุบัน อ.สายบุรี แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 11 ตำบล 64 หมู่บ้าน ประกอบด้วย ต.ตะลุบัน ต.ตะบิ้ง ต.ปะเสยะวอ ต.บางเก่า ต.บือเระ ต.เตราะบอน ต.กะดุนง ต.ละหาร ต.มะนังดาลำ ต.แป้น และ ต.ทุ่งคล้า

ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา สายบุรีเป็นหนึ่งในหลายอำเภอที่ถูกจัดให้เป็น “พื้นที่สีแดง” มีสถิติเหตุรุนแรงสูงมาก แม้ในช่วงปี 2551 ที่สถานการณ์ความไม่สงบในภาพรวมเริ่มคลี่คลายลงบ้าง แต่สายบุรีกลับยังตึงเครียดต่อเนื่อง บางเดือนเกิดเหตุถี่ยิบในระดับวันเว้นวันเสียด้วยซ้ำ อย่างเช่นในช่วงปลายปี 2551...

21 ธ.ค. คนร้ายลอบวางระเบิดบริเวณศาลาที่พักริมทาง บริเวณสามแยกบ้านทุ่งน้อย หมู่ 1 ต.ละหาร อ.สายบุรี เพื่อดักสังหารทหารพรานชุดลาดตระเวนที่มักแวะนั่งพักที่ศาลาแห่งนี้เป็นประจำ แรงระเบิดทำให้อาสาสมัครทหารพรานได้รับบาดเจ็บ 1 นาย

22 ธ.ค. เกิดเหตุคนร้ายซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ทหารพราน สังกัดร้อย ร.4409 กรมทหารพรานที่ 44 ซึ่งเป็นชุดคุ้มครองรถรับส่งนักเรียน บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส) ท้องที่บ้านวังชัย ต.ละหาร อ.สายบุรี เป็นเหตุให้ทหารพรานได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 1 นาย

24 ธ.ค. คนร้ายลอบวางระเบิดภายในโรงเรียนบ้านจะเฆ่ หมู่ 2 ต.แป้น อ.สายบุรี เพื่อดักสังหารทหารหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 26 จำนวน 6 นาย ปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองครู ขณะกำลังนั่งพักผ่อนอยู่ที่ม้านั่งหินอ่อนภายในโรงเรียน แรงระเบิดทำให้ทหารได้รับบาดเจ็บ 3 นาย

25 ธ.ค. คนร้ายประกบยิง ร.ต.ต.มาหาหมัดสาเหด อัลยุฟรี อายุ 46 ปี รองสารวัตรสืบสวน สภ.สายบุรี ขณะขี่รถจักรยานยนต์สายตรวจของโรงพักออกจากชุมชนในเขตเทศบาลตำบลตะลุบัน อ.สายบุรี เสียชีวิตคาถนน

29 ธ.ค. คนร้ายจ่อยิง นายสุธรรม ทวีศรี อายุ 41 ปี และ นางโสธิดา สร้อยแก้ว อายุ 26 ปี อากับหลานซึ่งเป็นพนักงานบริษัท ทศท จำกัด (มหาชน) ประจำ อ.สายบุรี ขณะนั่งอยู่บนรถยนต์บริเวณจุดกลับรถบ้านมะนังดาลำ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส) ท้องที่หมู่ 1 ต.มะนังดาลำ อ.สายบุรี เสียชีวิตทั้งคู่

และที่สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดครั้งหนึ่งก็คือ เหตุการณ์คนร้ายใช้รถกระบะเป็นพาหนะ กราดอาก้าสังหาร นายอับดุลการิม ยูโซ๊ะ อายุ 46 ปี อิหม่ามประจำมัสยิดกาหยี เสียชีวิตบริเวณหน้ามัสยิด บนถนนตะลุบัน ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี เมื่อเที่ยงวันที่ 30 ม.ค.2552 โดยอิหม่ามอับดุลการิมเพิ่งออกจากเรือนจำมาไม่ถึง 3 เดือน หลังจากถูกจับกุมในข้อหาครอบครองอาวุธสงคราม และถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีนานนับปี กระทั่งถึงที่สุดศาลพิพากษายกฟ้อง

หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ อำเภอริมทะเลแห่งนี้นับเป็น “เหตุร้ายอธิบายยาก” และเป็นโจทย์ข้อยากที่รัฐต้องเร่งแก้ เพื่อสถาปนาความสงบสุขให้คืนสู่ดินแดนสายบุรีโดยเร็ว

อ่านต่อ...

วันพุธ, มิถุนายน 23, 2553

ว่าด้วยการตายของ สุไลมาน แนซา กับผลสะเทือนรุนแรงกว่าที่คาด

น้องๆ นักข่าวในสามจังหวัดเล่าให้ผมฟังว่า ประเด็นการเสียชีวิตของ สุไลมาน แนซา ในลักษณะผูกคอตายคาค่ายทหารนั้น ยังเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในพื้นที่ แม้ว่าฝ่ายความมั่นคงจะออกมาชี้แจงแสดงหลักฐานอย่างหนักแน่นว่าเป็นการผูกคอตายเองก็ตาม
และแน่นอนว่าประเด็นนี้ถูก "ฝ่ายที่คิดตรงข้ามกับรัฐ" นำไปขยายผลอย่างกว้างขวางในหมู่พี่น้องประชาชน เพราะเกี่ยวเนื่องกับการใช้กฎหมายพิเศษคุมตัวผู้ต้องสงสัยไปซักถาม ซึ่งนับถึงวันนี้ก็มีผู้ที่เคยถูกควบคุมตัวจากยุทธการ “ปิดล้อม-ตรวจค้น” ตลอดหลายปีที่ผ่านมามากมายหลายพันคน ข้อมูลบางแหล่งระบุว่าเป็นหมื่นคนด้วยซ้ำ ในจำนวนนี้บางส่วนได้รับการปล่อยตัว บางส่วนก็ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา
สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องบางเรื่องที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา บางครั้งกลับส่งผลสะเทือนรุนแรงกว่าที่คาดคิด
อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด ๆ ก็คือเหตุระเบิดบนถนนตรงข้ามมัสยิดกลางประจำจังหวัดยะลา เมื่อค่ำวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่ง “ทีมข่าวอิศรา” ได้นำเสนอสกู๊ปข่าวเชิงสืบสวนให้ได้เห็นข้อเท็จจริงทุกแง่มุมไปแล้ว
ย้อนกลับมาที่เรื่องการเสียชีวิตของสุไลมาน เผอิญผมได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ในวันพบศพของเขาในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร เพราะลงไปทำงานในพื้นที่พอดี และผมได้เขียนเรื่องนี้เป็นบทความขนาดยาวส่งให้เพื่อนสื่อมวลชนนำไปตีพิมพ์ในนิตยสารฉบับหนึ่ง โดยในบทความดังกล่าวผมได้เชื่อมโยงข้อมูลและข้อเท็จจริงในหลายๆ มิติเพื่อให้เห็นว่า เหตุใด “การตาย” ที่บางครั้งมองว่าเป็นแค่ “หนึ่งชีวิต” จึงส่งผลสะเทือนมากมายในพื้นที่ปลายด้ามขวาน
ประกอบกับช่วงวันที่ 11-13 มิ.ย. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงการเสียชีวิตของสุไลมานด้วย ผมจึงขออนุญาตนำบทความดังกล่าวมานำเสนอไว้ในพื้นที่ตรงนี้ แม้เนื้อหาจะยาวไปสักนิด แต่ก็น่าจะอธิบายความจริงในบางมิติที่บางฝ่ายอาจจะละเลยไป

คดีปริศนาผูกคอตายในค่ายทหาร
จุดไฟชายแดนใต้...เขย่าวงการยุติธรรม
ข่าวเล็กๆ ที่แทรกขึ้นมาจากชายแดนใต้ช่วงที่สังคมไทยกำลังใจจดใจจ่อกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งแท้ที่จริงเป็นเวที “ฟอกผิด-สาดโคลน” กันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น ก็คือการเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาของ สุไลมาน แนซา ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง วัยเพียง 25 ปี เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา
การจากไปของ สุไลมาน แม้จะไม่ได้รับความสนใจจากสื่อส่วนกลางและคนไทยในภูมิภาคอื่นของประเทศมากนัก แต่กรณีนี้กลายเป็น “คดีปริศนา” ที่ทำให้สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตึงเครียดขึ้นมาอีกรอบ
เพราะ สุไลมาน กลายเป็นศพในลักษณะ “ผูกคอตาย” ในห้องควบคุมของศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
พูดง่ายๆ คือตายคาค่ายทหาร!
ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ คือ “ศูนย์ซักถามผู้ต้องสงสัย” ที่ใหญ่ที่สุดของทหารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ผู้ต้องสงสัยที่ว่านี้ก็คือผู้ที่ถูกจับกุมหรือถูกควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก และ/หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่เดือน ก.ค.2548 และต่ออายุมาแล้วรวม 19 ครั้ง
ผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับตามกระบวนการนี้ยังไม่มีสถานะเป็น “ผู้ต้องหา” เพียงแต่เป็น “ผู้ต้องสงสัย” ที่ถูกเชิญตัวมา “ซักถาม” โดยใช้พื้นที่ของศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ซึ่งในส่วนของตำรวจก็มีศูนย์ลักษณะนี้เช่นกัน ชื่อว่า “ศูนย์พิทักษ์สันติ” ตั้งอยู่ในโรงเรียนตำรวจภูธร 9 ซึ่งปัจจุบันคือศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) อ.เมือง จ.ยะลา
การตายของ สุไลมาน กลายเป็นเรื่องขึ้นมา เพราะพ่อแม่และญาติของสุไลมานไม่เชื่อว่าเขาจะฆ่าตัวตายเอง แต่สงสัยว่าน่าจะถูกทำร้ายจนตาย แล้วนำศพมาจัดฉากเป็น “ฆ่าตัวตาย” มากกว่า
และแม้ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา จะมีผลการชันสูตรศพจากแพทย์โรงพยาบาลหนองจิก จ.ปัตตานี ออกมาแล้วว่าไม่พบร่องรอยถูกทำร้ายจนตาย แต่นั่นยังไม่ใช่ปลายทางของคดี เพราะเป็นการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าพนักงานที่อ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่
กรณีนี้จึงต้องมีคดี “ไต่สวนการตาย” ซึ่งพนักงานสอบสวนต้องทำสำนวนส่งให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อไต่สวนการตาย ให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียชีวิต (ในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่)
ขณะเดียวกัน นายเจ๊ะแว แนซา บิดาของสุไลมาน ก็ได้แสดงเจตจำนงขอความช่วยเหลือจากศูนย์ทนายความมุสลิมที่ จ.ปัตตานี เพื่อให้ยื่นคัดค้านในกระบวนการไต่สวนการตายในขั้นตอนที่สำนวนถูกส่งถึงศาลด้วย
การเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาของสุไลมาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงรีบประโคมข่าวว่าเขายอมรับสารภาพว่าเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ เคยก่อคดียิงประชาชนมาแล้วถึง 14 คดี และสรุปเหตุการณ์ง่ายๆ ว่าสุไลมานผูกคอตายเอง และญาติไม่ติดใจนั้น นอกจากจะเป็นการจุดกระแสความไม่พอใจขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนเชื่อว่านำมาสู่การสร้างสถานการณ์ป่วนเมืองถึงกว่า 50 จุดในหลายอำเภอของ จ.ปัตตานี และยะลา เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย
สิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ เลขาธิการศูนย์ทนายความมุสลิม ชี้ประเด็นว่า ตามบทบัญญัติมาตรา 12 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดให้การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมได้คราวละ 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน โดยทุกๆ 7 วัน เจ้าหน้าที่ต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอขยายเวลาควบคุมตัวต่อด้วย แต่การขยายเวลาดังกล่าวกลับมีระเบียบของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ควบคุมอยู่ คือหากจะขอขยายเวลาควบคุมตัว ต้องขอก่อนครบกำหนด 3 วัน และไม่ต้องนำตัวผู้ต้องสงสัยไปศาล
ทนายสิทธิพงษ์ ระบุว่า ระเบียบนี้ทำให้เกิดความรู้สึก “สองมาตรฐาน” และยังเปิดช่องให้มีการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยระหว่างถูกควบคุมตัว
“ระเบียบของ กอ.รมน.ภาค 4 เหมือนเป็นการปิดโอกาสไม่ให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัวได้บอกต่อศาลหากมีการซ้อมทรมานระหว่างการควบคุม ทางศูนย์ทนายความมุสลิมพยายามเรียกร้องให้ออกข้อบังคับเหมือนกับข้อบังคับประธานศาลฎีกาในการสั่งฟ้องผู้ต้องหาคดีทั่วไป คือต้องถามผู้ต้องหาด้วยว่าจะคัดค้านหรือไม่ ฉะนั้นการขอขยายเวลาควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสามจังหวัดภาคใต้ก็น่าจะเปิดโอกาสเช่นนี้เหมือนกัน คือต้องคุมตัวผู้ต้องสงสัยไปศาล เพื่อให้มีโอกาสได้บอกเล่าข้อมูลต่อศาลได้”
“ประเด็นนี้ถือว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติสองมาตฐาน เพราะการจับกุมคนเสื้อแดงที่กรุงเทพฯ ก็ถูกจับตามหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นเดียวกับภาคใต้ แต่เวลาจะครบกำหนดควบคุมตัว ศาลจะโทรศัพท์ไปสอบถามผู้ถูกควบคุมตัวว่าจะคัดค้านการขยายเวลาคุมตัวหรือไม่ ต่างจากในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่มีการซักถามใดๆ เลย ทั้งๆ ที่ใช้กฎหมายฉบับเดียวกัน”
นี่คือความซับซ้อนของระเบียบกฎหมายที่ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมอย่างเป็นรูปธรรม และความไม่ยุติธรรมทางความรู้สึก!

