วันพุธ, มิถุนายน 23, 2553

ว่าด้วยการตายของ สุไลมาน แนซา กับผลสะเทือนรุนแรงกว่าที่คาด

น้องๆ นักข่าวในสามจังหวัดเล่าให้ผมฟังว่า ประเด็นการเสียชีวิตของ สุไลมาน แนซา ในลักษณะผูกคอตายคาค่ายทหารนั้น ยังเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในพื้นที่ แม้ว่าฝ่ายความมั่นคงจะออกมาชี้แจงแสดงหลักฐานอย่างหนักแน่นว่าเป็นการผูกคอตายเองก็ตาม
และแน่นอนว่าประเด็นนี้ถูก "ฝ่ายที่คิดตรงข้ามกับรัฐ" นำไปขยายผลอย่างกว้างขวางในหมู่พี่น้องประชาชน เพราะเกี่ยวเนื่องกับการใช้กฎหมายพิเศษคุมตัวผู้ต้องสงสัยไปซักถาม ซึ่งนับถึงวันนี้ก็มีผู้ที่เคยถูกควบคุมตัวจากยุทธการ “ปิดล้อม-ตรวจค้น” ตลอดหลายปีที่ผ่านมามากมายหลายพันคน ข้อมูลบางแหล่งระบุว่าเป็นหมื่นคนด้วยซ้ำ ในจำนวนนี้บางส่วนได้รับการปล่อยตัว บางส่วนก็ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา
สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องบางเรื่องที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา บางครั้งกลับส่งผลสะเทือนรุนแรงกว่าที่คาดคิด
อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด ๆ ก็คือเหตุระเบิดบนถนนตรงข้ามมัสยิดกลางประจำจังหวัดยะลา เมื่อค่ำวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่ง “ทีมข่าวอิศรา” ได้นำเสนอสกู๊ปข่าวเชิงสืบสวนให้ได้เห็นข้อเท็จจริงทุกแง่มุมไปแล้ว
ย้อนกลับมาที่เรื่องการเสียชีวิตของสุไลมาน เผอิญผมได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ในวันพบศพของเขาในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร เพราะลงไปทำงานในพื้นที่พอดี และผมได้เขียนเรื่องนี้เป็นบทความขนาดยาวส่งให้เพื่อนสื่อมวลชนนำไปตีพิมพ์ในนิตยสารฉบับหนึ่ง โดยในบทความดังกล่าวผมได้เชื่อมโยงข้อมูลและข้อเท็จจริงในหลายๆ มิติเพื่อให้เห็นว่า เหตุใด “การตาย” ที่บางครั้งมองว่าเป็นแค่ “หนึ่งชีวิต” จึงส่งผลสะเทือนมากมายในพื้นที่ปลายด้ามขวาน
ประกอบกับช่วงวันที่ 11-13 มิ.ย. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงการเสียชีวิตของสุไลมานด้วย ผมจึงขออนุญาตนำบทความดังกล่าวมานำเสนอไว้ในพื้นที่ตรงนี้ แม้เนื้อหาจะยาวไปสักนิด แต่ก็น่าจะอธิบายความจริงในบางมิติที่บางฝ่ายอาจจะละเลยไป

