วันเสาร์, มิถุนายน 05, 2553

หยิบเรื่องการขอขึ้นเงินเดือนของสมาชิกรัฐสภาไทยมาชวนคุยวันนี้

ไม่ได้ตั้งใจจะโหนกระแสต่อต้านที่มองว่า นักการเมืองกลุ่ม ส.ว. ส.ส. เอาอะไรคิดถึงได้ขอขึ้นเงินเดือนให้แก่ตัวเอง ในสภาวะที่เศรษฐกิจไทยเต็มไปด้วยหนี้สินล้นพ้นตัว อาณาประชาราษฎร์ประสบปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง และรัฐบาลยังดิ้นรนกับแก้ปัญหา แถมตัวเองก็โดดประชุมจนสภาล่มบ่อยครั้ง แต่อยากชวนผู้อ่านตีโจทย์การเมือง พร้อมกับข้อเสนอแรงๆ ที่อาจเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไทย
ที่จริงการขึ้นเงินเดือนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองอื่นๆ เคยทำกันมาครั้งหนึ่งในสมัยรัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร แถมช่วงปลายสมัย ยังเคยมีความพยายามให้บำนาญนักการเมืองอีกด้วย แต่เป็นอันตกไปเพราะแรงต่อต้านจากสังคม การขอขึ้นเงินเดือนทุกครั้งมักอ้างเหตุผลยอดฮิต คือ เงินเดือนต่ำเอื้อให้เกิดคอร์รัปชัน หากต้องการแก้ปัญหาก็ต้องเพิ่มเงินเดือน เช่นเดียวกับที่ให้แก่ตำรวจ ให้ครู ด้วยข้ออ้างว่า ที่ทำงานไม่ได้ดีทุกวันนี้ เพราะเงินเดือนน้อยเกินไป
การจะบอกว่าเงินเดือนมากหรือน้อย คงต้องให้ผู้อ่านตัดสินใจเอง ตัวเลข คือ สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับเงินเดือน 63,000 บาท รวมกับเงินเพิ่มเงินเดือน (ก็ไม่รู้เพิ่มเพราะเหตุใด) อีก 41,000 บาท รวมสิ้นเดือนรับเบ็ดเสร็จ 104,000 บาท และยังมีสิทธิประประโยชน์อื่นๆ
อาทิเช่น เบี้ยประชุมอนุกรรมาธิการครั้งละ 500 บาท เบี้ยประชุมกรรมาธิการ 1,000 บาท ได้รับประกันสุขภาพในระหว่างการดำรงตำแหน่ง เดินทางโดยเครื่องบิน รถไฟ หรือรถโดยสารของรัฐฟรี กรณีไปปฏิบัติภารกิจต่างจังหวัดได้ค่าที่พักในประเทศแบบเหมาจ่ายไม่เกิน 1,600 บาทต่อวัน แน่นอนว่า ตำแหน่งประธาน และรองประธานรัฐสภา ย่อมได้รับเงินเดือนสูงกว่า ส.ส. และ ส.ว. ทั่วไป
นอกจากนั้น ส.ส. และ ส.ว. ยังสามารถไป "ดูงาน" ต่างประเทศด้วยเงินภาษีประชาชน ซึ่งพบว่าการเดินทางไปดูงานต่างประเทศของคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ใช้เงินรวมๆ กันปีละประมาณ 200 กว่าล้านบาท (ข้อมูลจาก http://www.tdw.polsci.chula.ac.th)
แนวคิดให้ค่าตอบแทนจำนวนสูงแก่นักการเมือง ก็เพื่อให้มีรายได้เพียงพอที่จะรักษาความซื่อสัตย์มีภาพลักษณ์ที่ดีในฐานะตัวแทนประชาชน แต่ในประวัติศาสตร์การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยนั้น ตัวแทนทางการเมืองไม่มีค่าตอบแทน แต่เป็นการทำหน้าที่เพื่อรักษาผลประโยชน์ โดยเฉพาะของผู้เสียภาษี ไม่ได้มองว่าการทำหน้าที่ตัวแทนและเข้าสู่การเมืองเป็น "อาชีพ" เจ้าของที่ดิน นักหนังสือพิมพ์ หมอ ต่างก็มีรายได้จากอาชีพประจำของตน กรรมกรเหมืองแร่ คนงานรถไฟที่เข้าสู่การเมืองในอดีตก็ยังคงเป็นกรรมกร เพียงแต่หยุดงานชั่วคราวมาทำหน้าที่ในสภา แต่การหยุดงานของผู้ใช้แรงงานหมายถึงการขาดรายได้ สหภาพและกลุ่มผู้ใช้แรงงานจึงเรียกร้องผลักดันให้นักการเมืองเริ่มมีเงินเดือน เพื่อที่พวกเขาจะได้เข้าไปเป็นตัวแทนในสภาได้โดยไม่อดตาย
การเป็นตัวแทนในอดีตจึงมีพื้นฐานจาก "การทำงานให้สังคม" ไม่ใช่เป็น "อาชีพนักการเมือง" (career politician) ที่พัฒนามาเป็น "นักการเมืองอาชีพ" เช่นทุกวันนี้