ถนนสายไร้อิสรภาพ
เส้นทางของสุไลมาน หากเขาไม่เสียชีวิตลงเสียก่อนจะเป็นอย่างไร?
คำตอบก็คือเขาอาจถูกควบคุมตัวเต็มเวลาตามกรอบที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจไว้คือ 30 วัน จากนั้นก็จะถูกแจ้งข้อหาในคดีอาญา เพราะตามข้อมูลจากฝ่ายทหารอ้างว่าเขายอมรับสารภาพว่าเป็นแนวร่วมกลุ่มติดอาวุธ (อาร์เคเค) และเป็นระดับแกนนำเสียด้วย
เมื่อตกเป็นผู้ต้องหา เขาก็จะถูกควบคุมตัวในชั้นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) อีก 48 ชั่วโมง จากนั้นพนักงานสอบสวนต้องนำตัวไปฝากขังต่อศาล และตามสูตรต้องยื่นคัดค้านการประกันตัว เพราะเป็นคดีอุกฉกรรจ์
คดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ล้วนตั้งข้อหาฉกรรจ์มีโทษระดับประหารชีวิตแทบทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นฆ่าคนตายโดยเจตนา อั้งยี่ ซ่องโจร ก่อการร้าย รวมไปถึงกบฏแบ่งแยกดินแดน โอกาสที่เขาจะต้องสิ้นอิสรภาพระหว่างการทำสำนวนส่งอัยการและรออัยการสั่งฟ้องต่อศาลจึงมีสูง กฎหมายให้อำนาจผัดฟ้องฝากขังได้อีก 7 ผลัด ผลัดละ 12 วัน รวมเป็น 84 วัน
เมื่อคดีถึงศาลก็มักไม่ได้ประกันตัว เพราะเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง ก็ต้องสิ้นอิสรภาพอยู่ในเรือนจำตลอดระยะเวลาการพิจารณาคดีอีกราว 2-3 ปี
แต่เชื่อหรือไม่ว่าคดีความมั่นคงกว่า 60% ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศาลพิพากษายกฟ้อง!
เท่ากับว่าผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาอย่างสุไลมาน (หากไม่จบชีวิตลงเสียก่อน) จะต้องใช้ชีวิตแบบไร้อิสรภาพยาวนานกว่า 3 ปี หลายคนแม้ศาลจะพิพากษายกฟ้อง ยังถูกสั่งขังระหว่างอุทธรณ์เข้าไปอีก...นี่คือสภาพที่เกิดขึ้นจริงกับผู้คนนับร้อยนับพันคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้!

อยุติธรรมที่ปลายขวาน
เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงยุติธรรมโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้จัดการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำต่างๆ ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากถึง 514 คน
เป็นกลุ่มบุคคลมากกว่าครึ่งพันที่ไม่ได้รับอิสรภาพ เพราะไม่ได้รับการประกันตัวจากกระบวนการยุติธรรม
วงสัมมนาในวันนั้น ทางกระทรวงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งอัยการ ตำรวจ และทนายความที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาร่วมระดมความเห็น เนื้อหาที่ปรากฏผ่านเวทีเป็นการชำแหละปัญหาของกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เอาไว้อย่างน่าบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์
ทนายสิทธิพงษ์ ซึ่งไปร่วมเวทีด้วย ให้ข้อมูลว่า ทางศูนย์ทนายความมุสลิมรับคดีในจังหวัดชายแดนภาคใต้เอาไว้กว่า 500 คดี แต่ละคดีมีจำเลยมากกว่า 1 คน ส่วนใหญ่จำเลยจะอยู่ที่ 3-7 คน จากประสบการณ์ที่ทำงานมาชัดเจนว่าการให้ประกันตัวในชั้นสอบสวนและพิจารณาคดีมีความสำคัญกับครอบครัวผู้ต้องหายิ่งกว่าคำพิพากษายกฟ้องในท้ายที่สุดเสียอีก
"การยื่นประกันตัวต้องใช้หลักทรัพย์ 7-8 แสนบาท ที่ดินตาบอดก็ใช้ไม่ได้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีหลักทรัพย์มากขนาดนั้น เมื่อไม่มีก็ต้องรอคำพิพากษา แต่ปัญหาก็คือหลายคดีแม้จะยกฟ้องในศาลชั้นต้น แต่ก็ให้ขังระหว่างอุทธรณ์ ทำให้มีผู้ต้องขังคดีความมั่นคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเป็นจำนวนมาก"
ทนายสิทธิพงษ์ เสนอว่า น่าจะใช้ช่องทางตาม ป.วิอาญา มาตรา 173/1 ที่กำหนดให้ศาลอาจกำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐานก่อนกำหนดวันนัดสืบพยานได้ เพื่อใช้ในการกรองคดี จะได้เห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานสำคัญเพียงพอที่จะทำให้ศาลลงโทษได้หรือไม่
"คดีความมั่นคงส่วนใหญ่ไม่มีประจักษ์พยาน มีแต่คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวน ซึ่งในหลายคดีเป็นคำสารภาพในชั้นซักถาม (ช่วงควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ด้วยซ้ำ ซึ่งไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องคดีได้ ฉะนั้นหากมีการตรวจพยานหลักฐานก่อนพิจารณาคดีในชั้นศาล และพบว่ามีแต่คำรับสารภาพ ศาลก็อาจใช้ดุลยพินิจได้ว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่" ทนายสิทธิพงษ์ กล่าว
เขาให้ข้อมูลด้วยว่า คดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ถึง 80% มีพยานหลักฐานเพียงแค่คำซัดทอดจากการปิดล้อมตรวจค้น และคำให้การหรือคำสารภาพในชั้นซักถามเท่านั้น
ขณะที่ นิพล ผดุงทอง รองอธิบดีอัยการเขต 9 (รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง) กล่าวว่า คดีความมั่นคงที่ส่งมาจากพนักงานสอบสวน 90% มีแค่คำซัดทอด และคำรับสารภาพในชั้นซักถามหรือชั้นสอบสวน เมื่ออัยการฟ้องคดีไปแล้ว ส่วนใหญ่ศาลจะยกฟ้อง แต่ในระหว่างการพิจารณาคดี ผู้ต้องหามักไม่ได้รับการประกันตัว ทำให้เดือดร้อนมาก
ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน ต.ค.2552 เป็นต้นมา ทางอัยการเขต 9 ได้วางหลักการพิจารณาฟ้องคดีความมั่นคงใหม่ โดยคดีที่มีแต่คำรับสารภาพหรือคำซัดทอดของพยานหรือมีแค่พยานบอกเล่า อัยการจะทำความเห็นสั่งไม่ฟ้อง
"ผ่านมาแล้ว 7-8 เดือน ปรากฏว่าคดีลักษณะนี้ 80-90% เราจะสั่งไม่ฟ้อง ถือเป็นนโยบายใหม่ของอัยการเขต คือเน้นให้ใช้กฎหมายจริงจัง โดยเฉพาะคดีความมั่นคงจะใช้ความรู้สึกไม่ได้ พยานบอกเล่าฟังไม่ได้ ป.วิอาญา มาตรา 226/3 ก็บัญญัติเอาไว้ชัดเจนห้ามศาลรับฟังพยานบอกเล่า ยกเว้นมีพยานหลักฐานอื่นรองรับ ฉะนั้นต้องเคร่งครัด เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ส่งผลกระทบทางจิตใจของผู้ต้องหาและครอบครัว"
อัยการนิพล กล่าวด้วยว่า คดีจำนวนมากมีเพียงคำรับสารภาพในชั้นซักถาม ซึ่งในขณะนั้นผู้ที่ถูกฟ้องยังไม่ได้มีสถานะเป็นผู้ต้องหา แต่เป็นผู้ให้ถ้อยคำ ดังนั้นตามมาตรฐานใหม่ถ้าคดีไหนมีหลักฐานเพียงแค่นี้ อัยการจะสั่งไม่ฟ้อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่าง พล.ต.ต.นราศักดิ์ เชียงสุข ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบก.สส.ศชต.) ยอมรับตรงๆ ว่า การทำงานของพนักงานสอบสวนมีปัญหา เพราะตำรวจส่วนหนึ่งไม่อยากอยู่ในพื้นที่ นายตำรวจระดับหัวหน้าสถานีหาคนสอบสวนเป็นแทบไม่มี ตรงนี้คือต้นเหตุที่ทำให้สำนวนคดีมีปัญหา
"ตำรวจเรายังเชื่อเรื่องคำรับสารภาพ เพราะไม่ได้อ่านกฎหมายใหม่ ทั้งๆ ที่กฎหมายใหม่ไม่ให้เชื่อคำรับสารภาพหรือคำซัดทอดอย่างเดียวแล้ว" พล.ต.ต.นราศักดิ์ กล่าว
ทั้งหมดนี้คือภาพสะท้อนจาก “คนใน” ที่ชำแหละให้เห็น “ตลกร้าย” ของการอำนวยความยุติธรรมที่ปลายด้ามขวาน!

เปิดสถิติเศร้ายกฟ้อง 60%
ลองมาดูตัวเลขสถิติคดีอาญาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่เก็บรวบรวมโดย ศชต. จะพบข้อมูลที่น่าสนใจและน่าสลดใจ
โดยการสอบสวนคดีความมั่นคง พบว่าในภาพรวม 6 ปี (ม.ค.2547 ถึง 31 ธ.ค.2552) มีคดีอาญาเกิดขึ้นทั้งหมด 63,667 คดี แยกเป็นคดีความมั่นคง 7,004 คดี หรือคิดเป็น 11% ของคดีทั้งหมด (คดีอาญาทั่วไป 56,663 คดี หรือคิดเป็น 89%) รู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว 1,652 คดี ยังไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิดถึง 5,352 คดี
จากภาพรวมคดีความมั่นคง พนักงานสอบสวนมีความเห็นแล้ว 6,300 คดี แยกเป็น งดสอบสวน (เพราะไม่ทราบตัวผู้กระทำความผิด) มากถึง 4,760 คดี สั่งฟ้องเพียง 1,388 คดี สั่งไม่ฟ้อง 132 คดี ในชั้นอัยการ มีความเห็นทางคดีแล้ว 5,110 คดี แยกเป็นงดสอบสวน (เพราะไม่ทราบตัวผู้กระทำความผิด) มากถึง 4,343 คดี สั่งฟ้องเพียง 562 คดี สั่งไม่ฟ้อง 205 คดี
คดีที่นำขึ้นสู่ศาลแล้ว และศาลมีคำพิพากษารวมทั้งสิ้น 216 คดี จำเลย 415 คน ศาลตัดสินลงโทษ 130 คดี จำเลย 211 คน ประหารชีวิต 20 คดี จำเลย 20 คน จำคุกตลอดชีวิต 36 คดี จำเลย 51 คน จำคุก 50 ปี 74 คดี จำเลย 140 คน ยกฟ้อง 86 คดี 204 คน
แม้ข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดย ศชต. จะพบปัญหาการจัดการคดีความมั่นคงในพื้นที่มากพอสมควร เพราะตลอด 6 ปีที่ผ่านมา มีคดีที่นำขึ้นสู่ศาลแล้วและศาลมีคำพิพากษารวมทั้งสิ้น 216 คดี แต่ศาลตัดสินลงโทษเพียง 130 คดี ยกฟ้องถึง 86 คดี หรือคิดเป็น 40% เป็น 216 คดีจาก 7,004 คดีที่เกิดขึ้นทั้งหมด (เฉพาะคดีความมั่นคง) โดยมีสถิติคดีที่ศาลยกฟ้องสูงถึง 40% ทั้งๆ ที่ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น มีเปอร์เซ็นต์การยกฟ้องเพียงร้อยละ 0.02 เท่านั้น (ข้อมูลจาก ศ.ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด และอดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวไว้ในเวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยครั้งที่ 1 เมื่อ 17 มิ.ย.2551)
แต่นั่นยังไม่น่าตกใจเท่ากับข้อมูลจากสำนักงานศาลยุติธรรมภาค 9 ที่รายงานสถิติคดีความมั่นคงในความรับผิดชอบของศาลในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยศาลจังหวัดนราธิวาส ศาลจังหวัดนาทวี ศาลจังหวัดเบตง ศาลจังหวัดปัตตานี ศาลจังหวัดยะลา ศาลจังหวัดสงขลา และศาลจังหวัดสตูล พบว่า ในปี 2552 ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป (1 ม.ค.-31 ธ.ค.2552) มีคดีที่ศาลรับมาทั้งสิ้น 190 คดี จำหน่าย 3 คดี พิพากษาแล้ว 23 คดี ตัดสินลงโทษเพียง 5 คดี แต่ยกฟ้องมากถึง 18 คดี และมีคดีคงค้าง 164 คดี
นอกจากนั้นยังมีสถิติคดีในรอบปี 2550-2551 ด้วย พบว่าศาลมีคำพิพากษาคดีความมั่นคงทั้งสิ้น 60 คดี ลงโทษจำคุกเพียง 20 คดี แต่ยกฟ้องมากถึง 40 คดี หรือคิดเป็น 66% ซึ่งนับว่าน่ากังวลอย่างยิ่ง
ปัญหาทั้งในแง่ของคดีคงค้างจำนวนมาก และอัตราการยกฟ้องที่สูงมากนั้น ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกับความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม และกับตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีความมั่นคงที่ถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัวซึ่งมีมากถึง 514 คนในปัจจุบัน
กลายเป็นปัญหา “งูกินหาง” และเข้าทางการปลุกระดมขยายมวลชนของกลุ่มก่อความไม่สงบอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง!

อ่านต่อ...

คลี่ปมกังขา…ระเบิดบนถนนหน้ามัสยิดกลางยะลา!

สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงนี้ต้องบอกว่า “ทหารงานเข้า” เพราะมีเรื่องที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าอย่างไม่น่าจะเกิดขึ้นหลายเรื่อง ตั้งแต่การเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาของ นายสุไลมาน แนซา คาศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และล่าสุดคือเหตุระเบิดบนถนนหน้ามัสยิดกลางประจำจังหวัดยะลา
กรณีของ สุไลมาน แนซา แม้หลายฝ่ายจะยังรู้สึกกังขา แต่ผลชันสูตรของแพทย์และการตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่พบเงื่อนงำใดๆ ที่ชัดเจนมากไปกว่าการผูกคอตาย ผ่านไป 9 วัน จู่ๆ ก็เกิดระเบิดปริศนาขึ้นกลางเมืองยะลาซ้ำอีก
ที่ว่าเป็นปริศนาเพราะไม่มีใครยืนยันได้อย่างหมดข้อสงสัยว่า ระเบิดลูกนี้มาจากไหน หนำซ้ำเหตุระเบิดยังกลายเป็นประเด็นขึ้นมา เพราะเกิดตูมตามขึ้นบนถนนด้านหน้ามัสยิดกลางประจำจังหวัดยะลา ในย่านตลาดเก่าซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของพี่น้องชาวไทยมลายูมุสลิม

ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นระเบิดในช่วงค่ำของวันที่ 8 มิ.ย.2553 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปีเหตุการณ์กราดยิงในมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 ราย บาดเจ็บ 12 คน พอดิบพอดี
ขณะที่เหตุระเบิดบนถนนหน้ามัสยิดกลางยะลา มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 23 คน ในจำนวนนี้ 2 คนได้รับบาดเจ็บสาหัส คือ นางสาสะนะ ตือบิงหม๊ะ อายุ 45 ปี และ ด.ญ.อาลีซา ดะแซ วัยเพียง 5 ขวบ อาการยังไม่พ้นขีดอันตราย
ทำไมเหตุระเบิดครั้งนี้จึงไม่ “จบข่าว” ด้วยประโยคที่ว่า “เป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ” เหมือนกับเหตุการณ์อื่นๆ และเหตุใดจึงกลายเป็นระเบิดที่ดิสเครดิตฝ่ายทหารจนต้องบอกว่า “งานเข้า”
“ทีมข่าวอิศรา” ขอไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ และข้อสังเกตที่กลายเป็นความกังขาของหลายฝ่ายดังนี้
1.เหตุระเบิดดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 19.35 น. วันอังคารที่ 8 มิ.ย.2553 บริเวณปากซอยสิโรรส 14 ถนนสิโรรส ย่านตลาดเก่า ในเขตเทศบาลนครยะลา ใกล้กับร้านน้ำชาเก่าแก่ชื่อ “โกเจ๋ง” ซึ่งเปิดขายอยู่ใกล้ๆ กับร้านข้าวแกงหัวมุมซอยสิโรรส 14 ฝั่งตรงข้ามคือมัสยิดกลางยะลา
ข่าวที่ออกมาและอ้าง “พยานที่อยู่ในเหตุการณ์” ปรากฏข้อเท็จจริงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ ข่าวหนึ่งระบุว่าระเบิดตกใกล้กับฟุตบาลหน้าร้านน้ำชา โดยคนร้ายเป็นชายวัยรุ่น 2 คนขี่รถจักรยานยนต์โฉบเข้ามาปาระเบิดแล้วเร่งเครื่องหลบหนีไป ทิ้งคนบาดเจ็บจำนวนมากเอาไว้เบื้องหลัง
ขณะที่อีกข่าวหนึ่งระบุว่า ก่อนเกิดเหตุมี "รถบรรทุกของทหารพราน" แล่นผ่านมา จังหวะนั้นมีคนร้ายเป็นชายวัยรุ่น 2 คน ขี่รถจักรยานยนต์ตามหลัง โดยคนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายได้ขว้างระเบิดใส่รถ หวังให้ตกลงในกระบะของรถบรรทุกซึ่งมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครทหารพรานนั่งอยู่หลายนาย แต่ปรากฏว่าระเบิดไปไม่ถึงตัวรถ กลับตกลงบนถนนใกล้กับร้านน้ำชาและเกิดระเบิดขึ้น ทำให้ประชาชนและนักเรียนที่นั่งรับประทานอาหารอยู่ได้รับบาดเจ็บ
ข่าวทั้ง 2 ชิ้นนี้มีเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ ข้อสันนิษฐานที่ว่าคนร้ายเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบ แต่เรื่องราวดูจะยังไม่จบเพียงเท่านั้น...
2.วันรุ่งขึ้น คือวันที่ 9 มิ.ย. เริ่มมีความคืบหน้าจากการสืบสวนสอบสวนของตำรวจ โดยข้อมูลระบุว่า ผลการตรวจสอบในที่เกิดเหตุพบกระเดื่องระเบิดชนิด เอ็ม 67 (ระเบิดขว้าง) ตกอยู่ และจากการเก็บรวบรวมหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ร่วมกับหลักฐานภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดของเทศบาลนครยะลา พบคนร้ายไม่ทราบกลุ่มอายุประมาณ 20-25 ปี ยืนอยู่ฝั่งหน้ามัสยิดกลางยะลา และได้ขว้างระเบิดข้ามมาอีกฝั่งหนึ่งเพื่อหวังทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหารที่โดยสารมากับรถยนต์ แต่ระเบิดพลาดเป้า ตกลงบนพื้นถนนและเกิดระเบิดขึ้น จนทำให้มีชาวบ้านที่กำลังยืนซื้อของอยู่ปากซอยสิโรรส 14 ได้รับบาดเจ็บ 23 ราย
ข้อมูลของตำรวจยังชี้ด้วยว่า เมื่อเกิดระเบิดขึ้นแล้ว รถยนต์ของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังแล่นอยู่ก็จอดที่ข้างทางเพื่อดูความเสียหาย เมื่อปรากฏว่าไม่มีทหารในรถได้รับบาดเจ็บ และรถยนต์ก็ไม่ได้รับความเสียหาย พลขับจึงขับรถออกไปอย่างรวดเร็ว
“ทหารชุดดังกล่าวอาจไม่อยากเป็นพยานในเรื่องนี้ก็เป็นได้ หลังเกิดเหตุได้ประสานงานกับค่ายสิรินธรแล้ว แต่ไม่ทราบว่ารถยนต์ของทหารที่ปรากฏอยู่ในภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเป็นทหารสังกัดใด แต่ไม่ได้ออกมาจากค่ายสิรินธร และไม่ใช่ทหารหน่วยเฉพาะกิจยะลา 11” เป็นข้อสันนิษฐานของฝ่ายตำรวจ
3.มีความคืบหน้าจากการสอบปากคำพยาน ระบุว่า หลังเกิดเหตุระเบิด มีชายวัยรุ่นต้องสงสัยคาดว่าเป็นคนร้ายที่ก่อเหตุ ตะโกนเสียงดังว่า “มีระเบิดแค่ลูกเดียวเท่านั้น ช่วยกันรีบนำคนเจ็บส่งโรงพยาบาลด้วย”
4.ชุดสืบสวนสอบสวน สภ.เมืองยะลา และชุดสืบสวนสอบสวนกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา (บก.ภ.จว.ยะลา) สันนิษฐานตรงกันว่าคนร้ายน่าจะเป็นกลุ่มเดียวกับที่เคยก่อเหตุวางระเบิดแผงขายน้ำปั่นและขนมเครปญี่ปุ่น ริมถนนพิพิธภักดี ในเขตเทศบาลนครยะลา เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา และเหตุการณ์ระเบิดหน้าโชว์รูมรถยนต์มาสด้า รวมทั้งหน้าร้านถ่ายรูป 07 คัลเลอร์แล็บ เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา


5.แม้การสืบสวนสอบสวนของตำรวจจะคืบหน้าไปมากขนาดนี้ ประกอบกับมีภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดของเทศบาลนครยะลาเผยแพร่ผ่านสื่อบางแขนง ปรากฏ "รถกระบะ" (ไม่ใช่รถบรรทุกตามที่รายงานข่าวในเบื้องต้น) 1 คันซึ่งว่ากันว่าน่าจะเป็นรถของทหารแล่นผ่านขณะเกิดเหตุระเบิดจริง แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้ก็ยังไม่จบ
หลายคนเชื่อว่าระเบิดไม่ได้มาจากคนร้าย แต่มาจากรถของทหาร!
ข้อกังขาของประชาชนในพื้นที่ก็คือ เหตุใดฝ่ายทหารจึงไม่ออกมายอมรับว่ามีกำลังพลของตนขับรถผ่านจุดเกิดเหตุขณะเกิดระเบิด เพราะภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดก็ค่อนข้างชัดเจน ประกอบกับชาวบ้านย่านนั้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นพี่น้องมุสลิม ไม่เชื่อว่าจะมีคนร้ายที่เป็นมุสลิมกล้าปาระเบิดหน้ามัสยิดกลาง
6.ข้อสันนิษฐานของชาวบ้านมีอยู่ 2 อย่างคือ หนึ่ง-ทหารจงใจปาระเบิดแล้วหลบหนี กับ สอง-ทหารทำระเบิดหล่น
อย่างไรก็ดี ความเชื่อของชาวบ้านเทไปในทางข้อสันนิษฐานที่สองมากกว่า เพราะมีพยานยืนยันว่ารถของทหารจอดริมถนนปากซอยสิโรรส 12 ชั่วครู่หลังมีเสียงระเบิด จากนั้นก็ออกรถไป จุดนี้นำมาสู่ข้อสงสัยว่า หากระเบิดไม่ได้มาจากรถทหาร เช่น ถูกคนร้ายปาใส่ เหตุใดรถของทหารจึงไม่จอดแล้วลงมาดูจุดเกิดเหตุ หรือขับรถไล่ล่าคนร้ายที่ปาระเบิดไป เพราะรถก็ไม่ได้รับความเสียหายใดๆ
7.ข้อเท็จจริงที่น่าประหลาดใจก็คือ ฝ่ายทหารไม่ยอมรับว่ามีรถของกำลังพลแล่นผ่านขณะเกิดเหตุ นายทหารระดับสูงหลายนายพยายามยืนยันว่าไม่มีรถของทหารผ่านไปย่านนั้น ขณะที่คำแถลงของ พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ก็ยังไม่ยอมรับตรงๆ ว่ามีรถของทหารอยู่ในเหตุการณ์
“จากภาพวงจรปิดของเทศบาลนครยะลาที่ได้มีการเผยแพร่ออกอากาศไปแล้วนั้น จะเห็นได้ว่ามียานพาหนะผ่านบนถนนในที่เกิดเหตุจำนวน 1 คัน และหลังจากยานพาหนะผ่านไปแล้วเพียงเสี้ยววินาทีก็เกิดระเบิดขึ้นกลางท้องถนนในตำแหน่งที่ยานพาหนะผ่าน”
“ข้อสังเกตตรงนี้ยืนยันได้เลยว่าในทางเทคนิคแล้วไม่มีทางเป็นไปได้ที่ระเบิดจะหลุดร่วงหรือขว้างออกมาจากยานพาหนะคันดังกล่าวซึ่งเป็นรถยนต์กระบะ ตามภาพคล้ายๆ จะเป็นรถยนต์กระบะสีทอง ลักษณะคล้ายกับยานพาหนะของเจ้าหน้าที่ เพราะว่าการทำงานของระเบิดขว้างชนิดนี้จะต้องทำงานหลังจากที่กระเดื่องนิรภัยออกจากตัวระเบิด 4 วินาที ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดระเบิดขึ้นหลังจากยานพาหนะผ่านไปไม่ถึงเสี้ยววินาที แต่สิ่งที่เป็นไปได้คือรถจะต้องผ่านไปแล้ว 4 วินาทีจึงจะเกิดระเบิด”
“ข้อเท็จจริงจากภาพก็คือยานพาหนะนั้นวิ่งด้วยความเร็วสูง ฉะนั้นกล้องโทรทัศน์วงจรปิดจะไม่สามารถจับภาพระเบิดกับภาพยานพาหนะในเวลาเดียวกันได้เลย แสดงให้เห็นว่าลูกระเบิดขว้างลูกนี้จะต้องถูกขว้างออกมาจากสถานที่แห่งอื่น ซึ่งผู้ที่ทราบเรื่องนี้ดีคือผู้ที่เห็นเหตุการณ์เท่านั้น และจะบอกได้ว่าระเบิดถูกขว้างมาจากจุดใด อาจจะเป็นฝั่งตรงข้ามหรือบนท้องถนน แต่ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าระเบิดลูกนั้นไม่ได้ออกมาจากยานพาหนะคันดังกล่าวแต่อย่างใด”
“สำหรับยานพาหนะคันนั้น ในขั้นต้นยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นยานพาหนะของเจ้าหน้าที่หน่วยใด สังกัดไหน ข้อมูลยังไม่ชัดเจน ทางเจ้าหน้าที่ทหารเองก็กำลังสอบถามและติดตามกันอยู่ว่ายานพาหนะนั้นเป็นของหน่วยใด จะไปไหน แต่ช่วงหลังเกิดเหตุ หน่วยเฉพาะกิจยะลา 11 ก็ได้ พยายามชี้แจงและทำความเข้าใจกับชาวบ้านในชุมชนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุแล้ว เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด”
ทั้งหมดเป็นคำชี้แจงของโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งก็น่าแปลกใจว่าถ้ารถกระบะคันนั้นไม่ใช่รถทหาร เหตุใดจะต้องออกมาแถลงยืนกรานว่าระเบิดไม่ได้มาจากรถคันดังกล่าวอย่างแน่นอน???
8.จากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกของ “ทีมข่าวอิศรา” ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ และเป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเองว่า รถกระบะสีบรอนซ์ทองที่แล่นผ่านจุดเกิดเหตุและปรากฏอยู่ในภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด คือรถของทหารจากหน่วยเฉพาะกิจเลข 2 ตัวแห่งหนึ่งซึ่งมีฐานปฏิบัติการอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลกับค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี โดยค่ายสิรินธรอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุไม่ถึง 2 กิโลเมตร
ความเป็นไปได้ของเหตุการณ์จึงมีเพียง 2 ประการเท่านั้นคือ
หนึ่ง- รถของทหารถูกคนร้ายปาระเบิดใส่แต่พลาดเป้า โดยคนร้ายอาจยืนอยู่ฟากใดฟากหนึ่งของถนน หรือขี่รถจักรยานยนต์อยู่บนถนนสิโรรสขณะเกิดเหตุ ซึ่งในภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดก็พบรถจักรยานยนต์ต้องสงสัย 2 คัน คันหนึ่งแล่นอยู่ด้านหน้ารถกระบะของทหาร กับอีกคันหนึ่งแล่นตามหลัง
หากความจริงเป็นไปตามข้อสันนิษฐานนี้ สมควรที่ทุกฝ่ายจะต้องประณามกลุ่มคนร้าย เพราะจงใจก่อเหตุรุนแรงกลางเมือง ในย่านชุมชน แถมยังใกล้ศาสนสถาน โดยไม่สนใจว่าจะมีประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
สอง- ระเบิดมาจากรถของทหารเอง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น โอกาสน่าจะเป็นการทำระเบิดหล่นโดยไม่ได้ตั้งใจมากกว่า เพราะหลังเสียงระเบิดดังขึ้น รถของทหารได้แล่นไปจอดบริเวณปากซอยสิโรรส 12 ครู่หนึ่งก่อนจะขับออกไป หากจงใจปาระเบิดจริง คงไม่แวะจอด
9.สืบเนื่องจากข้อ 8 หากเป็นไปตามข้อสันนิษฐานที่หนึ่ง ก็ต้องบอกว่าการสืบสวนสอบสวนของตำรวจเดินมาถูกทาง คือกำลังรวบรวมพยานหลักฐานหาตัวคนร้ายที่แฝงตัวอยู่ในละแวกที่เกิดเหตุ
แต่คำถามก็คือ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เหตุใดทหารจึงไม่ยอมรับว่ามีรถของกำลังพลแล่นผ่านจุดเกิดเหตุ เพราะไม่มีอะไรเสียหาย เนื่องจากทหารเป็นฝ่ายถูกกระทำ
การไม่ยอมรับว่ารถกระบะในภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดคือรถของทหาร ทำให้ฝ่ายทหารถูกมองอย่างกังขาว่า ทำไมต้องปกปิดความจริง หรือทหารกลุ่มดังกล่าวเกรงว่าจะมีความผิด เพราะหากความจริงเป็นไปตามข้อสันนิษฐานที่สอง คือระเบิดหล่นจากรถของทหารเอง อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งเป็นความผิดอาญา
ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ หากไม่มีคนร้ายปาระเบิดใส่รถของทหาร แต่ระเบิดมาจากรถของทหารเองไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม การสืบสวนสอบสวนของตำรวจและคำแถลงของโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องถือว่าน่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับสถานการณ์ที่อ่อนไหวเช่นนี้ เพราะมีการให้ข้อมูลกับสื่ออย่างเป็นตุเป็นตะ ข่าวบางกระแสจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงถึงขั้นระบุตัวกลุ่มก่อความไม่สงบที่ก่อเหตุครั้งนี้แล้วด้วยซ้ำ
ด้วยเหตุนี้การยอมรับความจริง และนำความจริงนั้นออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างตรงไปตรงมา จึงเป็นทางออกเดียวที่จะรักษาความเชื่อมั่นของประชาชนสามจังหวัดที่มีต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐเอาไว้ได้ ในภาวะที่ความเชื่อมั่นกำลังลดต่ำลงทุกที...
มิฉะนั้นจะล้มละลายทางความน่าเชื่อถืออย่างถาวร!

อ่านต่อ...