คดีปริศนาผูกคอตายในค่ายทหาร
จุดไฟชายแดนใต้...เขย่าวงการยุติธรรม
ข่าวเล็กๆ ที่แทรกขึ้นมาจากชายแดนใต้ช่วงที่สังคมไทยกำลังใจจดใจจ่อกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งแท้ที่จริงเป็นเวที “ฟอกผิด-สาดโคลน” กันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น ก็คือการเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาของ สุไลมาน แนซา ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง วัยเพียง 25 ปี เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา
การจากไปของ สุไลมาน แม้จะไม่ได้รับความสนใจจากสื่อส่วนกลางและคนไทยในภูมิภาคอื่นของประเทศมากนัก แต่กรณีนี้กลายเป็น “คดีปริศนา” ที่ทำให้สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตึงเครียดขึ้นมาอีกรอบ
เพราะ สุไลมาน กลายเป็นศพในลักษณะ “ผูกคอตาย” ในห้องควบคุมของศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
พูดง่ายๆ คือตายคาค่ายทหาร!
ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ คือ “ศูนย์ซักถามผู้ต้องสงสัย” ที่ใหญ่ที่สุดของทหารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ผู้ต้องสงสัยที่ว่านี้ก็คือผู้ที่ถูกจับกุมหรือถูกควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก และ/หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่เดือน ก.ค.2548 และต่ออายุมาแล้วรวม 19 ครั้ง
ผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับตามกระบวนการนี้ยังไม่มีสถานะเป็น “ผู้ต้องหา” เพียงแต่เป็น “ผู้ต้องสงสัย” ที่ถูกเชิญตัวมา “ซักถาม” โดยใช้พื้นที่ของศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ซึ่งในส่วนของตำรวจก็มีศูนย์ลักษณะนี้เช่นกัน ชื่อว่า “ศูนย์พิทักษ์สันติ” ตั้งอยู่ในโรงเรียนตำรวจภูธร 9 ซึ่งปัจจุบันคือศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) อ.เมือง จ.ยะลา
การตายของ สุไลมาน กลายเป็นเรื่องขึ้นมา เพราะพ่อแม่และญาติของสุไลมานไม่เชื่อว่าเขาจะฆ่าตัวตายเอง แต่สงสัยว่าน่าจะถูกทำร้ายจนตาย แล้วนำศพมาจัดฉากเป็น “ฆ่าตัวตาย” มากกว่า
และแม้ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา จะมีผลการชันสูตรศพจากแพทย์โรงพยาบาลหนองจิก จ.ปัตตานี ออกมาแล้วว่าไม่พบร่องรอยถูกทำร้ายจนตาย แต่นั่นยังไม่ใช่ปลายทางของคดี เพราะเป็นการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าพนักงานที่อ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่
กรณีนี้จึงต้องมีคดี “ไต่สวนการตาย” ซึ่งพนักงานสอบสวนต้องทำสำนวนส่งให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อไต่สวนการตาย ให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียชีวิต (ในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่)
ขณะเดียวกัน นายเจ๊ะแว แนซา บิดาของสุไลมาน ก็ได้แสดงเจตจำนงขอความช่วยเหลือจากศูนย์ทนายความมุสลิมที่ จ.ปัตตานี เพื่อให้ยื่นคัดค้านในกระบวนการไต่สวนการตายในขั้นตอนที่สำนวนถูกส่งถึงศาลด้วย
การเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาของสุไลมาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงรีบประโคมข่าวว่าเขายอมรับสารภาพว่าเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ เคยก่อคดียิงประชาชนมาแล้วถึง 14 คดี และสรุปเหตุการณ์ง่ายๆ ว่าสุไลมานผูกคอตายเอง และญาติไม่ติดใจนั้น นอกจากจะเป็นการจุดกระแสความไม่พอใจขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนเชื่อว่านำมาสู่การสร้างสถานการณ์ป่วนเมืองถึงกว่า 50 จุดในหลายอำเภอของ จ.ปัตตานี และยะลา เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย
สิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ เลขาธิการศูนย์ทนายความมุสลิม ชี้ประเด็นว่า ตามบทบัญญัติมาตรา 12 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดให้การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมได้คราวละ 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน โดยทุกๆ 7 วัน เจ้าหน้าที่ต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอขยายเวลาควบคุมตัวต่อด้วย แต่การขยายเวลาดังกล่าวกลับมีระเบียบของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ควบคุมอยู่ คือหากจะขอขยายเวลาควบคุมตัว ต้องขอก่อนครบกำหนด 3 วัน และไม่ต้องนำตัวผู้ต้องสงสัยไปศาล
ทนายสิทธิพงษ์ ระบุว่า ระเบียบนี้ทำให้เกิดความรู้สึก “สองมาตรฐาน” และยังเปิดช่องให้มีการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยระหว่างถูกควบคุมตัว
“ระเบียบของ กอ.รมน.ภาค 4 เหมือนเป็นการปิดโอกาสไม่ให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัวได้บอกต่อศาลหากมีการซ้อมทรมานระหว่างการควบคุม ทางศูนย์ทนายความมุสลิมพยายามเรียกร้องให้ออกข้อบังคับเหมือนกับข้อบังคับประธานศาลฎีกาในการสั่งฟ้องผู้ต้องหาคดีทั่วไป คือต้องถามผู้ต้องหาด้วยว่าจะคัดค้านหรือไม่ ฉะนั้นการขอขยายเวลาควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสามจังหวัดภาคใต้ก็น่าจะเปิดโอกาสเช่นนี้เหมือนกัน คือต้องคุมตัวผู้ต้องสงสัยไปศาล เพื่อให้มีโอกาสได้บอกเล่าข้อมูลต่อศาลได้”
“ประเด็นนี้ถือว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติสองมาตฐาน เพราะการจับกุมคนเสื้อแดงที่กรุงเทพฯ ก็ถูกจับตามหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นเดียวกับภาคใต้ แต่เวลาจะครบกำหนดควบคุมตัว ศาลจะโทรศัพท์ไปสอบถามผู้ถูกควบคุมตัวว่าจะคัดค้านการขยายเวลาคุมตัวหรือไม่ ต่างจากในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่มีการซักถามใดๆ เลย ทั้งๆ ที่ใช้กฎหมายฉบับเดียวกัน”
นี่คือความซับซ้อนของระเบียบกฎหมายที่ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมอย่างเป็นรูปธรรม และความไม่ยุติธรรมทางความรู้สึก!

