วันอังคาร, มิถุนายน 29, 2553

เอ็นจีโอจี้ปิด"ศูนย์ซักถาม"ค่ายอิงคยุทธฯ ทหารโวยให้ตรวจสอบองค์กรสิทธิ์บ้าง!

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้ออกแถลงการณ์เนื่องในวันต่อต้านการทรมานสากล 26 มิ.ย.2553 เรียกร้องให้ปิดศูนย์ซักถามตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยอ้างว่ามีการทรมานผู้ต้องสงสัยให้รับสารภาพและขังเดี่ยว อันถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

แถลงการณ์ของทั้งสองมูลนิธิดังกล่าว ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและช่วยเหลือทางกฎหมายให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและกองทัพบก รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 ข้อคือ
ส่

1.ขอให้ปิดศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ (ศูนย์ซักถาม) ในค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ที่อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ด้วยเหตุว่าต้องสงสัยว่ามีผู้ทรมานผู้ต้องสงสัยให้สารภาพ และมีสภาพเป็นการขังเดี่ยวผู้ต้องสงสัยที่ยังไม่ได้รับการตัดสินว่ากระทำความผิด ซึ่งเป็นทรมานและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ขัดต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี และขัดต่อรัฐธรรมนูญ

2.ขอให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติต่อผู้ถูกเชิญตัวหรือผู้ต้องสงสัยที่ยังไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการทรมานหรือปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมต่อผู้ถูกเชิญตัวหรือผู้ต้องสงสัยโดยเด็ดขาด

3.หากพบว่ามีการกระทำความผิดตามที่มีเรื่องร้องเรียนจริง ทางรัฐบาลและกองทัพต้องดำเนินการลงโทษทางวินัยและทางอาญาเพื่อเป็นการป้องปรามและยุติการซ้อมทรมานซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง ขัดต่อกฎหมายในประเทศและขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ที่ผ่านมาการเรียกร้องและร้องเรียนของผู้เสียหายมักไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระ เหยื่อและญาติมักถูกคุกคามและหวาดกลัวอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ หลายกรณียุติการร้องเรียนและส่งผลให้การซ้อมทรมานเพื่อให้ได้คำสารภาพยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นเงื่อนไขใช้ความรุนแรงต่อต้านการบังคับใช้กฎหมายของรัฐ

4.จัดให้มีหน่วยงานอิสระ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัวอย่างเป็นประจำ ทั้งสถานที่ควบคุมตัวตามอำนาจตามกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมทั้งการพัฒนาและจัดให้มีคู่มือการปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยกรณีการก่อความไม่สงบ เพื่อเป็นการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และห้ามไม่ให้มีการซ้อมทรมานโดยเด็ดขาด

อนึ่ง แถลงการณ์ดังกล่าวซึ่งออกในโอกาสวันต่อต้านการทรมานสากล วันที่ 26 มิ.ย. ซึ่งประกาศโดยองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ยังอ้างข้อมูลว่า นับตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย.ถึงต้นเดือน พ.ค.2553 องค์กรสิทธิมนุษยชนได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีที่ผู้ถูกควบคุมตัวในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์อย่างน้อย 6 รายว่าถูกจำกัดการเยี่ยมจากญาติอย่างผิดปกติ บางคนได้รับอนุญาตให้ญาติพบหน้าในระยะห่างๆ เพียง 1-2 นาทีเท่านั้น บางรายไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับญาติอย่างเช่นที่เคยปฏิบัติกันมาตามปกติ

ในช่วงกลางเดือน พ.ค.2553 ญาติร้องเรียนขอให้แพทย์ตรวจร่างกายผู้ถูกควบคุมตัว 2 ราย โดยสงสัยว่าอาจถูกซ้อมทรมาน เนื่องจากพบเห็นผู้ถูกควบคุมตัวมีสภาพร่างกายอ่อนเพลีย และในวันที่ 30 พ.ค.2553 มีรายงานว่า นายสุไลมาน แนซา เสียชีวิตในห้องขังระหว่างการควบคุมตัวในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ด้วยสาเหตุที่ยังสรุปไม่ได้ว่าเป็นการผูกคอตายเอง หรือถูกผู้อื่นทำให้เสียชีวิต