วันจันทร์, มิถุนายน 14, 2553

โจรใต้ดุ!ดักฆ่าเผาพร้อมรถ

โจรใต้ฆ่า -เผาคนงานสยองคารถจยย. เผยขณะกลับจากหาของป่าในเขตรามัน คนร้ายดักซุ่มยิงใส่ก่อนเผาพร้อมรถ ส่วนเขตเมืองยะลาบึ้มทหารชุดลาดตระเวนจนได้รับบาดเจ็บรวม 3 นาย มือระเบิดซุกใต้พื้นถนน ส่วนที่สตูลบุกจับอาร์เคเค แต่ยังปากแข็งให้การปฏิเสธ

เมื่อเวลา 10.50 น. วันที่ 13 มิ.ย. ศูนย์วิทยุ สภ.ลำใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา รับแจ้งว่าเกิดเหตุระเบิด บนถนนสายบาตัน-ลิดล หน้าโรงโม่หินศิลาอุตสาหกรรม ม.1 ต.ลิดล อ.เมือง จ.ยะลา มีเจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บด้วย หลังรับแจ้งพร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร และชุดเก็บกู้ระเบิดรีบรุดไปยังที่เกิดเหตุทันที

เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารถูกระเบิดได้รับบาดเจ็บ 3 นาย ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลศูนย์ยะลา ขณะนี้ยังไม่ทราบชื่อ ส่วนในที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่พบรถยนต์กระบะของเจ้าหน้าที่ทหารพลิกหงาย อยู่ข้างทาง พบสายไฟลากยาวเข้าไปในสวนยางพารา

จากการสอบสวนทราบว่า ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารชุดพัฒนาสันติ 301 (หน่วยรบพิเศษ) ขับรถยนต์กระบะ พอมาถึงที่เกิดเหตุคนร้ายได้กดระเบิดที่ฝังไว้ใต้ผิวถนน น้ำหนักประมาณ 10 ก.ก. จนทำให้ได้รับบาดเจ็บดังกล่าว สำหรับรายชื่อเจ้าหน้าที่ทหารที่ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 3 นาย ประกอบด้วย ร.อ.สุวรรณ แสงชาลี หูอื้อ ท้ายทอยบวม ส.อ.มานิตย์ พิมพ์ทุม ได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกสะเก็ดระเบิดที่หน้าและศีรษะ และส.อ.ปรีชา ปัญญา ถูกสะเก็ดระเบิดที่หน้าและศีรษะ

เมื่อเวลา 17.00 น. ศูนย์วิทยุ สภ.รามัน จ.ยะลา รับแจ้งว่า เกิดเหตุยิงกันอยู่บนถนนสาย 4092 เขตรอยต่อระหว่าง บ้านสะโต ม.5 ต.อาซ่อง-บ้านตลาดล่าง ม.6 ต.กายูบอเกาะ อ.รามัน จ.ยะลา หลังรับแจ้งพร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจรีบรุดไปยังที่เกิดเหตุทันที

เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุพบศพชายไทย ถูกยิงและเผา ทราบชื่อคือนายประดับ สุวรรณชาตรี อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 140 หมู่ 6 ต.กายูบอเกาะ อ. รามัน จ.ยะลา เป็นลูกจ้างตามโครงการ 4500 ห่างจากจุดเกิดเหตุเพียงเล็กน้อย พบรถจยย.ยี่ห้อยามาฮ่า รุ่นเก่าไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ถูกเผาด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นในที่เกิดเหตุยังพบปลอกกระสุนปืนลูกซอง จำนวน 3 ปลอก หมอนรองกระสุนอีก 2 ชิ้น จึงเก็บไว้เป็นหลักฐาน

จากการสอบสวนทราบว่า ขณะที่นายประดับ ขับขี่รถจยย.กลับจากหาของป่า ได้มีคนร้ายไม่ทราบจำนวน ขับขี่รถจยย.ตามหลังมา แล้วใช้อาวุธปืนลูกซองยิงใส่ทำให้เสียชีวิต หลังก่อเหตุคนร้ายได้จุดไฟเผานายประดับและรถจยย. ก่อนหลบหนีไป ส่วนสาเหตุเชื่อเป็นฝีมือพวกก่อความไม่สงบต้องการสร้างสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

ส่วนกรณีคนร้ายขว้างระเบิดใส่ร้านรัชตะกระทะร้อนสี่แยกรัชตะ เลขที่ 159 ถ.เทศบาล 3 และเวลา 19.40 น. คนร้ายได้ขว้างระเบิดใส่ร้านขายข้าวต้ม เลขที่ 6 ถ.รวมมิตร อ.เมือง จ.ยะลา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และได้รับบาดเจ็บรวม 26 ราย เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ล่าสุด นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เดินทางไปเยี่ยมอาการของผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิดดังกล่าว โดยได้เข้าเยี่ยมนายสุนันท์ แก้วรัตน์ ซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัส ไม่รู้สึกตัว ความดันต่ำ ยังคงต้องนอนรักษาตัวอยู่ที่ห้องไอซียู โดยผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาจากศูนย์ปฏิบัติการเยียวยาฯ จำนวน 50,000 บาท และกระเช้าเยี่ยม ให้ทางญาติของนายสุนันท์ จากนั้น ได้เข้าเยี่ยมอาการของนายอูบัยดิลลาฮ์ มาแฮ ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิดตรงสี่แยกรัชตะ เพียงรายเดียวพร้อมทั้งได้มอบเงินช่วยเหลือเยียวยา จำนวน 10,000 บาท และกระเช้าเยี่ยม เพื่อให้กำลังใจ

นายอูบัยดิลลาฮ์ เล่าให้ผู้ว่าฯ ยะลา ฟังว่า ตนเองไปซื้อของที่ใกล้จุดเกิดเหตุทำให้โดนระเบิดที่คนร้ายขว้างใส่ จากนั้น ผู้ว่าราชการจัง หวัดยะลา ยังได้เยี่ยมและมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ นายพงษ์เทพ แซ่ซิ้ม นายกิตติศักดิ์ ประเทืองวิจิตรกุล นายนเรศ พันมี นายสมเกียรติ รัตนะโดยขณะนี้ยังเหลือผู้ป่วยที่ยังคงพักรักษาตัวที่ร.พ.ศูนย์ยะลา รวมทั้งสิ้น 6 ราย อยู่ที่ร.พ. มอ.หาดใหญ่ 1 ราย คือ นายอภินันท์ ภัทรศรศิริกุล ส่วนที่เหลือ จำนวน 17 ราย แพทย์ได้อนุญาตให้กลับบ้านได้

หลังจากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เดินทางไปที่มูลนิธิแม่กอเหนี่ยวยะลา ศาลา 4 เพื่อเป็นประธานในพิธีรดน้ำศพ นายคงศักดิ์ แซ่ตัน อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน เทศบาลนครยะลา (อปพร.) ที่เสียชีวิตจากเหตุระเบิดตรงบริเวณร้านขายข้าวต้ม ถนนรวมมิตร อ.เมือง จ.ยะลา พร้อมทั้งได้มอบเงินช่วยเหลือเยียวยา จำนวน 200,000 บาท ให้แก่มารดาของนายคงศักดิ์

นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า สำหรับเหตุระเบิด 2 จุด ที่เกิดขึ้นในเขตเทศบาลนครยะลา ตนเองในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ต้องขอประทานโทษต่อพ่อแม่พี่น้องประชาชนชาวยะลา ที่ไม่สามารถปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของชาวยะลาได้ แต่อย่างไรก็ตามตนเองขอประณามคนร้ายที่ก่อเหตุเช่นนี้ ทำให้ผู้บริสุทธิ์หลายสิบคนต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บ ซึ่งถ้าหากประชาชนท่านใดไม่ได้รับความเป็นธรรมจากทางราชการ ขอให้มาบอกกับตนเพื่อจะได้เข้าไปช่วยเหลือ แก้ไข และให้ความเป็นธรรม ขออย่างเดียวอย่ามาแก้แค้นก่อเหตุร้าย ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องต้องมาเดือดร้อนจากการกระทำของท่าน และขอให้หยุดการกระทำนั้น หยุดตอบโต้ หยุดแก้แค้น เพื่อความสงบสุขของพี่น้องชาวยะลา

เมื่อเวลา 09.00 น. ร.ต.ท.สมคิด อ่อนจันทร์ พนักงานสืบสวน สภ.โคกโพธิ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ภ.จว.ปัตตานี เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุคนร้ายใช้ระเบิดขว้างใส่ร้านอาหารเพื่อนกลางวันคาราโอเกะ ตั้งอยู่ที่ ม.6 ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 1 ราย และข้าวของภายในร้านได้รับความเสียหาย โดยเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อคืนที่ผ่านมา ในที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่พบกระเดื่องระเบิด ชนิดเอ็ม 67 และสะเก็ดระเบิดจำนวนหนึ่ง จึงเก็บไว้เป็นหลักฐาน สำหรับประเด็นสาเหตุเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นฝีมือของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ต้องการสร้างสถาน การณ์ในพื้นที่ ส่วนอาการผู้ได้รับบาดเจ็บ นายสนิท ด้วงเล็ก อายุ 39 ปี อยู่บ้านเลขที่ 50/2 ม.4 ต.มะกรูด อ.โคกโพธิ์ ซึ่งป็นลูกเขยเจ้าของร้าน ถูกสะเก็ดระเบิดบริเวณลำตัว ขาขวาและเท้าขวาขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่ร.พ.โคกโพธิ์ อาการปลอดภัยแล้ว

สอบสวนทราบว่า ร้านดังกล่าวเป็นของ นางประทีป อินทกลม อายุ 50 ปี โดยก่อนเกิดเหตุ ขณะที่นายสนิทกำลังดูแลความเรียบร้อยอยู่ภายในร้าน ได้มีคนร้าย 2 คน ใช้รถจักรยาน ยนต์เป็นพาหนะขับผ่านหน้าร้านพร้อมใช้ระเบิดชนิดขว้างปาใส่จนเกิดระเบิดขึ้นหลังก่อเหตุได้หลบหนีไปตามเส้นทางสายนาเกตุ-นาประดู่ หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้มีการสนธิกำลัง 3 ฝ่ายตั้งจุดตรวจจุดสกัดเพื่อติดตามไล่ล่าคนร้ายแต่ไม่พบเบาะแสของคนร้ายแต่อย่างใด

เมื่อเวลา 09.00 น. จากการสืบทราบของนายมานิต วัฒนเสน ปลัดกระทรวงมหาดไทยว่านายมาหามะพาริ บือแน สมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุความรุนแรงระดับครูฝึกอาร์เคเค มาหลบซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ ต.น้ำผุด อ.ละงู จ.สตูล เพื่อขยายพื้นที่ก่อเหตุ จึงสั่งการให้นายสุเมธ ชัยเลิศวณิชกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ดำเนินการตรวจสอบจับกุม จากนั้นจึงสั่งให้ พ.ต.ท.เยื้อน เพชรชนะ สว.สภ. เขาขาว และเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจ ของผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ออกสืบสวนหาข่าวจนทราบว่านายมาหามะพาริ ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็นนายไพศาล บือแน อายุ 31 ปี บุคคลตามหมายจับของศาลจังหวัดปัตตานี ได้เดินทางกลับมาที่บ้านเลขที่ 118 ม.11 ต.น้ำผุด อ.ละงู จ.สตูล จากนั้นติดตามไปตรวจสอบและพบนายมาหามะพาริ หรือไพศาล บือแน อายุ 31 ปี อยู่บ้านเลขที่ 118 ม.11 ต.น้ำผุด อ.ละงู จ.สตูล ผู้ต้องหาตามหมายจับได้เดินอยู่บนถนนในหมู่บ้านวังยาว ม.11 ต.น้ำผุด อ.ละงู จ.สตูล จึงได้เข้าดำเนินการจับกุมและควบคุมตัว ดำเนินคดีในข้อหา ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควรและความจำเป็นเร่งด่วน และร่วมกันก่อการร้าย เหตุเกิดที่ถนนสายมายอ-ทุ่งยางแดง บ้านเจาะบาแน ม.6 ต.ลุโบะอิไร อ.มายอ จ.ปัตตานี เมื่อ 8 ก.ค. 51 เวลา 07.30 น.

ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธและว่า ก่อนเดินทางเข้ามาที่บ้านในพื้นที่ต.น้ำผุด อ.ละงู และถูกจับกุมนั้น ตนได้เดินทางไปรับจ้างกรีดยางในประเทศมาเลเซียมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว และคิดที่จะกลับมาอยู่บ้านแต่มาถูกจับกุมดังกล่าว อย่างไรก็ตามทางเจ้าหน้าที่ตำรวจปัตตานี จะได้เดินทางมารับตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมายที่จ.ปัตตานี

อ่านต่อ...

วันอาทิตย์, มิถุนายน 13, 2553

ตร.ปัตตานีรวบแกนนำก่อความไม่สงบถูกหมายจับ52คดี

ตร.ปัตตานีสนธิกำลังตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายสามารถจับกุมตัวแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบที่ถูกศาลออกหมายจับ52คดีได้1ราย พ.ท.สัมพันธ์ อิสริยเตชะ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 21 พร้อมด้วย พ.ต.อ.วิโรจน์ บุญยรัตน์ ผกก.สภ.ยะรัง นายวชิระ อัลภาชน์ นายอำเภอยะรัง นำกำลัง 3 ฝ่าย จำนวน 60 นายเข้าปิดล้อมตรวจค้นบ้านเลขที่ 121 ม.1 หมู่บ้านกอตอรานอ ต.คลองใหม่ อ.ยะรัง หลังได้รับรายงานว่ามีแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบตามหมายจับเข้ามาหลบซ่อนตัวอยู่ภายในบ้านหลังดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ไสามารถจับกุมผู้ต้องหาตามเป้าหมายได้ 1 ราย ชื่อ นายมะยาแม กอสา อายุ 31 ปี เป็นคนพื้นที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี จากนั้นได้นำตัวไปสอบสวนที่หน่วยเฉพาะกิจปัตตานี ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และจากการตรวจค้นภายในบ้านไม่พบสิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด

จากการตรวจสอบประวัติพบว่า นายมะยาแม มีหมายจับ ป.วิอาญา ศาลจังหวัดปัตตานี จำนวน 52 คดี ทั้งคดีลอบวางระเบิด ลอบวางเพลิง และลอบยิง นอกจากนี้ยังเป็นแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบระดับสั่งการและปฏิบัติการณ์รับผิดชอบก่อเหตุในพื้นที่ อ.โคกโพธิ์ และเขตรอยต่อ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา อย่างไรก็ตามหลังการจับกุมครั้งนี้ พลตรีจีระศักดิ์ ชมประสพ ผบ.ฉก.ปัตตานี พล.ต.ต.พิเชษฐ์ ปิติเศรษฐพันธ์ ผบก.ภ.จ.ปัตตานี ได้กำชับกองกำลังให้เพิ่มความเข้มเป็นพิเศษ เพราะเกรงว่ากลุ่มแนวร่วมในพื้นที่อาจจะมีการตอบโต้เพื่อสร้างสถานการณ์

อ่านต่อ...