ถนนสายไร้อิสรภาพ
เส้นทางของสุไลมาน หากเขาไม่เสียชีวิตลงเสียก่อนจะเป็นอย่างไร?
คำตอบก็คือเขาอาจถูกควบคุมตัวเต็มเวลาตามกรอบที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจไว้คือ 30 วัน จากนั้นก็จะถูกแจ้งข้อหาในคดีอาญา เพราะตามข้อมูลจากฝ่ายทหารอ้างว่าเขายอมรับสารภาพว่าเป็นแนวร่วมกลุ่มติดอาวุธ (อาร์เคเค) และเป็นระดับแกนนำเสียด้วย
เมื่อตกเป็นผู้ต้องหา เขาก็จะถูกควบคุมตัวในชั้นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) อีก 48 ชั่วโมง จากนั้นพนักงานสอบสวนต้องนำตัวไปฝากขังต่อศาล และตามสูตรต้องยื่นคัดค้านการประกันตัว เพราะเป็นคดีอุกฉกรรจ์
คดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ล้วนตั้งข้อหาฉกรรจ์มีโทษระดับประหารชีวิตแทบทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นฆ่าคนตายโดยเจตนา อั้งยี่ ซ่องโจร ก่อการร้าย รวมไปถึงกบฏแบ่งแยกดินแดน โอกาสที่เขาจะต้องสิ้นอิสรภาพระหว่างการทำสำนวนส่งอัยการและรออัยการสั่งฟ้องต่อศาลจึงมีสูง กฎหมายให้อำนาจผัดฟ้องฝากขังได้อีก 7 ผลัด ผลัดละ 12 วัน รวมเป็น 84 วัน
เมื่อคดีถึงศาลก็มักไม่ได้ประกันตัว เพราะเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง ก็ต้องสิ้นอิสรภาพอยู่ในเรือนจำตลอดระยะเวลาการพิจารณาคดีอีกราว 2-3 ปี
แต่เชื่อหรือไม่ว่าคดีความมั่นคงกว่า 60% ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศาลพิพากษายกฟ้อง!
เท่ากับว่าผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาอย่างสุไลมาน (หากไม่จบชีวิตลงเสียก่อน) จะต้องใช้ชีวิตแบบไร้อิสรภาพยาวนานกว่า 3 ปี หลายคนแม้ศาลจะพิพากษายกฟ้อง ยังถูกสั่งขังระหว่างอุทธรณ์เข้าไปอีก...นี่คือสภาพที่เกิดขึ้นจริงกับผู้คนนับร้อยนับพันคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้!