แถลงการณ์ยังอ้างว่า ผู้ถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ณ ศูนย์ดังกล่าว ไม่ได้รับอนุญาตให้พบปะกับทนายความเพื่อปรึกษาหรือร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิของตน และมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับวิธีการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 30 กรณีนับตั้งแต่เดือน ม.ค.2552 จนถึงปัจจุบัน

แถลงการณ์ฉบับนี้ได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะหลังจากวันที่ 25 มิ.ย. นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดแถลงข่าวผลสรุปการสอบสวนเบื้องต้นการเสียชีวิตของ นายสุไลมาน แนซา ภายในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ โดย นางอมรา ตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวโดยยอมรับว่า การเสียชีวิตของนายสุไลมานมีความไม่ชอบมาพากลที่จะต้องตรวจสอบต่อไป

พร้อมกันนั้นก็ได้เสนอข้อเรียกร้อง 4 ข้อต่อรัฐบาล โดยเน้นให้ป้องกันปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการซ้อมทรมานระหว่างปฏิบัติการจับกุม คุมขัง หรือซักถามภายในศูนย์ควบคุมตัว รวมถึงการกดดันทางจิตใจ โดยให้จัดนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เข้าร่วมในการซักถามด้วย

ทั้งนี้ นายสุไลมาน วัย 25 ปีถูกพบเป็นศพมีผ้าผูกคอติดกับเหล็กดัดหน้าต่างภายในห้องควบคุมในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร เมื่อเช้าวันที่ 30 พ.ค.2553 หลังจากถูกคุมตัวมาจาก อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ได้เพียง 7 วัน ฐานเป็นผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบในพื้นที่

ต่อมามีการชันสูตรศพจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และตรวจดีเอ็นเอโดยเจ้าหน้าที่จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ผลชันสูตรไม่พบร่องรอยการถูกทำร้าย หรือรอยนิ้วมือของบุคคลอื่นภายในห้องควบคุม ทำให้ฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่า นายสุไลมานน่าจะผูกคอตายเอง แต่ฝ่ายเอ็นจีโอและญาติผู้เสียชีวิตต่างไม่เชื่อผลชันสูตร และสงสัยว่านายสุไลมานอาจจะถูกทำให้ตาย โดยข้อมูลของเอ็นจีโอบางแห่งอ้างว่านายสุไลมานคอหัก



แม่ทัพภาค 4 โวยไม่ยุติธรรมกับทหาร

จากข้อเรียกร้องของเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชน และปัญหาการเสียชีวิตของนายสุไลมานนั้น พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า กรณีของนายสุไลมาน ได้ให้ทุกฝ่ายดำเนินการอย่างโปร่งใส่ ในวันแรกที่พบศพมีการเข้าร่วมตรวจชันสูตรพร้อมกันทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นญาติของผู้เสียชีวิต องค์กรสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ แพทย์ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ตำรวจ ฝ่ายปกครอง อัยการ และนักข่าว รวมสิบกว่าฝ่าย ซึ่งผลการตรวจร่วมกันในวันนั้น ไม่ได้มีฝ่ายใดโต้แย้งหรือติดใจสงสัยการเสียชีวิตของนายสุไลมาน

"ในวันนั้นทางตำรวจเองก็ถามกับทางญาติและตัวแทนจากองค์กรสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ว่า ยังมีข้อสงสัยเรื่องการเสียชีวิตอยู่หรือไม่ หากมีก็จะประสานไปยังแพทย์จากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อนำศพไปผ่าพิสูจน์เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย แต่ทางญาติและตัวแทนองค์กรสิทธิ์ไม่ติดใจอะไร ทว่าพอนำศพกลับไปแล้ว กลับออกมาบอกว่าการตายของสุไลมานผิดปกติ สงสัยว่าจะเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ ตรงนี้ผมมองว่ามันไม่ยุติธรรมกับทางฝ่ายเจ้าหน้าที่เลย”

