4 ศพชาวบ้านที่ชายแดนใต้ มากกว่าคำว่าเสียใจ เยียวยา
ส่วนที่จะให้แสดง ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ ขอความสันติ ความจำเริญแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
เมื่อคืนวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมากล่าวคือทหารพรานได้ยิงรถกระบะคันหมายเลขทะเบียน บท ๓๑๐๕ ปัตตานี กำลังเดินทางไปร่วมละหมาดศพ จนเป็นเหตุให้คนแก่และเยาวชนที่โดยสารในรถยนต์คันดังกล่าวเสียชีวิต ๔ ราย และได้รับบาดเจ็บ ๔ ราย ที่หมู่ที่ ๑ ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
หลังจากชาวบ้านเสียชีวิตอีกวันมีแถลงการณ์จากผู้ใหญ่ในกองทัพและคนของรัฐบาลจนหนังสือพิมพ์กระแสหลักจากส่วนกลางพาดหัวว่าผู้ตายเป็นแนวร่วม ถึงแม้ในวันต่อมาบุคคลต่างๆจะออกมาขอโทษ ซึ่งการสัมภาษณ์ในเชิงแบบนี้จะมีตลอดไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลเช่นเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ ไอร์ปาแย และอื่นๆ ส่วนที่เหลือ หากจะนับความผิดพลาดของหน่วยงานความมั่นคงโดยเฉพาะทหารพรานจากคดีต่างๆเหล่านี้ ซึ่งชาวบ้านค้างคาใจและรู้สึกไม่ดีตลอดสำหรับทหารพรานเช่น เหตุการณ์กำลังทหารพรานจากกรมทหารพรานที่ 44 (ทพ.44) เข้าตรวจค้นจับกุมกลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์โดยถูกกล่าวหา กำลังเสพยาเสพติดในท้องที่บ้านปาตาบาระ หมู่ 1 ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีก 2 คน เมื่อคืนวันที่ 22 ส.ค.2552 และกองร้อยทหารพรานที่ 4302 และ 4306 ยิง นายหะซัน มามะ อายุ 16 ปี และ นายอับดุลลอฮ์ แวเยะ เสียชีวิต เมื่อค่ำวันที่ 18 เม.ย.2554 ในท้องที่ ต.ปุโลปะโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยฝ่ายทหารอ้างว่าวัยรุ่นทั้ง 2 คนเป็นคนร้าย (โปรดดูข้อมูลในสถาบันข่าวอิศรา)
อีกทั้งทหารถูกกล่าวหาซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยอื่นๆ อีกมากมายเช่นคดี อิหม่ามยะพา กาเซ็ง อัซฮารี สะมะแอและอุสตาซอมีนุดดีน กะจิ
จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งเป็นความผิดพลาดหลายต่อหลายครั้ง อาจจะนำไปสู่การเพิ่มดีกรีความไม่พอใจจากประชาชนมุสลิมให้มีการการถอนทหารออกนอกพื้นที่ เหมือนที่เกิดขึ้นในฟิลิปินส์กรณีทหารสหรัฐอเมริกาและสร้างความชอบธรรมมากขึ้นให้กับเครือข่ายภาคประชาชนในการต่อต้านกฎหมายพิเศษ เพราะการคงทหารกว่าหกหมื่นนายพร้อมหมดงบประมาณเป็นพันล้านยังไม่สามารถสร้างความปลอดภัยให้ประชาชนโดยเฉพาะชุมชนมุสลิมอย่างแท้จริง
ท้ายนี้ผู้เขียน ขอแสดงความเสียใจต่อญาติของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวและอื่นๆในจังหวัดชายแดนภาคใต้และเรียกร้องให้รัฐให้ความยุติธรรมในเชิงปฏิบัติกับทุกฝ่าย ที่สำคัญผู้นำรัฐและบังคับบัญชาควรมีสปิริตมากกว่าคำว่าเสียใจ เยียวยา
คำว่า สปิริต หรือ ภาษาอังกฤษว่า Spirit ซึ่งหมายถึง จิตใจ วิญญาณ หัวใจ อารมณ์ ความเด็ดเดี่ยว
การแสดงความรับผิดชอบ การยอมรับการกระทำ รวมถึงการตัดสินใจเพื่อแสดงจุดยืน ความรับผิดชอบ ต่อความผิดพลาดจากการกระทำ หรือแม้แต่ยังไม่ผิดพลาด แต่เป็นที่ติดใจสงสัย
หากเป็นไปได้นายกรัฐมนตรี "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ต้องรีบแก้ไขโดยลงเข้าพบชาวบ้านด้วยตนเอง ประกอบกับสื่อใดที่พาดหัวผิดพลาดว่าชาวบ้านเป็นโจรใต้ก็ต้องพาดหัวแก้ไขข่าวให้ใหญ่กว่าหรือเท่ากับวันแรกที่พาดหัวข่าวด้วยเช่นกัน
ขอประณามผู้ที่กระทำจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ ทรัพย์สินของประชาชนได้รับความเสียหาย
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น