วันอังคาร, มิถุนายน 08, 2553

ข้อเท็จจริง กรณีการเสียชีวิตนายสุไลมาน แนซา‏

ความจริงในวันนี้ เป็นสิ่งที่เหล่านักศึกษารับไมได้
Anak Melayu di Tindas
ข้อเท็จจริง กรณีการเสียชีวิตนายสุไลมาน แนซา
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 เวลา 09.00 น. เจ้าหน้าที่ทหาร จากศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
ซึ่งเป็น หน่วยงานที่นำผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงเข้าสู่ขบวนการซักถามได้ติดต่อไปยัง นายนูรดี อับดุลราฮิม ปลัดป้องกันอำเภอสายบุรี ว่าให้แจ้งครอบครัวของ นายสุไลมาน แนซา อายุ 25 ปี ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง โดยถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2553 ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ว่า เมื่อเวลา 07.30 น. วันที่ 30 พฤษภาคม มีเจ้าหน้าที่ศูนย์เสริมสร้างสมานฉันท์พบนายสุไลมาน แนซา เสียชีวิตอยู่ในสภาพที่ผูกคอตายด้วยผ้าขนหนูในห้องพัก จึงขอให้มาร่วมชันสูตรศพและรับศพ


จากนั้นทางครอบครัว ได้ติดต่อประสานองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่และเดินทางไปยังค่ายอิงคยุทธฯ พร้อมด้วยญาติพี่น้องรวมกว่า 10 คน เพื่อร่วมตรวจสอบ เมื่อเข้าไปดูพบศพ นายสุไลมาน แนซา อยู่ในสภาพผูกคอตายด้วยผ้าขนหนูตรงบริเวณหน้าต่างในห้องพัก สภาพศพลิ้นจุกปาก โดยแพทย์จากโรงพยาบาลหนองจิกได้เข้าชันสูตรศพและตรวจร่างกาย จากการตรวจร่างกายญาติพบว่าบริเวณลำคอมีรอยถลอก บริเวณใบหน้าและหน้าผากด้านขวามีรอยแผลเป็นทางยาว บริเวณหน้าท้องมีลักษณะคล้ายรอยจี้เป็นจุดๆและเอวด้านหลังมีลักษณะคล้ายรอย จี้เดียวกันเป็นแนวยาว บริเวณอวัยวะเพศมีคราบเลือดพบมีรอยแผลบริเวณอัณฑะ บริเวณต้นขามีลักษณะคล้ายรอยช้ำและบริเวณสะโพกมีแผลคล้ายรอยจี้เดียวกันเป็น บางจุด ภายหลังจากชันสูตรศพทางครอบครัวได้นำศพกลับไปที่ อ.สายบุรี และทางองค์กรภาคประชาสังคมได้เชิญแพทย์จากโรงพยาบาลยุพราชสายบุรีตรวจร่าง กายอีกครั้งที่บ้านของผู้เสียชีวิตเพื่อความสบายใจของทางครอบครัว ข้อสังเกต

-จากการสอบถามนายเจ๊ะแว แนซา อายุ 59 ปี ผู้เป็นพ่อ บอกว่าหลังจากที่ลูกชายถูกควบคุมตัวทางครอบครัวได้ไปเยี่ยมลูกชายทุกวันและ ทุกครั้งที่ไปเยี่ยมตั้งแต่วันที่ 23-26 ครอบครัวสามารถเข้าเยี่ยมลูกชายได้ แต่ในวันที่ 27- 28 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้พบลูกชายโดยให้เหตุผลว่าลูกชายอยู่ในช่วงของการสอบ สวน

-เมื่อวันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ทหารได้มาตรวจค้นบ้านพร้อมกับนายสุไลมาน แนซา เพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติม แต่จากการตรวจค้นไม่พบหลักฐานใดๆ

-จากการสอบถามนางสาวนูรมา แนซา อายุ 20 ปี น้องสาวผู้เสียชีวิต บอกว่าเมื่อวันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม ได้ไปเยี่ยมพี่ชายที่ค่ายอิงคยุทธฯ สังเกตเห็นว่าพี่ชายดูอ่อนเพลีย ทุกครั้งที่ตัวเองมาเยี่ยมพี่ชายตนสามารถจับมือถือแขนพี่ชายได้แต่ครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ตัวเองเข้าใกล้พี่ชาย โดยให้เหตุผลว่าพี่ชายอยู่ในช่วงของการสอบสวน

-ญาติพบว่าจากการคลำลำคอพบว่าคอหัก บริเวณลำคอมีรอยถลอก บริเวณใบหน้าและหน้าผากด้านขวามีรอยแผลเป็นทางยาว บริเวณหน้าท้องมีลักษณะคล้ายรอยจี้เป็นจุดๆและเอวด้านหลังมีลักษณะคล้ายรอย จี้เดียวกันเป็นแนวยาว บริเวณอวัยวะเพศมีคราบเลือดพบมีรอยแผลบริเวณอัณฑะ บริเวณต้นขามีลักษณะคล้ายรอยช้ำและบริเวณสะโพกมีแผลคล้ายรอยจี้เดียวกันเป็น บางจุด

เก็บข้อมูลโดย

-เครือข่ายส่งเสริมสิทธิและและเข้าถึงความยุติธรรม (HAP)

-คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (Just Peace)

-สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ (Deep Peace)

-เครือข่ายอาสาสมัครสื่อสันติภาพชายแดนใต้(STM)

-กลุ่มบุหงารายา

..................................

‘สุไลมาน แนซา’ ผู้ต้องสงสัยหมายพรก.ตายปริศนา! ในค่ายอิงคยุทธฯ

กองบรรณาธิการสำนักข่าวอามาน

‘สุ ไลมาน แนซา’ ผู้ต้องสงสัยตามหมายจับ พรก.เสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ ขณะถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายอิงคยุทธบริหารปัตตานี เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ระบุใช้ผ้าขนหนูผูกคอตายในห้องควบคุม ขณะที่บิดาและญาติไม่เชื่อว่าบุตรชายจะคิดสั้น และพร้อมจะดำเนินการติดตามตรวจสอบการตายของบุตรชายต่อไป ส่วนหัวหน้าผู้ควบคุมศูนย์สร้างเสริมสันติสุขระบุ พร้อมช่วยเหลือครอบครัว แต่การเปิดโอกาสให้ตรวจสอบยังไม่แน่ชัด

เว็บไซต์มติชนออนไลน์(www.matichon.co.th) รายงานว่าเมื่อเวลา 10.00 น.ของวานนี้ ร.ต.ท.วิษณุ ทนงาน พนักงานสืบสวน สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ทหารค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ว่ามีผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวตามหมายจับ พรก.เสียชีวิตโดยการฆ่าตัวผูกคอตายที่ห้องควบคุมตัว 102 จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบและรุดไปตรวจสอบที่เกิดเหตุพร้อมด้วยเจ้า หน้าที่ฝ่ายต่างๆ ทั้ง ตำรวจ ทหารเจ้าหน้าที่ชุดนิติวิทยาศาสตร์ แพทย์พยาบาลเพื่อทำการชันสูตรศพ ทราบชื่อ ผู้เสียชีวิต คือ นายสุไลมาน แนซา อายุ 23 ปี อยู่บ้านเลขที่ 35 ม.1 บ้านฮูแตมาแจ ต.กะดุนง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี สภาพผูกคอตายโดยใช้ผ้าขนหนูผูกกับเหล็กดัดของหน้าต่าง และไม่มีร่องรอยการต่อสู้ใดซึ่งคาดว่าน่าจะเสียชีวิตเมื่อคืน

ต่อมา เมื่อเวลา 14.00 น .ทางญาติของผู้เสียชีวิตได้มีการนำศพออกจากค่ายอิงคยุทธบริหารกลับไปประกอบ พิธีทางศาสนาที่ อ.สายบุรี ท่ามกลางเสียงการวิพากษ์วิจารณ์ถึงสาเหตุการเสียชีวิตว่าเป็นการฆ่าตัวตาย หรือถูกกระทำโดยผู้อื่น ซึ่งในการรับศพครั้งนี้มีองค์กรภาคประชาสังคม เช่น สมาคมยุวมุสลิม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เครือข่ายส่งเสริมสิทธิและเข้าถึงความยุติธรรม ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานให้การช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมใน พื้นที่มาร่วมด้วย

จากการเปิดเผยของนาย ‘เจะแว แนซา’ บิดาผู้เสียชีวิต บอกว่า นายสุไลมาน มีพี่น้อง 5 คน เป็นบุตรชายคนโตของครอบครัว ขยันทำงานช่วยพ่อทำงานซึ่งเป็นนายช่างรับจ้างก่อสร้างบ้าน ถูกเจ้าหน้าที่ปิดล้อมและจับกุมตัวที่บ้านเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2553 ขณะกำลังทำงานสร้างบ้านในหมู่บ้าน และต่อมาเมื่อวันที่ 28 พ.ค.เจ้าหน้าที่ได้นำตัวสุไลมานกลับมาค้นที่บ้านพักอีกครั้ง จนกระทั่งมาทราบข่าวเมื่อเช้าวันนี้เวลา 09.00 น.จากเจ้าหน้าที่ทหารว่าบุตรเสียชีวิตโดยการผูกคอฆ่าตัวตาย ซึ่งตนไม่อยากเชื่อว่าบุตรชายจะต้องฆ่าตัวตาย และเมื่อได้มาดูศพมีข้อสงสัยหลายอย่าง เช่น คนที่ผูกคอฆ่าตัวตายทำไมขาติดพื้น และตามตัวมีรอยฟกช้ำหลายแห่งทั้งที่ขา และหน้าท้องเหมือนคนที่ถูกทำร้ายมาก่อน จึงขอเรียกร้องความเป็นธรรมให้ทางเจ้าหน้าที่ได้ให้ความความกระจ่างถึง สาเหตุการเสียชีวิตเพราะตนไม่เชื่อว่าบุตรชายจะคิดสั้นถึงกับฆ่าตัวตายเพราะ เขาไม่ได้ทำความผิดอะไร

ด้าน พ.อ.ปิยวัฒน์ นาควานิช หัวหน้าผู้ควบคุมศูนย์เสริมสร้างสันติสุข ซึ่งดูแลผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัว กล่าวว่า ก่อนเกิดเหตุ นายสุไลมาน ก็ใช้ชีวิตตามปกติรวมกับเพื่อนคนอื่นๆ คือ ตอนเย็นก็จะปล่อยให้มีการเล่นกีฬา กินข้าว พอกลางคืนก็อยู่ในห้องปกติซึ่งจะถูกคุมขังอยู่ห้องละ 1 คน เมื่อเช้าวันนี้เวลาประมาณ 07.00 ทางเจ้าหน้าที่จะนำอาหารให้กินปรากฏว่าประตูปิดจึงให้เพื่อนเข้าไปดูพบว่า นายสุไลมานเสียชีวิตแล้ว ส่วนสาเหตุของการฆ่าตัวตายนั้น ยังไม่ทราบแน่ชัดเนื่องจากว่าก่อนหน้านี้ไม่มีข้อบ่งชี้หรือมีภาวะความ เครียดที่จะนำไปสู่การฆ่าตัวตาย สำหรับการให้ความช่วยเหลือครอบครัวคงต้องรอให้ผู้บังคับบัญชาสั่งการเนื่อง จากเป็นเคสแรกที่เกิดขึ้น แต่ในเบื้องต้นก็ช่วยอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายศพกลับไปที่บ้าน ถ้าญาติต้องการความช่วยเหลือก็ยินดี

ด้านผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวอา มานรายงานว่า ขณะที่มีการเคลื่อนย้ายศพมาจากค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานีมายังบ้านที่กะดุนง อ.สายบุรี มีชาวบ้านจำนวนมากทั้งภายในหมู่บ้านและจากข้างเคียงเข้ามาดูศพและวิพากษ์ วิจารณ์ถึงสาเหตุการเสียชีวิต เมื่อทราบความจริงจากปากของมารดานายสุไลมานว่า ก่อนหน้าการเสียชีวิตหนึ่งวันได้เดินทางไปเยี่ยม สภาพร่างกายของนายสุไลมานก็ผิดปกติ เพราะเดินกะโผลกกะเผลก ซึ่งเขาบอกกับน้องสาวที่ไปกับมารดาว่า เขาไม่ไหวแล้ว ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงสงสัยว่านายสุไลมานไม่ได้ฆ่าตัวตายเอง

ผู้สื่อ ข่าวรายงานอีกว่า สื่อมวลชนจากหลายสำนักได้เข้าไปถ่ายรูปศพอย่างละเอียด เนื่องจากการชันสูตรพลิกศพครั้งแรกในค่ายอิงคยุทธฯ นั้น เจ้าหน้าที่ทหารไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปทำข่าวหรือบันทึกภาพ ซึ่งปรากฏว่า สภาพศพ มีเลือดออกบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก มีรอยแผลตามลำคอ เหมือนถูกรัดด้วยเชือกที่แข็งกว่าผ้าขนหนู

ขณะที่ แพทย์จากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สายบุรีที่เข้ามาตรวจสอบชันสูตรศพอีกรอบก็มีอาการเคร่งเครียดอย่างเห็นได้ ชัด มีการโทรปรึกษากับเพื่อนแพทย์ด้วยกันตลอดเวลา ก่อนจะบอกกับญาติๆ ว่าไม่สามารถชี้ชัดถึงสาเหตุของการเสียชีวิตได้ พร้อมกับเสนอให้ส่งศพไปผ่าตรวจสอบอย่างละเอียดที่สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยเพื่อนแพทย์ของตนจะรับดำเนินการติดต่อประสานงานให้

ด้าน นายอับดุลอาซิซ ตาเดอินทร์ ประธานฝ่ายสิทธิมนุษยชน สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ในฐานะคนกลางผู้ประสานงานเปิดเผยว่า ตนเองเห็นด้วยกับการส่งศพนายสุไลมานไปผ่าตรวจสอบอย่างละเอียดที่สถาบันนิติ เวช อ.หาดใหญ่ เพื่อทำให้ความจริงปรากฏแก่ทุกฝ่าย จะได้ไม่ติดใจข้อสงสัยและวิพากษ์วิจารณ์กันต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงาน เพิ่มเติมอีกว่า ประชาชนที่เข้ามาดูศพนายสุไลมานและญาติๆ ต่างเห็นด้วยกับการส่งศพนายสุไลมานไปดำเนินการตรวจสอบทางนิติเวช แต่เมื่อมีการพูดคุยในขั้นสุดท้ายกับพ่อผู้เสียชีวิตปรากฏว่า นายเจะแว ตัดสินใจที่จะฝังศพบุตรชายในเวลาประมาณสองทุ่มของวันนี้ (31 พฤษภาคม) เพราะหากส่งศพไปผ่าพิสูจน์จะทำให้นำกลับมาฝังล่าช้าไปหนึ่งวัน.


อ่านต่อ...