แม่ทัพภาคที่ 4 ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมตอนที่ศพอยู่ระหว่างการตรวจสอบของทุกฝ่าย ซึ่งญาติและตัวแทนจากองค์กรสิทธิมนุษยชนก็อยู่เป็นสักขีพยาน กลับไม่มีใครโต้แย้ง หากสงสัยหรือคิดว่ามีเงื่อนงำก็ต้องทักท้วงทันที แต่เมื่อนำศพกลับไปแล้วกลับมาอ้างว่าคอหักบ้าง มีสิ่งผิดปกติตรงนั้นตรงนี้บ้าง ทั้งๆ ที่ผลการชันสูตรจากแพทย์ และผลตรวจดีเอ็นเอจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ก็ยืนยันชัดเจน

“คุณคิดว่าคนกลางที่เข้าร่วมตรวจกับคุณหลายๆ ฝ่าย ทั้งอัยการ แพทย์ เขาเป็นอะไร เขาก็มีจรรยาบรรณในวิชาชีพของเขา หากทางเจ้าหน้าที่กระทำความผิดในกรณีนี้จริง จะยอมให้คนอื่นเข้ามาร่วมตรวจสอบทำไม แต่นี่เรายืนยันในความบริสุทธิ์ทุกอย่าง ไม่มีงุบงิบปิดบัง ทำทุกอย่างเปิดเผย”

“ทุกวันนี้การทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เป็นไปตามนโยบายของกองทัพบก ไม่มีนโยบายให้ใช้ความรุนแรง เพราะเรารู้ว่าวันนี้กลุ่มใดที่ใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ก็จะมีแต่พ่ายแพ้ กรณีการเสียชีวิตของสุไลมาน คิดกันง่ายๆ ถามว่าถ้าเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำ ผลที่ออกมาก็รู้แล้วว่ามันมีแต่ความเสียหาย แล้วเจ้าหน้าที่จะได้ประโยชน์อะไร เราจะทำไปเพื่ออะไร เมื่อรู้ว่ามีแต่ผลเสียเกิดขึ้นกับตัวเอง”

พล.ท.พิเชษฐ์ ยังกล่าวด้วยว่า ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานแก้ไขปัญหาความไม่สงบ ที่ผ่านมาสามารถรับรู้ข้อมูลความเคลื่อนไหวของฝ่ายปฏิบัติการในขบวนการก่อความไม่สงบเป็นจำนวนมาก และการดำเนินงานของทางศูนย์ฯก็ไม่มีอะไรปิดบัง

“คุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ (จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม) หรือนักสิทธิมนุษยชนในพื้นที่เองก็น่าจะทราบข้อเท็จจริงเหล่านี้ดี เพราะล้วนแต่เคยเข้าไปเยี่ยมชมสภาพภายในศูนย์ฯมาแล้วทั้งสิ้น ไม่เพียงแต่องค์กรในพื้นที่ องค์กรระดับชาติและองค์กรระหว่างประเทศหลายๆ องค์กรที่ลงมาในพื้นที่สามจังหวัด ก็เคยเข้าไปเยี่ยมชมการทำงานและความเป็นอยู่ของบุคคลภายในศูนย์ฯแล้วทั้งนั้น”

“ที่ผ่านมาการเสียชีวิตของสุไลมาน หรืออีกหลายๆ กรณีที่ทางศูนย์ฯถูกตั้งข้อสงสัย ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ได้เข้าไปตรวจสอบ และเชิญผู้เกี่ยวข้องไปชี้แจง สุดท้ายก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเราทำงานกันอย่างโปร่งใส สามารถตอบข้อซักถามได้ทั้งหมด”

ส่วนมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดกรณีซ้ำร้อยนายสุไลมานนั้น แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ทำได้เพียงกำชับให้เจ้าหน้าที่คอยดูแลให้ทั่วถึงมากขึ้น จะให้ถึงขั้นไปควบคุม หรือติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดดูพฤติกรรมของผู้ที่อยู่ภายในก็คงทำไม่ได้ เพราะเกรงว่จะละเมิดสิทธิ์ของผู้ถูกเชิญตัวมา กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาอีก

“ผมขอย้ำอีกครั้งว่ากองทัพบกไม่มีนโยบายใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ เรายึดหลักสิทธิมนุษยชนในการปฏิบัติมาตลอด หากพบว่ากำลังพลหรือเจ้าหน้าที่ส่วนใดภายใต้การบังคับบัญชากระทำการโดยใช้ความรุนแรงหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่ จะไม่มีการละเว้นหรือช่วยเหลือ ทุกคนต้องได้รับโทษในความผิดที่กระทำขึ้น เพราะถือว่ากระทำการขัดต่อนโยบายที่วางเอาไว้” พล.ท.พิเชษฐ์ กล่าว



