วันอังคาร, กรกฎาคม 03, 2555

ผู้กลับใจเข้ามอบตัว

ผู้กลับใจเข้ามอบตัว : มนุษย์สองหน้า โดยแคน สาริกา เมื่อวันอังคารที่แล้ว ผมทวีตข้อความลงบนทวิตเตอร์ แจ้งว่า "ผรท.อีสานมาปักหลักชุมนุมประท้วงที่ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล" สักพักก็มีคนทวีตมาถามว่า ผรท.คืออะไรครับ ? ผมก็เลยตอบไปทันที ผรท. ย่อมาจาก "ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย" และอธิบายเพิ่มเติมว่า การบัญญัติคำเรียกขานชื่อ "ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์กลับใจ" เสียใหม่นั้นมีขึ้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2525 เนื่องจากวันดังกล่าว มีพิธีประกาศยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธของเขตงานภูสระดอกบัว กองทัพภาคที่ 2 จึงเห็นควรใช้ชื่องานวันสันติภาพ และเรียกผู้เข้ามอบตัวต่อทางการว่า ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย อันเป็นไปตามนโยบายการเมืองนำการทหาร หรือคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 นับจากปี 2526 เป็นต้นมา หากมีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) เข้ามอบตัวต่อทางการเป็นกลุ่มหรือเป็นรายบุคคล ก็จะเรียกว่า ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) ไม่มีคำว่า ผกค.กลับใจเข้ามอบตัวอีกต่อไป หลายคนยังสงสัยว่า เหตุใด ผรท.จึงลุกขึ้นร้องขอความช่วยเหลือไม่จบไม่สิ้น ? และบางฝ่ายเข้าใจว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือ ผรท.นั้น เป็นนโยบายหาเสียงของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ สมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรี หลังการรัฐประหาร 2549 ข้อเท็จจริงคือ มีขบวนการเรียกร้องขอความช่วยเหลือมาก่อนหน้านั้น เพียงแต่ พล.อ.สุรยุทธ์ หยิบแฟ้มเก่ามาปัดฝุ่นจัดการให้ ผรท.ได้รับเงินช่วยเหลือเท่านั้นเอง เรื่องเดิมมีอยู่ว่า กลุ่มอดีตสหายเขตภูพานได้เข้ามอบตัวที่บ้านหนองผือ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ ได้มีข้อตกลงกับกองทัพภาคที่ 2 เมื่อปี 2526 ดังนี้ 1.ให้สิทธิทางการเมืองเหมือนประชาชนทั่วไป 2.จัดหาที่ดินที่เหมาะสมให้ ซึ่งให้ครอบครัวละ 15 ไร่ และให้ที่อยู่อาศัยครอบครัวละ 1 ไร่ 3.จัดสร้างบ้านให้ตามความจำเป็นของบุคคล วันเวลาผ่านไปเรื่อยๆ "พันธสัญญา" ที่ว่านั้นก็ไม่ปรากฏเป็นจริง ผรท.อีสานกลุ่มนั้น จึงเรียกร้องผ่านศูนย์การุณยเทพ แต่ก็ยังไม่เป็นผลตามข้อตกลง ปี 2539 ผรท.อีสานเหนือ-อีสานใต้ ผนึกกำลังเคลื่อนไหวทวงสัญญาเรื่องข้อตกลงต่างๆ ตามคำสั่ง 66/2523 โดยเรียกร้องผ่านกองทัพภาคที่ 2 แต่ก็ถูกโยนกลับไปที่รัฐบาลในอดีต ต้นปี 2541 ผรท.อีสานใต้ ได้ตั้ง "กลุ่มแนวร่วมพันธมิตรประชาชนอีสาน" (กพอ.) ขึ้นสมัย ชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ รอบที่สอง และได้เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหานี้หลายครั้ง แต่ก็ไม่บังเกิดผล ผ่านมาถึงยุคไทยรักไทย ผรท.อีสานได้ยื่นหนังสือเรียกร้องผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา ผรท.อีสาน ราวต้นปี 2545 ที่น่าสนใจตรงที่ประธานคณะกรรมการชุดดังกล่าวคือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่เวลานั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ตอนหลังมีการเปลี่ยนตัวประธาน เมื่อ พล.อ.สุรยุทธ์ย้ายไปเป็น ผบ.สส.) หลังจากนั้นก็มีการประชุมกันเรื่อยมา จนได้ข้อสรุปตัวเลขผู้ที่เข้าข่ายรับการช่วยเหลือ 2,602 คน โดยรัฐบาลทักษิณจะมอบที่ดิน 5 ไร่ (ราคาไร่ละ 15,000 บาท) และจัดหาวัวให้คนละ 5 ตัว (ตัวละ 10,000 บาท) แล้วเรื่องมันก็ติดขัดตรงที่คณะรัฐมนตรีท้วงติงว่า การช่วยเหลือทำไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ เนื่องจาก พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ฯ ยกเลิกไปแล้ว ฉะนั้นคำสั่งที่ 66/2523 ควรเลิกตามไปด้วย เหมือนคนจนถูกหวย เมื่อ พล.อ.สุรยุทธ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี จึงนำเรื่องการช่วยเหลือ ผรท.ที่ตกค้างอยู่ในสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มาดำเนินการไปตามที่ร้องขออย่างทันท่วงที โดยใช้งบประมาณ 70 ล้านบาท ผู้ที่ไม่ทราบเรื่องเดิมมาก่อน ก็นึกว่า พล.อ.สุรยุทธ์ลุกขึ้นมาจัดการเอง เพื่อหาเสียงกับอดีตสหายอีสาน แต่ความจริงทั้งหมดก็ดังที่เล่ามาข้างต้นนี้ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ "พันธสัญญา" ระหว่างอดีตสหายกับกองทัพ เปรียบเหมือนหนี้ทางใจที่ยังชำระกันไม่หมด รัฐบาลอภิสิทธิ์จ่ายเงินไปสองพันล้านบาท ช่วยเหลือ ผรท.หมื่นกว่าคนทั่วประเทศ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อาจต้องจ่ายอีกหลายพันล้านบาท เพราะตัวเลข ผรท.พุ่งขึ้นเป็น 6-7 หมื่นคนแล้ว นี่คือเงินภาษีที่รัฐบาลต้องให้แก่ "ผู้กลับใจเข้ามอบตัว" ตามพันธสัญญาที่แอบอิงผลประโยชน์ทางการเมือง

0 ความคิดเห็น:

About This Blog

รายการบล็อกของฉัน

Our Blogger Templates Web Design

  © Blogger templates The Professional Template by Ourblogtemplates.com 2008

Back to TOP