วันจันทร์, มิถุนายน 07, 2553

จนท.ปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่ อ.เจาะไอร้อง รวบ 7 ผู้ต้องสงสัยป่วนใต้

ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 เปิดเผยว่า จากการที่กองกำลังร่วม 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ได้ทำการปิดล้อมตรวจค้น ติดตามจับกุมบุคคลต้องสงสัยในพื้นที่หมู่ 14 ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ผลการปฏิบัติสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยและอาวุธปืนได้ คือปืนพกขนาด 11 มม.จำนวน 2 กระบอก พร้อมกระสุนปืนจำนวนหนึ่ง และโทรศัพท์มือถืออีกจำนวนหนึ่ง จากการตรวจสอบหมายเลขปืน พบว่าเป็นปืนที่ถูกปล้นไปจากกองพันพัฒนาที่ 4 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จำนวน 1 กระบอก พร้อมควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 7 คน โดยในระหว่างการดำเนินการหน่วยได้จัดชุดปฏิบัติการเข้าชี้แจงกับผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา และประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เข้าใจการปฏิบัติงานของฝ่ายราชการ ทำให้ครอบครัวของผู้ต้องสงสัยทั้ง 7 คน มีความเข้าใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มากขึ้น หวังว่าทางเจ้าหน้าที่จะหาหลักฐานมายืนยันข้อเท็จจริงได้ โดยที่ผู้ต้องสงสัยจะไม่เป็นผู้ต้องหาหรือแพะรับบาป อทิเช่น เหตุการณ์ที่ผ่านมา s;

อ่านต่อ...

วันอาทิตย์, มิถุนายน 06, 2553

โจรใต้ถล่ม3ศพ คนงานบ่อกุ้งซีพี

ตัดตอน - นายอับดุลเลาะห์ ดาโอ๊ะ ถูกคนร้ายซุ่มยิงเสียชีวิตหน้าบ้าน ที่อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. คาดว่าถูกแนวร่วมก่อความไม่สงบฆ่าปิดปาก หลังผู้ตายซึ่งเป็นอดีตแนวร่วมถูกจับกุม และเพิ่งพ้นโทษออกมาได้ 1 เดือน

โจรใต้ใช้อาก้าถล่มคนงานบ่อกุ้งซีพี 3 ศพ บาดเจ็บอีกราย ขณะเฝ้าบ่อกุ้งในหนอง จิก-ปัตตานี หลังก่อเหตุโรยตะปูเรือใบสกัดกั้นการติดตามของเจ้าหน้าที่ ส่วนที่นราธิวาส อดีตผู้ต้องขังคดีลักรถถูกยิงดับคาบ้าน เผยประวัติเป็นคนลักรถส่งขายต่อให้โจรใต้เพื่อทำจยย.บอมบ์ สงสัยถูกฆ่าตัดตอน

เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 5 มิ.ย. ร.ต.ท. วรพงษ์ สนพลอย ร้อยเวรสภ.ยี่งอ จ.นรา ธิวาส รับแจ้งมีเหตุคนถูกยิงเสียชีวิต หน้าบ้านเลขที่ 94 ม.1 บ้านลูโบะบายะ ต.ลูโบะบายะ จึงพร้อมด้วยพ.ต.อ.อภิรัฐ สังข์ขาว รองผบก.ภ.จว.นราธิวาส พ.ต.ท.มานพ วิวรรธนโรจน์ สว.ป.สภ.ยี่งอ และเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด นปพ. จ.นราธิวาส กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารจำนวนหนึ่ง รุดเดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ

เมื่อไปถึงพบศพผู้เสียชีวิตนอนจมกองเลือดอยู่บนพื้นดินหน้าบ้าน สภาพสวมกาง เกงขาสั้นสีดำ มีรอยถูกกระสุนปืนลูกซองที่หน้าอกและหน้าขาขวาหลายรู และทราบชื่อต่อมาคือ นายอับดุลเลาะห์ ดาโอ๊ะ อายุ 34 ปี เจ้าของบ้าน ซึ่งพ้นโทษจากเรือนจำนราธิวาสประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา ในข้อหาลักรถจักรยานยนต์ในพื้นที่อ.เมืองนราธิวาส ไปขายต่อให้กับกลุ่มคนร้ายนำไปประกอบระเบิดก่อเหตุในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงนำศพส่งร.พ.ยี่งอ
สอบสวนทราบว่า ในขณะที่ผู้ตายเดินลงบันไดออกจากบ้าน มีคนร้ายไม่ทราบจำนวนแฝงตัวอยู่ในป่าตรงข้ามบ้าน ใช้อาวุธปืนลูกซองยาวยิงใส่ผู้ตาย 3 นัด จนผู้ตายเสียชีวิต ส่วนกลุ่มคนร้ายหลบหนีไป เบื้องต้นคาดว่าเป็นฝีมือกลุ่มก่อความไม่สงบฆ่าปิดปาก

เวลา 18.30 น. พ.ต.ท.วีรชาติ คูหามุข รองผกก.สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี รับแจ้งเหตุคนร้ายใช้อาวูธปืนสงครามอาก้า ยิงคนงานบ่อกุ้งบริษัทซีพี บริเวณ ม.5 ต.บางเขา อ.หนองจิก เป็นเหตุให้คนงานเสียชีวิตทันที 3 ราย และบาดเจ็บสาหัสอีก 1 ราย ถูกนำส่งร.พ.หนองจิก ภายหลังรับแจ้งจึงได้รายงานผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับ ก่อนสนธิกำลังรุดไปตรวจสอบยังที่เกิดเหตุ แต่เนื่องจากจุดเกิดเหตุเป็นบ่อกุ้ง เส้นทางที่เปลี่ยว จึงต้องมีการวางแผงระมัดระวังมากเป็นพิเศษ โดยส่งหน่วยเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดเข้าไปเคลียร์พื้นที่ ก่อนกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าไปตรวจสอบ เพื่อป้องคนร้ายลอบวางระเบิด พบว่าระหว่างทางเข้าจุดเกิดเหตุ คนร้ายโปรยตะปูเรือใบเป็นจำนวนมาก เพื่อสกัดการเข้าไปของเจ้าหน้าที่

อ่านต่อ...

วันเสาร์, มิถุนายน 05, 2553

หยิบเรื่องการขอขึ้นเงินเดือนของสมาชิกรัฐสภาไทยมาชวนคุยวันนี้

ไม่ได้ตั้งใจจะโหนกระแสต่อต้านที่มองว่า นักการเมืองกลุ่ม ส.ว. ส.ส. เอาอะไรคิดถึงได้ขอขึ้นเงินเดือนให้แก่ตัวเอง ในสภาวะที่เศรษฐกิจไทยเต็มไปด้วยหนี้สินล้นพ้นตัว อาณาประชาราษฎร์ประสบปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง และรัฐบาลยังดิ้นรนกับแก้ปัญหา แถมตัวเองก็โดดประชุมจนสภาล่มบ่อยครั้ง แต่อยากชวนผู้อ่านตีโจทย์การเมือง พร้อมกับข้อเสนอแรงๆ ที่อาจเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไทย
ที่จริงการขึ้นเงินเดือนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองอื่นๆ เคยทำกันมาครั้งหนึ่งในสมัยรัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร แถมช่วงปลายสมัย ยังเคยมีความพยายามให้บำนาญนักการเมืองอีกด้วย แต่เป็นอันตกไปเพราะแรงต่อต้านจากสังคม การขอขึ้นเงินเดือนทุกครั้งมักอ้างเหตุผลยอดฮิต คือ เงินเดือนต่ำเอื้อให้เกิดคอร์รัปชัน หากต้องการแก้ปัญหาก็ต้องเพิ่มเงินเดือน เช่นเดียวกับที่ให้แก่ตำรวจ ให้ครู ด้วยข้ออ้างว่า ที่ทำงานไม่ได้ดีทุกวันนี้ เพราะเงินเดือนน้อยเกินไป
การจะบอกว่าเงินเดือนมากหรือน้อย คงต้องให้ผู้อ่านตัดสินใจเอง ตัวเลข คือ สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับเงินเดือน 63,000 บาท รวมกับเงินเพิ่มเงินเดือน (ก็ไม่รู้เพิ่มเพราะเหตุใด) อีก 41,000 บาท รวมสิ้นเดือนรับเบ็ดเสร็จ 104,000 บาท และยังมีสิทธิประประโยชน์อื่นๆ
อาทิเช่น เบี้ยประชุมอนุกรรมาธิการครั้งละ 500 บาท เบี้ยประชุมกรรมาธิการ 1,000 บาท ได้รับประกันสุขภาพในระหว่างการดำรงตำแหน่ง เดินทางโดยเครื่องบิน รถไฟ หรือรถโดยสารของรัฐฟรี กรณีไปปฏิบัติภารกิจต่างจังหวัดได้ค่าที่พักในประเทศแบบเหมาจ่ายไม่เกิน 1,600 บาทต่อวัน แน่นอนว่า ตำแหน่งประธาน และรองประธานรัฐสภา ย่อมได้รับเงินเดือนสูงกว่า ส.ส. และ ส.ว. ทั่วไป
นอกจากนั้น ส.ส. และ ส.ว. ยังสามารถไป "ดูงาน" ต่างประเทศด้วยเงินภาษีประชาชน ซึ่งพบว่าการเดินทางไปดูงานต่างประเทศของคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ใช้เงินรวมๆ กันปีละประมาณ 200 กว่าล้านบาท (ข้อมูลจาก http://www.tdw.polsci.chula.ac.th)
แนวคิดให้ค่าตอบแทนจำนวนสูงแก่นักการเมือง ก็เพื่อให้มีรายได้เพียงพอที่จะรักษาความซื่อสัตย์มีภาพลักษณ์ที่ดีในฐานะตัวแทนประชาชน แต่ในประวัติศาสตร์การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยนั้น ตัวแทนทางการเมืองไม่มีค่าตอบแทน แต่เป็นการทำหน้าที่เพื่อรักษาผลประโยชน์ โดยเฉพาะของผู้เสียภาษี ไม่ได้มองว่าการทำหน้าที่ตัวแทนและเข้าสู่การเมืองเป็น "อาชีพ" เจ้าของที่ดิน นักหนังสือพิมพ์ หมอ ต่างก็มีรายได้จากอาชีพประจำของตน กรรมกรเหมืองแร่ คนงานรถไฟที่เข้าสู่การเมืองในอดีตก็ยังคงเป็นกรรมกร เพียงแต่หยุดงานชั่วคราวมาทำหน้าที่ในสภา แต่การหยุดงานของผู้ใช้แรงงานหมายถึงการขาดรายได้ สหภาพและกลุ่มผู้ใช้แรงงานจึงเรียกร้องผลักดันให้นักการเมืองเริ่มมีเงินเดือน เพื่อที่พวกเขาจะได้เข้าไปเป็นตัวแทนในสภาได้โดยไม่อดตาย
การเป็นตัวแทนในอดีตจึงมีพื้นฐานจาก "การทำงานให้สังคม" ไม่ใช่เป็น "อาชีพนักการเมือง" (career politician) ที่พัฒนามาเป็น "นักการเมืองอาชีพ" เช่นทุกวันนี้
ส.ส. และ ส.ว.ไทยส่วนใหญ่มีมุมมองว่าการทำงานการเมืองเป็นอาชีพ จึงต้องการความก้าวหน้า ต้องการเงินเดือนขึ้น และขวนขวายไต่เต้า อาทิเช่น จากเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ไปเป็นรัฐมนตรี จึงมีปรากฏการณ์ความขัดแย้งแย่งชิง และซื้อตำแหน่ง และเมื่อประกอบอาชีพนักการเมืองหลายปีเข้า ก็จะเริ่มทำตัวเป็น นักการเมืองอาชีพ ที่ใช้กลยุทธ์และเทคนิคทางการเมืองกีดกันคู่แข่ง แสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัว จนในที่สุด ไม่สามารถเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นได้อีกต่อไป เพราะเสพติดอำนาจ ผลประโยชน์ และอภิสิทธิ์ ขนาดมีอดีต ส.ส.บางคน เมื่อกลายเป็น ส.ส. สอบตก ไม่กล้าขับรถผ่านรัฐสภา เพราะทำใจไม่ได้
ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้น ไม่มีสมาชิกรัฐสภาที่เป็นนักการเมืองเต็มเวลา แต่ล้วนเป็นนักการเมืองพาร์ทไทม์ทั้งสิ้น ทำงานในสมัยประชุมรัฐสภา ที่ประชุมปีละ 4 ครั้งๆ ละ 3 สัปดาห์ เขาและเธอเหล่านี้ได้รับค่าตอบแทนน้อยมาก (เมื่อเทียบกับอาชีพอื่น) เพราะสังคมสวิตเซอร์แลนด์คาดหวังว่า ส.ส. และ ส.ว.ของเขามีรายได้จากอาชีพประจำอยู่แล้ว ดังนั้น ค่าตอบแทนจากการทำงานการเมือง จึงได้ตามจำนวนวันที่ทำงานจริงๆ!
แน่นอนว่า อาจก่อให้เกิดคำถามถึงประสิทธิภาพและการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของสมาชิกรัฐสภาที่บางคนมีอาชีพเป็นนักธุรกิจหรือกรรมการในบริษัทต่างๆ แต่คนสวิสก็ยังเชื่อว่านักการเมืองพาร์ทไทม์เช่นนี้ดีกว่านักการเมืองอาชีพเงินเดือนสูงในหลายประเทศ ที่ก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนและคอร์รัปชันน้อยลงได้ แถมนักการเมืองพาร์ทไทม์ยังใช้ความเป็นมืออาชีพ และความรู้ในหน้าที่การงาน มาทำให้การตัดสินใจของรัฐสภามีคุณภาพอีกด้วย
ดังนั้น ข้ออ้างว่าเงินเดือนที่สูงขึ้นจะช่วยลดการคอร์รัปชันและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของนักการเมืองจึงเป็นอันตกไป ยิ่งถ้ามองว่าเงินเดือนนักการเมืองต่ำกว่าเงินเดือนนักธุรกิจ คนจึงไม่อยากเสียสละมาทำงานการเมือง ยิ่งฟังไม่ขึ้น เพราะทุกวันนี้ ต้องบอกว่าวงการการเมืองแข่งขันสูงมาก และนับวันจะมีแต่คน "วงใน" แสดงว่าการเมืองมีเสน่ห์ดึงดูด น้อยนักที่เล่นการเมืองแล้วเลิกไปเฉยๆ มีแต่ชวนลูกจูงหลานเข้ามาสู่การเมืองมากขึ้น
ข้อเรียกร้องที่พูดกันมาก ว่า เมื่อขึ้นเงินเดือนแล้ว ส.ส. และ ส.ว. ต้องหยุดรับรายได้แฝง หยุดคอร์รัปชัน หยุดกินคอมมิชชั่นใต้โต๊ะ ต้องไม่ขาดประชุมสภา ต้องแก้ปัญหาประชาชน เป็นเรื่องฝันลมๆ แล้งๆ ตราบใดที่ยังไม่มีกลไกตรวจสอบ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐสภาที่ไม่เต็มใจให้ข้อมูลการทำงานในสภาของเหล่า ส.ส. และ ส.ว. การคอร์รัปชันและปรากฏการณ์สภาล่มก็จะยังคงมีต่อไป
สังคมไทยน่าจะลองพิจารณายกเลิกระบบเงินเดือน แล้วหันมาให้ค่าตอบแทนนักการเมืองเป็นเบี้ยประชุมที่สูงขึ้นแต่จ่ายให้ตามจำนวนวัน เวลาที่ทำงานในสภา แบบนี้น่าจะเป็นทางลัดช่วยล้างบางนักการเมืองน้ำเน่าที่ยึดเอาการเมืองเป็นอาชีพ และสร้าง "นักการเมืองพลเมือง" (citizen politician) ที่มีวัฒนธรรมทำงานให้สังคม ที่สำคัญ จะช่วยลดธรรมเนียมปฏิบัติที่พรรคการเมืองครอบงำความคิดและการตัดสินใจของ ส.ส. เพราะ ส.ส. ขาดความรู้ความเข้าใจ ได้แต่ทำตามมติพรรค
แต่กฎหมายยกเลิกระบบเงินเดือน ส.ส. และ ส.ว. ไม่มีทางผ่านสภาได้อย่างแน่นอน ถ้าประชาชนอยากได้คงต้องช่วยกันคิดดูกันล๊ะครับ

อ่านต่อ...