อยุติธรรมที่ปลายขวาน
เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงยุติธรรมโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้จัดการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำต่างๆ ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากถึง 514 คน
เป็นกลุ่มบุคคลมากกว่าครึ่งพันที่ไม่ได้รับอิสรภาพ เพราะไม่ได้รับการประกันตัวจากกระบวนการยุติธรรม
วงสัมมนาในวันนั้น ทางกระทรวงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งอัยการ ตำรวจ และทนายความที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาร่วมระดมความเห็น เนื้อหาที่ปรากฏผ่านเวทีเป็นการชำแหละปัญหาของกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เอาไว้อย่างน่าบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์
ทนายสิทธิพงษ์ ซึ่งไปร่วมเวทีด้วย ให้ข้อมูลว่า ทางศูนย์ทนายความมุสลิมรับคดีในจังหวัดชายแดนภาคใต้เอาไว้กว่า 500 คดี แต่ละคดีมีจำเลยมากกว่า 1 คน ส่วนใหญ่จำเลยจะอยู่ที่ 3-7 คน จากประสบการณ์ที่ทำงานมาชัดเจนว่าการให้ประกันตัวในชั้นสอบสวนและพิจารณาคดีมีความสำคัญกับครอบครัวผู้ต้องหายิ่งกว่าคำพิพากษายกฟ้องในท้ายที่สุดเสียอีก
"การยื่นประกันตัวต้องใช้หลักทรัพย์ 7-8 แสนบาท ที่ดินตาบอดก็ใช้ไม่ได้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีหลักทรัพย์มากขนาดนั้น เมื่อไม่มีก็ต้องรอคำพิพากษา แต่ปัญหาก็คือหลายคดีแม้จะยกฟ้องในศาลชั้นต้น แต่ก็ให้ขังระหว่างอุทธรณ์ ทำให้มีผู้ต้องขังคดีความมั่นคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเป็นจำนวนมาก"
ทนายสิทธิพงษ์ เสนอว่า น่าจะใช้ช่องทางตาม ป.วิอาญา มาตรา 173/1 ที่กำหนดให้ศาลอาจกำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐานก่อนกำหนดวันนัดสืบพยานได้ เพื่อใช้ในการกรองคดี จะได้เห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานสำคัญเพียงพอที่จะทำให้ศาลลงโทษได้หรือไม่
"คดีความมั่นคงส่วนใหญ่ไม่มีประจักษ์พยาน มีแต่คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวน ซึ่งในหลายคดีเป็นคำสารภาพในชั้นซักถาม (ช่วงควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ด้วยซ้ำ ซึ่งไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องคดีได้ ฉะนั้นหากมีการตรวจพยานหลักฐานก่อนพิจารณาคดีในชั้นศาล และพบว่ามีแต่คำรับสารภาพ ศาลก็อาจใช้ดุลยพินิจได้ว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่" ทนายสิทธิพงษ์ กล่าว