ผอ.ศูนย์ฯซัดองค์กรสิทธิ์บิดเบือน

ขณะที่ พ.อ.ปิยวัฒน์ นาควานิช ผู้อำนวยการศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมาได้เดินทางเข้าพบและชี้แจงรายละเอียดทุกข้อสงสัยกับทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมทั้งได้นำเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของนายสุไลมานไปอธิบายให้ฟังด้วย

“คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไม่ได้ซักถามเฉพาะกรณีของนายสุไลมาน แต่ยังมีเรื่องการดำเนินงานของศูนย์ฯอีกหลายเรื่อง ซึ่งผมก็ได้ตอบคำถามไปในคราวเดียวกันจนหมดและครบถ้วน ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ไม่ได้ติดใจอะไร เพราะสามารถอธิบายได้ทั้งหมด เพียงแต่มีข้อเสนอแนะเรื่องการดำเนินงานของศูนย์ฯ ให้มีตัวแทนหรือหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนเข้าไปมีส่วนร่วม นี่คือข้อเสนอแนะเพียงประเด็นเดียว ซึ่งเรื่องนี้เป็นอำนาจการตัดสินใจของผู้บังคับบัญชา”

พ.อ.ปิยวัฒน์ ยังกล่าวถึงข้อเรียกร้องขององค์กรสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ที่ให้ปิดศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ว่า แม้แต่ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ได้เข้าชี้แจงก็ยังไม่ได้พูดประเด็นนี้ มีเพียงองค์กรในระดับพื้นที่เท่านั้นที่พยายามออกมาเรียกร้อง และพยายามให้ข้อมูลบิดเบือนข้อเท็จจริงการทำงานของศูนย์ฯมาตลอด รวมถึงกรณีของนายสุไลมานด้วย

“การเข้าชันสูตรศพและตรวจที่เกิดเหตุหลังการเสียชีวิตของนายสุไลมาน ก็มีทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม รวมไปถึงทางตัวแทนจากองค์กรสิทธิมนุษยชนในพื้นที่เอง ซึ่งก็ไม่มีการโต้แย้งใดๆ แต่เมื่อการตรวจสอบจบแล้ว องค์กรสิทธิมนุษยชนในพื้นที่กลับออกมาเรียกร้องและตั้งข้อสังเกต ตลอดจนให้ข่าวสารที่บิดเบือนสร้างความเข้าใจผิด ทั้งๆ ที่ทางศูนย์ฯพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ไม่ได้มีการปิดบังข้อมูลหรือข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น”

ส่วนที่มีการกล่าวอ้างในแถลงการณ์ขององค์กรสิทธิ์ฯว่า ทางศูนย์ฯอนุญาตให้ญาติผู้ต้องสงสัยเยี่ยมได้เพียง 1 นาที หรือให้เพียงเห็นหน้า ไม่ยอมให้พูดคุยนั้น พ.อ.ปิยวัฒน์ กล่าวว่า ได้อธิบายกับประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแล้วว่า สาเหตุที่บ้างครั้งอนุญาตให้เยี่ยมเพียงระยะเวลาสั้นๆ หรือให้เพียงเห็นหน้า เพราะในวันนั้นผู้ถูกเชิญตัวอยู่ระหว่างพาเจ้าหน้าที่ออกไปยังพื้นที่เพื่อตรวจค้นตามจุดต่างๆ หลังจากยอมรับสารภาพ เช่น จุดซุกซ่อนอาวุธปืนหรือวัตถุผิดกฎหมาย

“การให้ญาติได้เห็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ หรือไม่อนุญาตให้พูดคุยกัน เพราะเกรงว่าจะมีการบอกกล่าวจนเกิดผลเสียต่อการลงพื้นที่และความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ที่ต้องลงพื้นที่”