สกัดเรือไปกาซ่าซ้ำ ยิวเมินโลก นักต่อสู้ยันไม่ถอย

อิสราเอล เมินกระแสต่อต้านชาวโลก สั่งสกัดจับเรือบรรเทาทุกข์ ที่มุ่งหน้าจะไปช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ ในฉนวนกาซ่า อีกเป็นครั้งที่ 2 ด้าน นักต่อสู้เพื่อสันติภาพยันไม่ถอย...

สำนักข่าวอัลจาซีร่า รายงานว่า องค์กรระหว่างประเทศ “ฟรี กาซ่า มูฟเมนต์” ซึ่งรณรงค์ด้านการปลดปล่อยดินแดนกาซ่าในอิสราเอลโดยยึดหลักสันติวิธี และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ไซปรัส ส่งเรือบรรเทาทุกข์ช่ื่อว่า “เรเชล คอร์รีย์” เดินทางไปยังฉนวนกาซ่าในอิสราเอลเมื่อ 4 มิ.ย.
เพื่อนำเสบียงอาหาร รถเข็นคนพิการ อุปกรณ์การแพทย์ และปูนซีเมนต์ ไปมอบให้แก่ชาวปาเลสไตน์ ในกาซ่ากว่า 1.5 ล้านคน ซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายปิดกั้น ของรัฐบาลอิสราเอล ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2550 โดยอ้างว่าต้องการสกัดกั้นเส้นทางลำเลียงอาวุธของกองกำลังฮามาส ซึ่งยึดครองฉนวนกาซ่า มาจนถึงปัจจุบัน

โดย สมาชิกบนเรือเรเชล คอร์รีย์ มีทั้งหมด 11 คน ส่วนใหญ่เป็นนักรณรงค์เพื่อสันติภาพ รวมถึงนางแมเรียด คอร์ริแกน แม็คไกวร์ นักต่อสู้เพื่อสันติภาพจากไอร์แลนด์เหนือ ผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2519 และนายเดนิส ฮอลลิเดย์ อดีตผู้ประสานงานด้านมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำอิรัก ซึ่งประกาศว่าจะแล่นเรือไปเทียบท่าฉนวนกาซ่า แทนการจอดเรือที่ท่าเรือในเมืองแอชด็อด ตามคำสั่งรัฐบาลอิสราเอล เพราะต้องการเรียกร้องให้ยุตินโยบายปิดกั้นกาซ่าโดยเร็วที่สุด แต่ยืนยันว่าจะไม่ขัดขืนหรือต่อสู้หากทหารอิสราเอล นำกำลังบุกยึดเรือเพื่อตรวจค้นสัมภาระทั้งหมด

ด้านนายไมค์ แฮมเมอร์ โฆษกสภาความมั่่นคงประจำทำเนียบขาวสหรัฐฯ ประกาศเตือนลูกเรือในเรือเรเชล คอร์รีย์ ให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังน่านน้ำฉนวนกาซ่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง ซ้ำรอย กรณีที่หน่วยคอมมานโดของรัฐบาลอิสราเอล นำกำลังบุกยึดเรือบรรเทาทุกข์สัญชาติตุรกี ชื่อว่า “มาวี มาร์มาร่า” เมื่อ 31 พ.ค.และสังหารนักกิจกรรมทางสังคมชาวตุรกีและชาวอเมริกัน เสียชีวิต 9 ราย ทำให้อิสราเอลถูกประณามจากนานาชาติอย่างรุนแรง

ทว่าโฆษกกองกำลังรักษาความมั่นคงแห่งชาติอิสราเอล (ISF) ระบุว่าเรือเรเชล คอร์รีย์ ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามรุกล้ำน่านน้ำอิสราเอล บริเวณฉนวนกาซ่า ทำให้อิสราเอลไม่มีทางเลือก จึงต้องนำกำลังบุกเข้าสกัดกั้น และนำเรือไปตรวจค้นที่เมืองแอชด็อด เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น.ตามเวลาท้องถิ่นวันที่ 5 มิ.ย.หรือประมาณ 17.30 น.ตามเวลาไทย

พร้อมยืนยันว่าลูกเรือทั้งหมดปลอดภัยดี ทั้งนี้ เรือเรเชล คอร์รีย์ เป็นเรือสัญชาติไอริช ซึ่งตั้งชื่อตามนักศึกษาหญิงชาวอเมริกัน ที่เสียชีวิตหลังบุกเข้าขวางทางรถแทรกเตอร์ของอิสราเอล ซึ่งถูกส่งเข้าไปทำลายบ้านเรือนชาวปาเลสไตน์เมื่อปี 2546

อ่านต่อ...

วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 03, 2553

อาศัยความมืดจุดระเบิดบึ้มทางเข้าฐานหน่วยพัฒนาสันตินราธิวาส

เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารจำนวนหนึ่ง เดินทางไปตรวจสอบเหตุระเบิด ที่บริเวณทางเข้าหน่วยพัฒนาสันติที่ 31-11 กรมทหารพรานที่ 45 ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามโรงเรียนบ้านยานิง ม.2 ต.จวบ ส่งผลทำให้เจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 1 นาย คือ อาสาสมัครทหารพรานอมร บุญทอง อายุ 27 ปี เหตุเกิดเมื่อช่วงคืนที่ผ่านมา ในที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่พบกลุ่มคนร้าย แฝงตัวนำระเบิดแสวงเครื่องแบบเคโม ที่ประกอบใส่ไว้ในกล่องเหล็ก หนัก 5 ก.ก. จุดชนวนด้วยมือถือ วางไว้ใต้โคนต้นไม้ปากทางเข้าฐานปฏิบัติการณ์หน่วยพัฒนาสันติที่ 31-11 ทำให้โคนต้นไม้มีหลุมลึก 2 ฟุต กว้าง 4 ฟุต และมีเศษซากชิ้นส่วนของระเบิดกระจายเกลื่อนพื้นถนนริมทาง เจ้าหน้าที่จึงได้เก็บรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน
จากการสอบสวน ส.ท. อิทธิชัย เพชรรัตน์ทอง อายุ 29 ปี สังกัดหน่วยพัฒนาสันติที่ 31-11 กรมทหารพรานที่ 45 ทราบว่า ก่อนเกิดเหตุตนได้ขับรถยนต์เก๋งของ อส.ทพ.อมรออกจากฐาน โดย อส.ทพ.อมร นั่งคู่กันไปด้วย เพื่อเดินทางไปรับคอมพิวเตอร์ที่นำไปซ่อมไว้ในตลาดเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส เมื่อแล้วเสร็จตนได้ขับรถยนต์เก๋งไปรับ นางวิมล บุญทอง ซึ่งเป็นพี่สาวของ อส.ทพ.อมร นั่งรถมาด้วยรวม 3 คน เนื่องจาก นางวิมล มีความจำเป็นต้องใช้รถยนต์เก๋งของ อส.ทพ.อมร ไปทำธุระในวันรุ่งขึ้น และเมื่อตนขับรถยนต์เก๋งถึงบริเวณปากทางเข้าฐาน อส.ทพ.อมร จึงได้เปิดประตูรถ เพื่อเดินไปเปิดประตูทางเข้าฐาน ทันใดนั้นได้มีคนร้ายไม่ทราบจำนวน อาศัยความมืดแฝงตัวอยู่ในละแวกจุดเกิดเหตุ ได้ใช้มือถือจุดชนวนระเบิดที่นำไปวางไว้ต้นโคนต้นไม้ปากทางเข้าฐาน จนเกิดระเบิดขึ้นเสียงดังสนั่นหวั่นไหว ทำให้ อส.ทพ.อมร ถูกแรงอัดของอนุภาพระเบิดมีอาการหูอื้อและแน่นหน้าอก ส่วนรถยนต์เก๋งถูกสะเก็ดระเบิดได้รับความเสียหายที่บริเวณตัวถังด้านซ้าย และต่อมาตนจึงได้นำตัว อส.ทพ.อมร ส่งรักษาโรงพยาบาลเจาะไอร้องดังกล่าว
ป่วนใต้ขี่จยย.ประกบยิงครูปัตตานีดับต่อหน้าเพื่อน
เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 3 มิ.ย.มีเหตุยิงกันบนถนนสายโคกโพธิ์-เทพา หน้าปั้มน้ำมันบางจาก ม.2 บ้านกาโผะ ต.โคกโพธิ์ จึงนำกำลังตำรวจ ทหาร ไปที่เกิดเหตุ พร้อมด้วย พล.ต.ต.พิเชษฐ์ ปิติเศรษฐพันธ์ ผบก. ไปถึงพบรถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่า ทะเบียน ฌ 7700 ปัตตานี ล้มข้างทางและมีกองเลือดจำนวนมาก ส่วนคนเจ็บถูกนำส่ง รพ.โคกโพธิ์ ทราบชื่อ นายบุญนำ ยอดนุ้ย อายุ 41 ปี เป็นครูโรงเรียนบ้านท่าคลอง ถูกยิงด้วยอาวุธปืนพกสั้นขนาด .38 เข้าลำตัว 3 นัด อาการสาหัส แพทย์ได้ช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่เสียเลือดมากกระทั่งเสียชีวิตในเวลาต่อมา
สอบสวนก่อนเกิดเหตุทราบว่า ขณะที่ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์เพื่อเดินทางกลับบ้านพัก โดยมีเพื่อนครูขับรถ จยย.ตามหลังมาด้วย จำนวน 5 คัน ปรากฏว่ามาถึงที่เกิดเหตุ มีคนร้าย 2 คนขี่รถจักรยานยนต์ตามประกบ จากนั้นได้ชักอาวุธปืนกระหน่ำยิงผู้ตายทันทีหลายนัด ต่อหน้าเพื่อนครูที่ขับรถตามหลัง ทำให้รถเสียหลักล้มข้างทาง หลังก่อเหตุคนร้ายได้เร่งเครื่องหลบหนีผ่านด่านไป

อ่านต่อ...

วันพุธ, มิถุนายน 02, 2553

โจรใต้ลอบยิงหน่วยรบพิเศษ เจ็บ 1 นาย

เกิดเหตุคนร้ายลอบยิงเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยรบพิเศษ ขณะลาดตระเวนเส้นทาง พื้นที่หมู่ 1 ต.ปุโรง อ.กรงปินัง จ.ยะลา เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 1 นาย ขณะนี้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลศูนย์ยะลา และกำลังเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจที่ 13 อ.กรงปินัง กำลังเข้าเคลียร์และปิดล้อมพื้นที่เกิดเหตุ

คนร้ายวางบึ้มชุดรปภ.ครูบาเจาะบาดเจ็บ2ราย
วันนี้(2มิ.ย.)นราธิวาส-เมื่อเวลา 08.10 น. ร.ต.อ. สุชาติ หมีลำพอง ร้อยเวร สภ.บาเจาะ จ.นราธิวาส รับแจ้งเหตุคนร้ายจุดชนวนระเบิดเจ้าหน้าที่ตำรวจชุด รปภ.ครูบนถนนเพชรเกษมสายนราธิวาส-ปัตตานี ช่วงบริเวณหน้าโรงเรียนปะลุกานากอ เขตเทศบาลตำบลบาเจาะ ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย จึงพร้อมด้วย พ.ต.อ. อภิรัฐ สังข์ขาว รอง ผบก.ภ.จ.นราธิวาส พ.ต.อ. จำลอง งามเนตร ผกก.สภ.บาเจาะ พ.ต.ท. จันที แจ่มจันทร์ หัวหน้ากองพิสูจน์หลักฐาน จ.นราธิวาส และเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด นปพ.จ.นราธิวาส รวมทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารจำนวนหนึ่งรุดเดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ
พบรถ จยย.ยี่ห้อซูซกิ สีน้ำเงินบรอนส์ ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนล้มตะแคงอยู่ริมถนนข้างต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกไว้ริมทาง นอกจากนี้ที่บริเวณโคนต้นไม้ใหญ่เจ้าหน้าที่พบหลุมระเบิด ลึก 5 ฟุต กว้าง 8 ฟุต โดยมีเศษซากชิ้นส่วนของระเบิดแสวงเครื่องที่คนร้ายประกอบใส่ไว้ในกล่องเหล็ก หนัก 5 ก.ก. จุดชนวนด้วยโทรศัพท์มือถือ ตกกระจายเกลื่อนถนน ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บเพื่อนตำรวจได้นำตัวส่งรักษาโรงพยาบาลบาเจาะไปก่อนหน้าแล้ว เจ้าหน้าที่จึงได้เก็บรวบรวมหลักฐานในที่เกิดเหตุ
ต่อมาจึงได้เดินทางไปดูอาการผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาลทราบชื่อ คือ 1. ส.ต.ท. สนธยา อุดหลี ซึ่งถูกสะเก็ดระเบิดที่บริเวณแขนซ้าย ขาซ้าย 2. ส.ต.ท. วีระพงศ์ ศรีสวัสดิ์ ซึ่งถูกสะเก็ดระเบิดที่บริเวณหัวไหล่ซ้าย ข้อศอก ซึ่งต่อมาเมื่อแพทย์ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วเสร็จได้นำตัวส่งรักษาโรงพยาบาลนราธิวาสในเวลาต่อมา
จากการสอบสวน ร.ต.ท. แวยีดิง อิสาเฮาะ สารวัตรป้องกันและปราบปราม สภ.บาเจาะ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าชุด รปภ.ครู ก่อนเกิดเหตุได้นำกำลัง รวม 8 นาย ขี่รถ จยย. 2 คัน 4 นายและนั่งรถยนต์สายตรวจอีก 1 คัน รวม 4 นาย ออกจาก สภ.บาเจาะ เพื่อทำหน้าที่ รปภ.ส่งครูโรงเรียนปะลุกานากอ เมื่อแล้วเสร็จได้ ร.ต.อ. แวยีดิง หัวหน้าชุด ได้นั่งรถยนต์สายตรวจนำคณะตำรวจเพื่อเดินทางกลับ สภ.บาเจาะ
โดยมี ส.ต.ท.สนธยา และ ส.ต.ท.วีระพงศ์ ขี่และซ้อนท้าย รถ จยย.ตามหลัง และเมื่อถึงที่เกิดเหตุได้มีคนร้ายแฝงตัวอยู่ ได้ใช้โทรศัพท์มือถือจุดชนวนระเบิดที่นำไปวางไว้ใต้โคนต้นไม้ใหญ่ริมทาง จึงเกิดระเบิดขึ้นในขณะที่ ส.ต.ท.สนธยา และ ส.ต.ท. วีระพงศ์ ขี่รถ จยย.ผ่าน จนส่งผลทำให้ทั้ง 2 นายได้รับบาดเจ็บดังกล่าว