เขาให้ข้อมูลด้วยว่า คดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ถึง 80% มีพยานหลักฐานเพียงแค่คำซัดทอดจากการปิดล้อมตรวจค้น และคำให้การหรือคำสารภาพในชั้นซักถามเท่านั้น
ขณะที่ นิพล ผดุงทอง รองอธิบดีอัยการเขต 9 (รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง) กล่าวว่า คดีความมั่นคงที่ส่งมาจากพนักงานสอบสวน 90% มีแค่คำซัดทอด และคำรับสารภาพในชั้นซักถามหรือชั้นสอบสวน เมื่ออัยการฟ้องคดีไปแล้ว ส่วนใหญ่ศาลจะยกฟ้อง แต่ในระหว่างการพิจารณาคดี ผู้ต้องหามักไม่ได้รับการประกันตัว ทำให้เดือดร้อนมาก
ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน ต.ค.2552 เป็นต้นมา ทางอัยการเขต 9 ได้วางหลักการพิจารณาฟ้องคดีความมั่นคงใหม่ โดยคดีที่มีแต่คำรับสารภาพหรือคำซัดทอดของพยานหรือมีแค่พยานบอกเล่า อัยการจะทำความเห็นสั่งไม่ฟ้อง
"ผ่านมาแล้ว 7-8 เดือน ปรากฏว่าคดีลักษณะนี้ 80-90% เราจะสั่งไม่ฟ้อง ถือเป็นนโยบายใหม่ของอัยการเขต คือเน้นให้ใช้กฎหมายจริงจัง โดยเฉพาะคดีความมั่นคงจะใช้ความรู้สึกไม่ได้ พยานบอกเล่าฟังไม่ได้ ป.วิอาญา มาตรา 226/3 ก็บัญญัติเอาไว้ชัดเจนห้ามศาลรับฟังพยานบอกเล่า ยกเว้นมีพยานหลักฐานอื่นรองรับ ฉะนั้นต้องเคร่งครัด เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ส่งผลกระทบทางจิตใจของผู้ต้องหาและครอบครัว"
อัยการนิพล กล่าวด้วยว่า คดีจำนวนมากมีเพียงคำรับสารภาพในชั้นซักถาม ซึ่งในขณะนั้นผู้ที่ถูกฟ้องยังไม่ได้มีสถานะเป็นผู้ต้องหา แต่เป็นผู้ให้ถ้อยคำ ดังนั้นตามมาตรฐานใหม่ถ้าคดีไหนมีหลักฐานเพียงแค่นี้ อัยการจะสั่งไม่ฟ้อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่าง พล.ต.ต.นราศักดิ์ เชียงสุข ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบก.สส.ศชต.) ยอมรับตรงๆ ว่า การทำงานของพนักงานสอบสวนมีปัญหา เพราะตำรวจส่วนหนึ่งไม่อยากอยู่ในพื้นที่ นายตำรวจระดับหัวหน้าสถานีหาคนสอบสวนเป็นแทบไม่มี ตรงนี้คือต้นเหตุที่ทำให้สำนวนคดีมีปัญหา
"ตำรวจเรายังเชื่อเรื่องคำรับสารภาพ เพราะไม่ได้อ่านกฎหมายใหม่ ทั้งๆ ที่กฎหมายใหม่ไม่ให้เชื่อคำรับสารภาพหรือคำซัดทอดอย่างเดียวแล้ว" พล.ต.ต.นราศักดิ์ กล่าว
ทั้งหมดนี้คือภาพสะท้อนจาก “คนใน” ที่ชำแหละให้เห็น “ตลกร้าย” ของการอำนวยความยุติธรรมที่ปลายด้ามขวาน!

