วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 20, 2553

ปชป.ใต้เผยใบปลิวว่อนแฉจนท.รัฐก่อเหตุยิงผญบ.ยะลา-ฆ่าชาวมลายู

ที่ รัฐสภา เมื่อวันที่ 18 ก.พ. นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ ส.ส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์ นำใบปลิวเรื่อง "ปฎิบัติการก่อการร้าย ลับ ลวง พลาง ของโจร สังกัดฉก.16" มาแถลง โดยระบุว่า ใบปลิวดังกล่าวมีการแจกจ่ายทั่วจ.ยะลา ซึ่งมีเนื้อหาระบุถึง กรณีเหตุการณ์คนร้ายยิงถล่มนายเปาซี ยะโก๊ะ ผู้ใหญ่บ้านบัวทอง หมู่ 2 ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา พร้อมพวกว่า ผู้ก่อเหตุ เป็นคนร้ายในเครื่องแบบใช้อาวุธสงครามยิงถล่มเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
ซึ่งคนร้ายมี 5 คน ขับรถปิกอัพยี่ห้อ อีซูซุ ซึ่งเป็นรถของฉก.16 ทะเบียน ตจ-4923 ยะลา ขับอย่างกระชั้นชิดและใช้อาวุธปืนยิงถล่มจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ขณะเกิดเหตุมีอาสาสมัคร อ.ธารโต ผ่านมาเพื่อจะไปต้อนรับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯและคณะในตัวเมืองยะลา ซึ่งอส.ที่อยู่ในรถดังกล่าว ได้ยิงตอบโต้ โจรสังกัดฉก.16 ทำให้ส.อ.พิพัฒน์พงษ์ สนิทไทย บาดเจ็บสาหัส การปฎิบัติการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความแตกแยก และเกิดความสับสนในสังคม และได้แสดงถึงธาตุแท้ของกองทัพไทยที่มีต่อประชาชนมลายูผู้บริสุทธิ์ นอกจากนั้นใบปลิวดังกล่าวยังระบุด้วยว่า หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้หวังว่า คงจะไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐจากหน่วยงานใดเดินสายแก้ตัว ในหมู่บ้านหรือมัสยิด เพราะยิ่งเจ้าหน้าที่แก้ตัว ก็ยิ่งเพิ่มความโกรธแค้นของประชาชนที่มีต่อเจ้า หน้าที่

"จากใบปลิวดังกล่าว ผมคิดว่า บ้านเมืองต้องใช้หลักกฎหมายกับทุกคนเหมือนกัน ใครทำผิดก็ต้องรับโทษ และถ้าหากเรื่องดังกล่าวเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐจริงก็ขอให้ดำเนินการ ตามกฎหมาย โดยในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ผมจะนำใบปลิวดังกล่าวยื่นให้กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคงให้รับทราบและสั่งการตรวจสอบต่อไปว่ามีเจ้าหน้าที่ รัฐดำเนินการผิดกฎหมายหรือไม่" นายประเสริฐ กล่าว

อ่านต่อ...

วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 15, 2553

จีที 200...ความรู้สึก-วิทยาศาสตร์ และบทบาทของภาครัฐ

ผมรู้สึกอิจฉาคนอังกฤษ เพราะรัฐบาลของเขาจัดการเรื่องเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่ใช้ชื่อทางการค้าว่า ADE651 แทบจะทันทีเมื่อมีหลักฐานแสดงจะๆ ผ่านสื่อในประเทศของเขา (บีบีซี) ว่าเป็นเครื่องมือลวงโลก
หลังจากตำรวจเข้าจับกุมผู้บริหารบริษัทผู้จำหน่าย กระทรวงที่รับผิดชอบก็รีบออกคำสั่งระงับการส่งออกไปยังประเทศอิรักและอัฟกานิสถาน ซึ่งมีกำลังพลของอังกฤษปฏิบัติการอยู่ทันที
ถัดจากนั้นอีกไม่กี่วัน กระทรวงการต่างประเทศก็ส่งคำเตือนไปทั่วโลก ไม่ให้ซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ทั้ง ADE651 และ GT200 เพราะ “ไร้ประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิง”