โจรใต้ปะทะ ตร.บาเจาะ ก่อนกดบึ้ม เจ็บ 3 นาย
เกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบกลุ่ม ประมาณ 3-4 คน ใช้อาวุธปืนสงครามอาก้ายิงใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดคุ้มครองครู ปฏิบัติหน้าที่ภายในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 9 บ้านลุโบะสาวอ หมู่ 2 ต.ลุโบะสาวอ อ.เบาเจาะ จ.นราธิวาส ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นาย ยิงตอบโต้คนร้าย วิ่งหนีไปทางด้านข้างโรงเรียน ทำให้ครูและนักเรียน กว่า 300 คน วิ่งหลบกระสุนชุลมุน จากนั้นผู้ปกครองเดินทางมารับบุตรหลานกลับบ้านอย่างโกลาหน
ต่อมาเจ้าหน้าที่นำกำลังเข้ามาสนับสนุน คนร้ายจึงกดระเบิดซ้ำ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 3 นาย ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล อ.บาเจาะ
จากเหตุการณ์ที่เกิดส่งผลให้ครูและนักเรียนเกิดความหวาดกลัว จึงได้ประกาศปิดการเรียนการสอนชั่วคราว

โจรใต้ใช้M16 ยิงถล่มผญบ.รือเสาะสาหัส
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 2 มิ.ย. 53 ร.ต.ท. อาทิตย์ เทียนศิริ ร้อยเวร สภ.รือเสาะ จ.นราธิวาส รับแจ้งมีเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนสงคราม เอ็ม.16 ยิงถล่มใส่รถยนต์กระบะ ที่บริเวณโค้งมะโยง ม.2 บ้านยะบะ ต.รือเสาะ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ที่เกิดเหตุพบรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า วีโก้ สีบรอนส์ทอง จอดเสียหลักอยู่ริมถนน ในสภาพกระจกหน้า ฝากระโปรง และตัวถังด้านคนขับ มีร่องรอยถูกกระสุนปืนเอ็ม.16 แตกละเอียดเป็นรูพรุน พร้อมด้วยกองเลือดจำนวนหนึ่งตกอยู่ที่บริเวณเบาะคนขับ ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บมีพลเมืองดีนำตัวส่งรักษาโรงพยาบาลรือเสาะไปก่อนหน้าแล้ว ในที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่พบปลอกกระสุนปืน เอ็ม.16 ตกอยู่บนถนน จำนวน 14 ปลอก จึงได้เก็บรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน
ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปดูอาการผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาลทราบชื่อ คือ นาย นาวี แวหะมะ อายุ 51 ปี ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านสะโล ม.7 ต.รือเสาะ มีลาดแผลถูกกระสุนปืน เอ็ม.16 ที่บริเวณแขนขวา หัวไหล่ขวา ขาซ้าย จำนวน 3 นัด อาการสาหัสแพทย์ได้ส่งตัวรักษาต่อที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
จากการสอบสวนทราบว่า ก่อนเกิดเหตุผู้บาดเจ็บได้ขับรถยนต์ออกจากบ้านพัก โดยมีภรรยาและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน รวม 4 คน เพื่อเดินทางไปประชุมประจำเดือนที่อำเภอรือเสาะ เมื่อแล้วเสร็จผู้บาดเจ็บได้ขับรถยนต์กลับบ้านพัก ถึงที่เกิดเหตุได้มีคนร้าย 1 คน วิ่งออกจากป่าข้างทาง ใช้อาวุธปืนสงคราม เอ็ม.16 ยิงใส่ถล่มใส่รถยนต์กระบะของผู้บาดเจ็บ จำนวน 14 นัดซ้อน เมื่อผู้บาดเจ็บถูกกระสุนปืน รถได้เสียหลักตกไหล่ทาง แล้วคนร้ายได้ถือปืนวิ่งหลบหนีเข้าไปในป่ารกทึบ จนกระทั่งมีพลเมืองดีมาประสบเหตุ และได้นำผู้บาดเจ็บส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลรือเสาะดังกล่าว ส่วนสาเหตุเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นการกระทำของกลุ่มผู้ไม่หวังดี เพื่อดักสังหารคนของทางการรายวัน

ยิงชาวบ้านดับ 1 สาหัส 1 ขณะขี่ จยย. ที่ ต.จะกว๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา
เวลา 18.50 น. วันที่ 2 มิถุนายน ศูนย์วิทยุ สภ.จะกว๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา ได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุยิงกันมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ที่ถนนภายในหมู่บ้าน ที่หมู่ 3 บ.ปูลาสะนอ ต.จะกว๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา จึงได้แจ้ง พล.ต.ต.สายัณห์ กระแสแสน ผบก.ภ.จว.ยะลา ทราบ พร้อมประสานกำลังเจ้าหน้าที่ทหารชุดหน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ 12 รุดไปตรวจสอบที่เกิดเหตุทันที

เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่พบเพียงรถจักรยานยนต์ล้มอยู่ ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลรามัน ไปก่อนหน้าแล้วทราบชื่อคือ นายบุญส่ง มณีโชติ อายุ 31 ปี ชาว ต.ตะโล๊ะหะลอ อ.รามัน จ.ยะลา ถูกยิงด้วยอาวุธปืนไม่ทราบขนาดเข้าที่ลำตัว เสียชีวิตขณะนำส่งโรงพยาบาล และ นายอายุ หะตะมะ อายุ 32 ปี อยู่บ้านเลขที่ 28 ม.3 ต.จะกว๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา ได้รับบาดเจ็บ ล่าสุดถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลศูนย์ยะลา

จากการสอบสวนเบื้องต้นทราบว่า ในขณะที่ นายบุญส่ง และนายอายุ กำลังขี่รถจักรยานยนต์ ผ่านตรงจุดเกิดเหตุ คนร้ายไม่ทราบจำนวนได้ใช้อาวุธปืนไม่ทราบขนาดยิงใส่ จนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตดังกล่าว ก่อนที่คนร้ายจะหลบหนีไป เบื้องต้นคาดเป็นฝีมือของกลุ่มก่อเหตุรุนแรงที่ต้องการสร้างสถานการณ์ในพื้นที่

อ่านต่อ...

วันอังคาร, มิถุนายน 01, 2553

ครีมลดรอยย่น สกัดใหม่ หวัง5หมื่นล้าน

ทีเซลล์จับมือ มอ.“สกัดน้ำยางพารา” ทำครีมเปลี่ยนสีผิว ลดรอยเหี่ยวย่น หวังกวาดรายได้ 50,000 ล้านบาท ต่อยอดงานศึกษาวิจัยทางวิชาการในประเทศ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย หรือ TCELS ได้จัดให้มีพิธีลงนามสัญญาความร่วมมือ ระหว่าง รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และ พล.ร.อ.ฐนิธ กิตติอำพน ผู้อำนวยการ OKMD เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพน้ำยางพารา สำหรับผลิตเป็นชีวเคมีใช้ในเครื่องสำอางประเภทมูลค่าสูง
พล.ร.อ.ฐนิธ กิตติอำพน ผู้อำนวยการ OKMD กล่าวว่า ในปีนี้ OKMD ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา ในการสนับสนุนทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลาฯ ซึ่งมี ศ.ดร.รพีพรรณ วิทิตสุวรรณกุล เป็นหัวหน้าทีม ในการศึกษาวิจัยสารสกัดจากยางพารา ซึ่งเป็นสารที่ได้จากธรรมชาติ มีความปลอดภัย เพื่อผลิตเป็นเครื่องสำอาง 2 ชนิด คือ ครีมเปลี่ยนสีผิวขาวให้เป็นผิวสีแทน โดยไม่ต้องอาบแดด เพราะขณะนี้ทั่วโลกประสบปัญหาโลกร้อน รังสียูวีแรงมาก ซึ่งเสี่ยงเกิดมะเร็งผิวหนัง 2.ครีมลดริ้วรอยเหี่ยวย่น ในสุภาพบุรุษและสตรีที่อายุมาก ให้ดูอ่อนกว่าวัย เนื่องจากขณะนี้ทีมนักวิจัยดังกล่าวได้ค้นพบว่าในน้ำยางพารา ที่เคยนำมาสกัด และผลิตเป็นครีมหน้าขาว จนประสบผลสำเร็จในเชิงธุรกิจไปแล้วในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ยังมีสารเคมีอีกหลายตัวที่นำมาต่อยอดเชิงธุรกิจ ใช้ประโยชน์ในการผลิตเวชสำอาง ซึ่งครีมทั้ง 2 ชนิด ที่เป็นที่ต้องการของท้องตลาดเป็นอย่างสูง โดยจะใช้เวลาศึกษา 1 ปี

พล.ร.อ.ฐนิธ กล่าวต่ออีกว่า OKMD มีนโยบายหลักในการสนับสนุนต่อยอดงานศึกษาวิจัยทางวิชาการในประเทศ ให้ถึงขั้นเกิดเป็นธุรกิจ เพื่อการแข่งขันของประเทศไทยในตลาดโลก ขณะนี้ผลงานการศึกษาต่างๆ ที่ TCELS ให้การสนับสนุน ได้รับการคัดเลือกจากวารสาร The Scientist ซึ่งเป็นวารสารด้านวิทยาศาสตร์ระดับโลก ให้ลงผลงานของหน่วยงานในฉบับพิเศษเดือนพฤษภาคม ซึ่งแจกให้กับผู้เข้าร่วมงานกว่า 20,000 คนในการประชุมนานาชาติด้านชิววิทยา ประจำปี 2553 ( Bio International 2010 ) ที่จัดในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อเร็ว ๆ นี้ และเป็นที่น่ายินดีว่านักลงทุนจากประเทศสหรัฐอเมริกาสนใจโครงการวิจัยสาร สกัดจากยางพารา และ เสนอตัวขอร่วมทุนกับ TCELS ซึ่งจะได้หารือถึงแนวทางความร่วมมือในรายละเอียดต่อไป

ด้านรศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวว่า งานวิจัยสารสกัดจากยางพารานี้ หากสำเร็จ จะถือว่าเป็นผลงานชิ้นแรก และเป็นชิ้นโบว์แดงของประเทศไทย แสดงถึงศักยภาพนักวิจัยไทย ที่สามารถพัฒนาสารจากธรรมชาติตามมาตรฐานสากลว่าปลอดภัย และมีมากในท้องถิ่น มาใช้ในเวชสำอางแข่งขันในระดับโลกได้ สามารถนำรายได้สู่ประเทศไทยอย่างมหาศาล ล่าสุดตลาดเครื่องสำอางประเภทต่อต้านความแก่ (Anti aging) ในตลาดโลก มีมูลค่าประมาณ 65,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.3 ล้านล้านบาทต่อปี ส่วนตลาดผลิตภัณฑ์ย้อมสีผิว จำพวกแทนนิ่ง (Tanning Lotion) ครีมเปลี่ยนสีผิวจากขาวเป็นสีน้ำตาล มูลค่าปีละ 50,000 ล้านบาท

ด้าน ศ.ดร.รพีพรรณ วิทิตสุวรรณกุล ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยสารสกัดจากยางพารา กล่าวว่า ทีมงานวิจัยได้ค้นพบว่าในน้ำยางพาราดิบ นอกจากมีสารสกัดเอชบี (Hb Extract) ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้ผิวขาว ผิวมีสุขภาพดีแล้ว ในน้ำยางยังมีสาร 3 ชนิด ได้แก่ 1. เบต้ากลูแคน (Beta glucan) ที่ละลายน้ำได้ มีฤทธิ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบภูมิคุ้มกันให้เซลส์ผิว ช่วยกระตุ้นการสร้างใยคอลลาเจน (collagen) ในเซลล์ได้ เมื่อใช้ทาที่ผิวหนัง สารจะสามารถซึมผ่านช่องว่างระหว่างเซลล์เข้าสู่เซลล์ผิวชั้นใน สามารถลดริ้วรอยเหี่ยวย่น ช่วยให้ดูอ่อนกว่าวัย ชะลอความแก่ได้ 2. สารเมทิลไทโออดีโนซีน หรือสารเอ็มทีเอ (MTA:Methylthioadenosine) และ 3.สารคิวบราซทอล (Quebrachitol) ที่ได้จากขั้นตอนการสกัดสารให้บริสุทธิ์ ซึ่งสารคิวบราชิตอลนี้ ปัจจุบันมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในรูปของสารบริสุทธิ์ ใช้เป็นสารตั้งต้นสำหรับวิจัยพัฒนาตัวยาใหม่ในการรักษามะเร็ง ใช้เป็นยาช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารบ้างแล้ว รวมทั้งใช้ในเวชสำอางเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง ส่วนปัจจุบันสารเอ็มทีเอ มีการใช้ในเวชสำอางประเภทบำรุงผิว ปรับสีผิวและเส้นผมให้เข้มขึ้น ดูเปล่งปลั่งมีชีวิตชีวา โดยสารเอ็มทีเอจะไปเพิ่มการสร้างสีน้ำตาลหรือดีเอชไอซีเอ-เมลานิน( DHICA-melanin) ทำให้ผิวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือสีแทนไป ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของชาวผิวขาวเช่น ยุโรป อเมริกา แคนาดา หรือในเอเชียบางประเทศ เช่นญี่ปุ่น เกาหลี จึงนิยมการอาบแดดเพื่อให้ผิวเป็นสีน้ำตาล เพื่อไปงานปาร์ตี้ ใช้ในการแสดง หรือแม้แต่การใช้ในชีวิตประจำวัน

"เนื่องจากรังสียูวีจากแสงแดด เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งผิวหนัง ดังนั้นจึงหันไปใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมสีผิวจำพวกแทนนิ่งโลชั่นแทน โดยเฉพาะการพัฒนาโลชั่นเปลี่ยนสีผิวนี้ คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 3 เดือนจากนั้นจะผลิตมาเพื่อทดลองในสัตว์ทดลองหรืออาสาสมัครกลุ่มเล็กๆ ก่อนและเพิ่มจำนวนตามมาตรฐานสากลของการวิจัยต่อไป คาดว่า ผลวิจัยจะเสร็จสมบูรณ์แบบภายในเดือน มิ.ย.2554" ศ.ดร.รพีพรรณกล่าว

อ่านต่อ...

About This Blog

รายการบล็อกของฉัน

รายการบล็อก

Our Blogger Templates Web Design

  © Blogger templates The Professional Template by Ourblogtemplates.com 2008

Back to TOP