เปิดสถิติเศร้ายกฟ้อง 60%
ลองมาดูตัวเลขสถิติคดีอาญาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่เก็บรวบรวมโดย ศชต. จะพบข้อมูลที่น่าสนใจและน่าสลดใจ
โดยการสอบสวนคดีความมั่นคง พบว่าในภาพรวม 6 ปี (ม.ค.2547 ถึง 31 ธ.ค.2552) มีคดีอาญาเกิดขึ้นทั้งหมด 63,667 คดี แยกเป็นคดีความมั่นคง 7,004 คดี หรือคิดเป็น 11% ของคดีทั้งหมด (คดีอาญาทั่วไป 56,663 คดี หรือคิดเป็น 89%) รู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว 1,652 คดี ยังไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิดถึง 5,352 คดี
จากภาพรวมคดีความมั่นคง พนักงานสอบสวนมีความเห็นแล้ว 6,300 คดี แยกเป็น งดสอบสวน (เพราะไม่ทราบตัวผู้กระทำความผิด) มากถึง 4,760 คดี สั่งฟ้องเพียง 1,388 คดี สั่งไม่ฟ้อง 132 คดี ในชั้นอัยการ มีความเห็นทางคดีแล้ว 5,110 คดี แยกเป็นงดสอบสวน (เพราะไม่ทราบตัวผู้กระทำความผิด) มากถึง 4,343 คดี สั่งฟ้องเพียง 562 คดี สั่งไม่ฟ้อง 205 คดี
คดีที่นำขึ้นสู่ศาลแล้ว และศาลมีคำพิพากษารวมทั้งสิ้น 216 คดี จำเลย 415 คน ศาลตัดสินลงโทษ 130 คดี จำเลย 211 คน ประหารชีวิต 20 คดี จำเลย 20 คน จำคุกตลอดชีวิต 36 คดี จำเลย 51 คน จำคุก 50 ปี 74 คดี จำเลย 140 คน ยกฟ้อง 86 คดี 204 คน
แม้ข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดย ศชต. จะพบปัญหาการจัดการคดีความมั่นคงในพื้นที่มากพอสมควร เพราะตลอด 6 ปีที่ผ่านมา มีคดีที่นำขึ้นสู่ศาลแล้วและศาลมีคำพิพากษารวมทั้งสิ้น 216 คดี แต่ศาลตัดสินลงโทษเพียง 130 คดี ยกฟ้องถึง 86 คดี หรือคิดเป็น 40% เป็น 216 คดีจาก 7,004 คดีที่เกิดขึ้นทั้งหมด (เฉพาะคดีความมั่นคง) โดยมีสถิติคดีที่ศาลยกฟ้องสูงถึง 40% ทั้งๆ ที่ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น มีเปอร์เซ็นต์การยกฟ้องเพียงร้อยละ 0.02 เท่านั้น (ข้อมูลจาก ศ.ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด และอดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวไว้ในเวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยครั้งที่ 1 เมื่อ 17 มิ.ย.2551)
แต่นั่นยังไม่น่าตกใจเท่ากับข้อมูลจากสำนักงานศาลยุติธรรมภาค 9 ที่รายงานสถิติคดีความมั่นคงในความรับผิดชอบของศาลในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยศาลจังหวัดนราธิวาส ศาลจังหวัดนาทวี ศาลจังหวัดเบตง ศาลจังหวัดปัตตานี ศาลจังหวัดยะลา ศาลจังหวัดสงขลา และศาลจังหวัดสตูล พบว่า ในปี 2552 ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป (1 ม.ค.-31 ธ.ค.2552) มีคดีที่ศาลรับมาทั้งสิ้น 190 คดี จำหน่าย 3 คดี พิพากษาแล้ว 23 คดี ตัดสินลงโทษเพียง 5 คดี แต่ยกฟ้องมากถึง 18 คดี และมีคดีคงค้าง 164 คดี
นอกจากนั้นยังมีสถิติคดีในรอบปี 2550-2551 ด้วย พบว่าศาลมีคำพิพากษาคดีความมั่นคงทั้งสิ้น 60 คดี ลงโทษจำคุกเพียง 20 คดี แต่ยกฟ้องมากถึง 40 คดี หรือคิดเป็น 66% ซึ่งนับว่าน่ากังวลอย่างยิ่ง
ปัญหาทั้งในแง่ของคดีคงค้างจำนวนมาก และอัตราการยกฟ้องที่สูงมากนั้น ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกับความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม และกับตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีความมั่นคงที่ถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัวซึ่งมีมากถึง 514 คนในปัจจุบัน
กลายเป็นปัญหา “งูกินหาง” และเข้าทางการปลุกระดมขยายมวลชนของกลุ่มก่อความไม่สงบอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง!

0 ความคิดเห็น:

About This Blog

รายการบล็อกของฉัน

รายการบล็อก

Our Blogger Templates Web Design

  © Blogger templates The Professional Template by Ourblogtemplates.com 2008

Back to TOP