รวมระยะเวลาตั้งแต่มีข่าวเชิงสืบสวนในรายการ News’ Night ของบีบีซี ที่มีการผ่าเครื่อง ADE651 ทุกอย่างก็เรียบร้อยภายในไม่ถึง 1 สัปดาห์
ในขณะที่ประเทศไทยเถียงกันมากว่า 1 สัปดาห์แล้วยังไม่ได้ข้อสรุป แถมประเด็นยังวนๆ อยู่แค่เจ้าเครื่องมือนี้ใช้การได้จริงหรือไม่ หนำซ้ำฝ่ายความมั่นคงยังบอกว่าถึงใช้ไม่ได้ ก็จะใช้ ใครจะทำไม!
ซ้ำร้าย...ข่าวนี้ไม่ได้เปิดจากกรณีที่ บีบีซี ผ่าเครื่อง ADE651 เมื่อวันที่ 23-24 ม.ค.แล้วสื่อไทยนำมาขยายผลต่ออย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ข่าวนี้ได้รับการนำเสนอทางเว็บไซต์โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา มาอย่างต่อเนื่องหลายเดือนแล้ว นับตั้งแต่มีข่าวฝ่ายความมั่นคงใช้เครื่อง GT200 ผิดพลาดจนเกิดระเบิดครั้งรุนแรงที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2552
เป็นการรายงานข่าวคู่ขนานกับการตรวจสอบขององค์กรภาคประชาสังคมที่นำโดย อังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ คณะกรรมาธิการวิสามัญบางชุดของวุฒิสภา และ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันอุดมศึกษาชื่อดัง รวมทั้งลูกศิษย์ปริญญาเอกที่ชื่อ จุฬา พิทยาภินันท์ ผู้ที่ติดตามตรวจสอบด้วยความสงสัยในประสิทธิภาพของเครื่อง GT200 มาเนิ่นนานก่อนจะแสดงผลผิดพลาดที่สุไหงโก-ลกเสียอีก
ยิ่งไปว่านั้น โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา ยังเคยจัดเสวนาเรื่อง “เครื่องตรวจระเบิด GT200...ประสิทธิภาพเต็มร้อยจริงหรือ?” ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อปลายเดือน พ.ย.2552 โดยเชิญ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม มาร่วมให้ข้อมูลด้วย
และเป็นเวทีแรกที่ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ ยอมรับว่า เครื่อง GT200 ไม่ได้ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งไม่ได้แม่นยำ 100% แต่ใช้สำหรับ “ชี้เป้า” และ “ลดพื้นที่ตรวจค้น” เท่านั้น โดยที่ศาลไม่รับฟังเป็นพยานหลักฐานในทางคดี
ฉะนั้นหากนับเวลาที่มีการเปิดประเด็นเรื่อง GT200 มาตั้งแต่เดือน ต.ค. ถึงวันนี้ก็ร่วมๆ 4 เดือนเข้าไปแล้ว แต่รัฐบาลยังมะงุมมะงาหรา ไม่ได้ใช้ความเด็ดขาดทางการบริหารเพื่อตัดสินใจใดๆ เลย
แม้กระทั่งแนวทางที่ง่ายที่สุดคือ สั่งการให้ผ่าพิสูจน์เครื่องโดยหน่วยงานกลาง อาทิ สวทช. หรือสถาบันการศึกษาแห่งใดก็ได้ หากไม่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์ใดๆ รองรับ ก็ค่อยตัดสินใจอีกครั้งว่าจะต้องยุติการใช้ สอบสวนกระบวนการจัดซื้อเพื่อหาคนผิด หรือจะให้ใช้ต่อไปเพราะผู้ใช้ยังเชื่อมั่นกันอยู่
แต่บทบาทของรัฐบาลที่สะท้อนผ่าน คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง มีแต่ปกป้องและกางปีกป้องเพื่อไม่ให้กองทัพถูกขีดข่วนหรือแม้แต่โดนหางเลขจากกรณีเป็นหน่วยงานที่จัดซื้อและใช้เครื่อง GT200 มากที่สุดในประเทศไทย