แนะให้ตรวจสอบองค์กรสิทธิ์บ้าง

ส่วนเรื่องการขังเดี่ยวตามที่มีการกล่าวอ้างนั้น พ.อ.ปิยวัฒน์ กล่าวว่า ตามข้อเท็จจริงแล้วเราไม่มีห้องขัง เราจัดสร้างสถานที่เป็นห้องพัก มีสิ่งอำนวยความสะดวกตามความเหมาะสม ทั้งห้องน้ำ พัดลม ตู้เสื้อผ้า และให้พักได้ห้องละ 1 คน ไม่มีการล็อคกลอนหรือล็อคกุญแจประตูห้องพักแต่อย่างใด ผู้ที่ถูกเชิญตัวก็มีอิสระในการออกมาทำกิจกรรมต่างๆได้ตามปกติ ไม่ได้ปิดกั้นหรือบังคับ

“เรื่องนี้จริงๆ แล้วไม่น่าจะมาเป็นประเด็นข้อสงสัยเลย เพราะที่ผ่านมาทางตัวแทนองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและระดับสากล รวมไปถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนในพื้นที่เอง ก็ล้วนเคยเข้าเยี่ยมชม ตรวจสอบ และเห็นความเป็นอยู่ของผู้ที่ถูกเชิญตัวมาแล้วทั้งนั้น”

“ผมอยากจะบอกว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนของศูนย์ซักถามเกือบทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางที่ลงมาทำงานในพื้นที่ เราไม่มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรเลย ตรงกับข้ามอยากให้ทางประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะจากส่วนกลาง เข้ามาตรวจสอบการทำงานของตัวแทนหรือองค์กรในพื้นที่บ้างว่ามีการทำงานกันอย่างไร และมีส่วนได้ส่วนเสียกับกรณีที่เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะหลายๆ ครั้งมีการพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริง”

“สำหรับเรื่องร้องเรียนกรณีถูกซ้อมทรมานนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีของผู้ที่มีพยานหลักฐานว่าเป็นผู้กระทำความผิดอาญา โดยคนกลุ่มนี้จะถูกส่งตัวไปดำเนินคดีและถูกลงโทษตามกฎหมาย ส่วนผู้ที่ถูกเชิญตัวมาและไม่พบความผิดใดๆ จะไม่พบการร้องเรียน”

“เท่าที่ผมทราบ กลุ่มคนที่ถูกดำเนินคดีมักจะตกเป็นเหยื่อขององค์กรในพื้นที่บางองค์กรที่พยายามร้องเรียนหรือเข้ามาช่วยเหลือต่อสู้คดี ทั้งๆ ที่รู้ว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลแล้วจะต้องพ่ายแพ้ และต้องได้รับโทษตามกฎหมาย เพราะหลักฐานค่อนข้างชัดเจน จนทำให้ผู้ต้องหาบางรายสูญเสียเงินทองให้กับกลุ่มที่เข้ามาช่วยเหลือจนต้องเป็นหนี้เป็นสิน ทั้งๆ ที่องค์กรเหล่านี้ทราบดีว่าพยานหลักฐานชัดเจน ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ แต่เมื่อแพ้คดีก็พยายามโยนความผิดให้กับเจ้าหน้าที่และกระบวนการยุติธรรมว่ารวมหัวกันกลั่นแกล้ง จึงอยากให้ประธานคณะกรรมการสิทธิมุนษยชนแห่งชาติเข้ามาตรวจสอบองค์กรที่มีพฤติกรรมหาประโยชน์จากประชาชนเช่นนี้บ้าง”

ผู้อำนวยการศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ที่ผ่านมาทางศูนย์ฯเป็นหน่วยงานเดียวในพื้นที่ที่สามารถหาข้อมูลความเชื่อมโยงจนนำไปสู่การทำลายโครงสร้างของกลุ่มก่อความไม่สงบที่เคลื่อนไหวอยู่ จึงตกเป็นเป้าหมายการโจมตีหรือทำทุกวิถีทางจากฝ่ายที่ไม่ต้องการให้เกิดความสงบสุขในพื้นที่ หรือต้องการเห็นความวุ่นวาย ด้วยหวังให้ยุบหรือปิดศูนย์ฯลง



วนที่เหลือ

0 ความคิดเห็น:

About This Blog

รายการบล็อกของฉัน

รายการบล็อก

Our Blogger Templates Web Design

  © Blogger templates The Professional Template by Ourblogtemplates.com 2008

Back to TOP