วันพฤหัสบดี, กันยายน 17, 2552

การเมืองนำการทหาร แค่น้ำลายดับไฟใต้‏

 


"วันนี้...สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ แนวโน้มรุนแรงขึ้นและมีความเสียหายมากขึ้นด้วย"

อาจารย์อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง ให้ทัศนะในฐานะนักวิชาการอิสระที่จับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มายาวนาน

อาจารย์อัฮหมัด สมบูรณ์ บอกว่า ทหารพราน 5 ศพ...ถูกยิงในฐาน เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ ถ้าติดตามข่าวอย่างต่อเนื่อง...จะเห็นว่านับตั้งแต่เหตุยิงชาวบ้านที่กำลังละหมาดในมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอปาแย อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ต่อเนื่องมาถึงวันนี้...เทรนด์ความไม่สงบยิ่งแรงขึ้น
    


"ชี้อะไรได้หลายอย่าง...โดยเฉพาะความอ่อนแอกลไกภาครัฐ"เรื่องการข่าว ยังต้องพูดเหมือนเดิมว่า ไม่เป็นเอกภาพ ถัดมาก็เป็นเรื่องของความรุนแรงที่เกิดจากการกระทำของกองกำลังไม่ทราบฝ่าย



"มุมมองชาวบ้าน...มองว่าเป็นการกระทำของกลไกส่วนหนึ่งที่รับรู้เรื่อง รับรู้ดี ขนาดเจ้าหน้าที่บางหน่วยเองยังรู้ดีขนาดที่ว่า...ใครเป็นคนทำ แต่ไม่สามารถบอกความจริงให้ประชาชนในภาพกว้างรับรู้ได้"
ลักษณะปัญหาไม่ได้เหมือนเดิม หรือวนอยู่ที่เดิม แต่กรณีปัญหาสะสมมากกว่าเดิม

"ปัญหาเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา บอกไม่ได้ว่ากรณีไหนบ้างที่เป็นการกระทำที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐบางคน ที่สืบได้...สอบสวนได้...ทำโทษให้ชัดเจน"
เมื่อไม่มีอะไรชัด ก็ไม่สามารถตอบคำถามอะไรได้

กรณีรุนแรงที่สุด ยิงในมัสยิดฯค่อนข้างรู้ชัดว่าใครเป็นคนทำ...ใช้ปืนที่ไหน แต่ชาวบ้านได้ข่าวกระเซ็นมาว่า เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ...ทหาร...ตำรวจ ก็ยังขัดแย้งกันเอง
ทั้งขัดแย้งทางความคิด ขัดแย้งในการปฏิบัติ

"ความคิดไม่เหมือนกันอยู่แล้ว...ในการที่จะดูแลความปลอดภัยของประชาชน ตำรวจทำหน้าที่อย่างเดียว เมื่อเกิดเหตุแล้วก็ไปตรวจที่เกิดเหตุ ในแง่การป้องกันแทบจะโยนให้ทหารไปทั้งหมด...
ทหารเองก็มีหลายหน่วย บางหน่วยถูกปลูกฝัง...ฝังมุมมองอะไรบางอย่าง มองเรื่องกระบวนการแก้ไขในสภาวะสงครามไปอีกแบบหนึ่ง

ต้องการให้เด็ดขาดเพียงอย่างเดียว แต่ไม่มองว่ากระบวนการภาคประชาชนโตวันโตคืน ในแง่ของข้อมูลข่าวสาร ที่ตามมาคือความรู้สึกที่บอกว่า เอ๊ะ...รัฐทำไมไม่ชี้วัด การกระทำแต่ละอย่างให้ชัดเจนเสียที..."

สถิติที่คุยกันในวงกาแฟ ในพื้นที่มีคดีเกิดขึ้น 50,000 คดี แต่เป็นคดีความมั่นคง 6,000 กว่าคดีเท่านั้น
เหตุยิงในมัสยิดไอปาแย ในหัวใจชาวบ้านค่อนข้างโน้มเอียงไปว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่สายเหยี่ยว เชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่เองก็รู้ว่าใครเป็นคนทำ แล้วก็รู้ดีว่าคนที่ถูกออกหมายจับอยู่หรือไม่อยู่ รวมไปถึงผู้ร่วมกระทำอีก 3-4 คน ที่ถูกปกปิดเอาไว้

"รัฐบอกว่าเป็นแค่คนคนเดียวทำ แต่ชาวบ้านไม่เชื่อ...ความจริงของชาวบ้าน กับความจริงของรัฐ มันไม่เหมือนกัน"

ร่ำลือกันว่ามีแหล่งข่าวให้ข้อมูลว่า ผู้ที่ถูกออกหมายจับเป็นอดีต อส.ทหารพราน แล้วอีก 3-4 คน ที่ไม่ออกหมายจับ...ตำรวจก็พยายามกดดันให้ออกหมายจับ แต่อีกฝ่ายก็ไม่ยอม