ทั้งๆ ที่ในพื้นที่ชายแดนใต้ยังมีการวางระเบิดเกือบทุกวัน และกำลังพลก็มีความเสี่ยงจากการใช้ GT200 อยู่ทุกวัน!
ล่าสุดได้ยินว่า คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพิ่งจะทราบเรื่องภายหลังเดินทางกลับจากต่างประเทศเมื่อวันอาทิตย์ (31 ม.ค) และเตรียมนำประเด็น GT200 เข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 2 ก.พ.นี้
นี่แหละคือสิ่งที่ผมรู้สึกท้อใจในความล่าช้า และรู้สึกอิจฉาคนอังกฤษที่มีรัฐบาลอังกฤษคอยปกป้องดูแลพลเมืองของเขา และพยายามให้พลเมืองของเขาได้ใช้สินค้าที่ปลอดภัยที่สุด มีข้อบกพร่องน้อยที่สุด ผิดกับบ้านเราที่ปล่อยให้นักวิชาการหรือประชาชนตัวเล็กๆ ยืนโต้กับกองทัพที่มีพลังอำนาจมากมาย และไม่รู้จะถูกข่มขู่คุกคามวันไหน
GT200 จึงเป็นกรณีตัวอย่างที่สะท้อน “ระบบประเทศไทย” ได้อย่างชัดเจนว่า อ่อนแอเกินไปที่จะรับมือกับปัญหาใดๆ ได้ แม้แต่ปัญหาเล็กๆ อย่างเครื่องตรวจระเบิดน้ำหนักแค่ 450 กรัมอย่าง GT200 ก็ยังรับมือไม่ไหว มิพักต้องพูดถึงงานใหญ่ๆ เรื่องยากๆ อย่างการ “ดับไฟใต้” เพราะถ้าคิดและทำในกรอบแบบนี้ ย่อมไม่มีวันสำเร็จ
ที่น่าสะท้อนใจอีกเรื่องก็คือ ความเห็นของนายทหารบางนายที่พยายามพูดโดยให้น้ำหนักกับเรื่องความรู้สึก ความเชื่อ และความมั่นใจส่วนตัว มากกว่าเหตุผลรองรับทางวิทยาศาสตร์
เริ่มจากแม่ทัพภาคที่ 4 พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร ที่บอกว่า “GT200 เป็นเครื่องที่ดีที่สุดที่เรามีในเวลานี้ แม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม ผมอยากยกตัวอย่างให้ฟังว่า สมมติว่าเราตกน้ำและว่ายน้ำไม่เป็น จะจมน้ำตาย แล้วมีขอนไม้อันหนึ่งลอยมา แต่มันไม่ 100% ถามว่าจะเกาะหรือไม่ ผมอยากให้นักวิชาการที่ออกมาพูด ลงไปในพื้นที่ดูการทำงานของทหารบ้าง ไปอยู่กับพวกผม มีเหตุระเบิดช่วยไปเคลียร์ให้หน่อย อย่ามัวแต่พูด หากมีของดีกว่านี้ผมพร้อมรับ และจะเลิกใช้ จีที 200 ทันที แต่ปัจจุบันมันไม่มีอะไรดีกว่าตัวนี้”
“ข่าวที่ออกมากระทบต่อขวัญกำลังใจของกำลังพล ผมอยากให้คนข้างนอกเอาใจมาเป็นพวกผมบ้าง และจะรู้ว่าสิ่งที่ท่านพูดบางครั้งมันไม่ใช่”
ขณะที่ พ.อ.ดร.ธีรนันท์ นันทขว้าง จากศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กล่าวในรายการคมชัดลึก ทางสถานีโทรทัศน์เนชั่น แชนนัล เมื่อหลายวันก่อน...
“ผมเคยเป็นทหารที่ออกสนาม อยากพูดแทนเพื่อนๆ น้องๆ ที่ปฏิบัติงาน นาทีนี้ไม่ว่าจะเป็นเครื่องตรวจระเบิดหรืออะไรก็ตาม มันถูกจัดหามา และถูกแจกไปยังคนที่ปฏิบัติหน้าที่ในสนามหมดแล้ว ไม่ใช่ขั้นตอนที่เราจะพิจารณาว่าเอาเข้าประจำการดีหรือไม่ ผมเคยถามพี่ๆ น้องๆ ที่ภาคใต้ว่าใช้แล้วเป็นอย่างไร ก็บอกว่ามีดีกว่าไม่มี ช่วยให้รอดตายมาแล้วหลายครั้ง”