ส.ส. และ ส.ว.ไทยส่วนใหญ่มีมุมมองว่าการทำงานการเมืองเป็นอาชีพ จึงต้องการความก้าวหน้า ต้องการเงินเดือนขึ้น และขวนขวายไต่เต้า อาทิเช่น จากเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ไปเป็นรัฐมนตรี จึงมีปรากฏการณ์ความขัดแย้งแย่งชิง และซื้อตำแหน่ง และเมื่อประกอบอาชีพนักการเมืองหลายปีเข้า ก็จะเริ่มทำตัวเป็น นักการเมืองอาชีพ ที่ใช้กลยุทธ์และเทคนิคทางการเมืองกีดกันคู่แข่ง แสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัว จนในที่สุด ไม่สามารถเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นได้อีกต่อไป เพราะเสพติดอำนาจ ผลประโยชน์ และอภิสิทธิ์ ขนาดมีอดีต ส.ส.บางคน เมื่อกลายเป็น ส.ส. สอบตก ไม่กล้าขับรถผ่านรัฐสภา เพราะทำใจไม่ได้
ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้น ไม่มีสมาชิกรัฐสภาที่เป็นนักการเมืองเต็มเวลา แต่ล้วนเป็นนักการเมืองพาร์ทไทม์ทั้งสิ้น ทำงานในสมัยประชุมรัฐสภา ที่ประชุมปีละ 4 ครั้งๆ ละ 3 สัปดาห์ เขาและเธอเหล่านี้ได้รับค่าตอบแทนน้อยมาก (เมื่อเทียบกับอาชีพอื่น) เพราะสังคมสวิตเซอร์แลนด์คาดหวังว่า ส.ส. และ ส.ว.ของเขามีรายได้จากอาชีพประจำอยู่แล้ว ดังนั้น ค่าตอบแทนจากการทำงานการเมือง จึงได้ตามจำนวนวันที่ทำงานจริงๆ!
แน่นอนว่า อาจก่อให้เกิดคำถามถึงประสิทธิภาพและการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของสมาชิกรัฐสภาที่บางคนมีอาชีพเป็นนักธุรกิจหรือกรรมการในบริษัทต่างๆ แต่คนสวิสก็ยังเชื่อว่านักการเมืองพาร์ทไทม์เช่นนี้ดีกว่านักการเมืองอาชีพเงินเดือนสูงในหลายประเทศ ที่ก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนและคอร์รัปชันน้อยลงได้ แถมนักการเมืองพาร์ทไทม์ยังใช้ความเป็นมืออาชีพ และความรู้ในหน้าที่การงาน มาทำให้การตัดสินใจของรัฐสภามีคุณภาพอีกด้วย
ดังนั้น ข้ออ้างว่าเงินเดือนที่สูงขึ้นจะช่วยลดการคอร์รัปชันและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของนักการเมืองจึงเป็นอันตกไป ยิ่งถ้ามองว่าเงินเดือนนักการเมืองต่ำกว่าเงินเดือนนักธุรกิจ คนจึงไม่อยากเสียสละมาทำงานการเมือง ยิ่งฟังไม่ขึ้น เพราะทุกวันนี้ ต้องบอกว่าวงการการเมืองแข่งขันสูงมาก และนับวันจะมีแต่คน "วงใน" แสดงว่าการเมืองมีเสน่ห์ดึงดูด น้อยนักที่เล่นการเมืองแล้วเลิกไปเฉยๆ มีแต่ชวนลูกจูงหลานเข้ามาสู่การเมืองมากขึ้น
ข้อเรียกร้องที่พูดกันมาก ว่า เมื่อขึ้นเงินเดือนแล้ว ส.ส. และ ส.ว. ต้องหยุดรับรายได้แฝง หยุดคอร์รัปชัน หยุดกินคอมมิชชั่นใต้โต๊ะ ต้องไม่ขาดประชุมสภา ต้องแก้ปัญหาประชาชน เป็นเรื่องฝันลมๆ แล้งๆ ตราบใดที่ยังไม่มีกลไกตรวจสอบ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐสภาที่ไม่เต็มใจให้ข้อมูลการทำงานในสภาของเหล่า ส.ส. และ ส.ว. การคอร์รัปชันและปรากฏการณ์สภาล่มก็จะยังคงมีต่อไป
สังคมไทยน่าจะลองพิจารณายกเลิกระบบเงินเดือน แล้วหันมาให้ค่าตอบแทนนักการเมืองเป็นเบี้ยประชุมที่สูงขึ้นแต่จ่ายให้ตามจำนวนวัน เวลาที่ทำงานในสภา แบบนี้น่าจะเป็นทางลัดช่วยล้างบางนักการเมืองน้ำเน่าที่ยึดเอาการเมืองเป็นอาชีพ และสร้าง "นักการเมืองพลเมือง" (citizen politician) ที่มีวัฒนธรรมทำงานให้สังคม ที่สำคัญ จะช่วยลดธรรมเนียมปฏิบัติที่พรรคการเมืองครอบงำความคิดและการตัดสินใจของ ส.ส. เพราะ ส.ส. ขาดความรู้ความเข้าใจ ได้แต่ทำตามมติพรรค
แต่กฎหมายยกเลิกระบบเงินเดือน ส.ส. และ ส.ว. ไม่มีทางผ่านสภาได้อย่างแน่นอน ถ้าประชาชนอยากได้คงต้องช่วยกันคิดดูกันล๊ะครับ

0 ความคิดเห็น:

About This Blog

รายการบล็อกของฉัน

รายการบล็อก

Our Blogger Templates Web Design

  © Blogger templates The Professional Template by Ourblogtemplates.com 2008

Back to TOP