“การปฏิบัติงานในสนาม ไม่รู้กระสุนจะมาเมื่อไหร่ ไม่รู้สะเก็ดระเบิดจะมาตอนไหน อะไรคือฟางเส้นสุดท้ายให้กลับบ้านไปหาลูกหาเมียได้ เขาก็ใช้ ลองเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์รังนก ทางการแพทย์บอกว่าไม่มีประโยชน์ แต่เวลาเราจะไปเยี่ยมคนป่วย สิ่งแรกที่เราซื้อไปเยี่ยมคือรังนก กินแล้วรู้สึกดี”
“ฉะนั้นเรื่องนี้ในทางวิทยาศาสตร์ก็ให้นักวิทยาศาสตร์พิสูจน์ไป แต่เรื่องความรู้สึกของคนที่ปฏิบัติงานในสนาม เคยมีการพูดถึงกันหรือไม่เรื่องวิถีชีวิตที่เขาต้องเจอ ทุกคนอยากกลับบ้านไปหาครอบครัว เราต้องการเอาเครื่องมือที่เขาเชื่อมั่นออกจากมือเขา แล้วจะทำอย่างไรต่อ เขาต้องปฏิบัติหน้าที่ ตี 3 ต้องออกลาดตระเวน จะให้เขาไปมือเปล่าหรือ ฟางเส้นสุดท้าย 10% เขาก็ต้องคว้า ผมออกสนามก็วิ่งหาพระ หาเครื่องรางของขลังเพื่อความมั่นใจ ฉะนั้นถ้าเราจะเอาออกจากมือเขา ก็ต้องคิดด้วยว่าจะให้อะไรทดแทน”
“เครื่องมือนี้ผมไม่ได้ฟันธงว่าใช้ไม่ได้ทางวิทยาศาสตร์ ผมผ่านประสบการณ์ในสนามมา เวลาที่ผมเผชิญภาวะวิกฤติ เผชิญกับความเป็นความตาย ผมไม่ได้นึกถึงวิทยาศาสตร์ แต่ผมนึกถึงอะไรบางอย่างที่ผมเชื่อ แล้วผมก็รอดมาได้ มันมีอะไรมากกว่าสิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์ นั่นคือจิตใจ ต้องให้ทหารที่ไปทำหน้าที่แทนคนอื่นได้มั่นใจ เขาถึงกล้าเดินไปตายแทนเรา ฉะนั้นองค์ประกอบมันสลับซับซ้อนกว่า”
ทั้งหมดเป็นคำพูดของนายทหาร 2 คนที่ผมหยิบมาให้พิจารณา ซึ่งเป็นนายทหารระดับผู้นำความคิดของกำลังพลในกองทัพ และผมเห็นว่าน่าตกใจหากคิดเช่นนั้น เพราะเป็นตรรกะที่ไม่อาจยอมรับได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการนำ GT200 มาเปรียบกับขอนไม้ (ช่วยชีวิต) กลางกระแสน้ำเชี่ยว หรือการเชิดชู GT200 เป็นดั่งพระเครื่องก็ตาม
น่าคิดว่าการนำเรื่อง “ความรู้สึก” มาปะปนกับ “วิทยาศาสตร์” มีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะเครื่องมือตรวจหาวัตถุระเบิดไม่ใช่ของขลังที่ใช้สร้างความมั่นคงทางจิตใจของทหาร แต่มันเหมือน “เสื้อเกราะ” ที่จับต้องได้ ซึ่งสมควรเลือกใช้เฉพาะสิ่งที่ดีที่สุดเท่านั้น
ถ้าเสื้อเกราะไม่มีคุณภาพ กันกระสุนไม่ได้จริง มีค่าเท่ากับไม่ได้ใส่ หรือเครื่องตรวจวัตถุระเบิดที่ไม่มีความแม่นยำ หาระเบิดเจอบ้างไม่เจอบ้าง มีค่าเท่ากับไม่ได้ตรวจ ถามว่าเราจะยังคงยอมให้กำลังพลใช้ทั้งเสื้อเกราะและเครื่องตรวจระเบิดชนิดนั้นอยู่อีกหรือไม่ และคำอธิบายที่ว่าผ่านขั้นตอนการจัดซื้อจัดหาไปแล้ว จึงต้องใช้ต่อไป ไม่น่าจะใช่เหตุผลที่ดีพอ
เพราะถึงที่สุดแล้ว ฟางเส้นสุดท้ายของกำลังพลน่าจะหมายถึงการที่ผู้บังคับบัญชาไม่พยายามหาเครื่องมือที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันชีวิตลูกน้องมากกว่า…หรือไม่จริง ?

อ่านต่อ...

Our Blogger Templates Web Design

  © Blogger templates The Professional Template by Ourblogtemplates.com 2008

Back to TOP