"ข่าวลือในพื้นที่เป็นอย่างนี้ แต่เท็จจริงอย่างไรก็ไม่มีใครรู้ได้ ยิ่งทวีความคลุมเครือในการที่รัฐจัดการสิ่งที่ชัดเจนไม่ได้" อาจารย์อัฮหมัด สมบูรณ์ ว่า

ปัญหามีว่า...กรณีไอปาแยสะเทือนไปทั่วโลก ตุรกี เยอรมนีก็มีการประท้วง ถึงวันนี้...รัฐจะต้องไม่พึ่งข้อมูลไร้สาระจากพื้นที่มากนัก อาจจะต้องมีองค์กรต่างหากที่ลงไปดู...หาความจริง แสดงความจริงให้ข้อเท็จจริงกับประชาชนคนไทยทั้งประเทศได้ทราบ

การแก้ปัญหาระดับนโยบายการเมืองยังนำการทหาร แต่ในความเป็นจริง

สิ่งที่เห็นเกิดเป็นรูปธรรมที่ว่า...การเมืองนำการทหารเป็นการพูดแบบใช้บาลีมากกว่า

"การเมืองตรงนี้เป็นการเมืองที่ทหารนำ...แล้วทหารจะบอกว่า ผมลงมาเพราะการเมืองเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว"

ทัศนะส่วนตัว อาจารย์อัฮหมัด สมบูรณ์ มองว่า รัฐบาลเองตอนเป็นฝ่ายค้านมีข้อมูลดี แต่พอเป็นฝ่ายรัฐบาลก็ยังลังเลอยู่เหมือนเดิม

"ช่วงที่ประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน เราวาดหวังกันว่า...อยากจะเห็นการแก้ไขปัญหาในรูปแบบที่ประชาธิปัตย์นำเสนอ แต่ถึงวันนี้ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเลย นอกจากการลงพื้นที่ของคุณสุเทพ คุณถาวร คุณอนุพงษ์ บ่อยๆ"

สุ้มเสียงชาวบ้านที่มีต่อรัฐบาลนี้...ไม่ต่างอะไรกับยุคก่อนที่ว่าประชาธิปัตย์เล่นการเมืองอย่างเดียว แต่ในแง่การปฏิบัติต้องปรับเปลี่ยนอีกเยอะ

ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบัน ความกล้าที่จะเสี่ยงในการตัดสินใจดูไม่ค่อยเข้มแข็งสักเท่าไหร่ เหตุการณ์จังหวัดชายแดนใต้ ถ้ายังเป็นอย่างนี้...ไม่พยายามหักดิบ คิดว่าไปไกลแน่

"หักดิบ...ต้องกล้าที่จะหักมุมในการที่จะแก้ไขชัดเจน สมมติว่าจะให้ฝ่ายปกครองมีอำนาจมากขึ้นก็ว่ากันไป หรือจะให้ฝ่ายตำรวจซึ่งจะต้องดูแลในเรื่องความปลอดภัยในเมืองก็ว่ากันไป...ไม่ใช่ว่าทหารพลุกพล่านไปหมด แต่ไม่สามารถรักษาความปลอดภัยได้"

"ชาวบ้านเคยได้ยินนายทหารบางนายพูดว่า ผมดูแลถนนสายหลัก ถนนสายย่อยดูแลไม่ได้เพราะกำลังไม่พอ แสดงว่ากำลังหลัก ที่เดินลาดตระเวนบนถนนสายหลักก็แก้ปัญหาไม่ได้"

สร้างรั้วบังเกอร์แน่นหนา ไม่ได้ป้องกันความปลอดภัยให้กับประชาชน แต่ป้องกันเจ้าหน้าที่มากกว่า...

เหตุการณ์เกิดขึ้นทุกวัน...ต้นประเด็นปัญหาเป็นสิ่งที่ต้องเน้นย้ำ ต้องยอมรับว่ามีคนไม่น้อยที่คิดกันว่า...ปัญหามาจากขุมเงินอดีตนายกฯส่งมาป่วนใต้?

"ถ้าจะทำ...ก็ทำเฉพาะเรื่องการเมืองในกรุงเทพฯ การเมืองท้องถิ่นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คงมาเกี่ยวข้องเพียงเล็กน้อย..."

เรื่องหลัก ยังเป็นการบริหารจัดการ กลไกรัฐที่ดูแลความมั่นคง

วันนี้ทหารค่อนข้างจะมีอำนาจมากเกินไป ทำให้ฝ่ายปกครอง ฝ่ายตำรวจต้องง่อยเปลี้ย...อ่อนแรงลง กลไกตำรวจ ฝ่ายปกครองมีถึงระดับหมู่บ้าน ตำบล ย่อยลงไปถึงกลุ่มหมู่บ้านเล็กๆ แต่กลไกทางทหารไม่มี กำลังพลจำนวนไม่น้อยก็มาจากต่างพื้นที่

"ความต่างมากมายเกิดขึ้น คิดถึงแต่จะแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์ คิดแบบโบราณ เมื่อ 20-30 ปี...ไม่น่าจะใช่ทางแก้ปัญหาที่ดี"

อาจารย์อัฮหมัด สมบูรณ์ ย้ำว่า มวลชนทหารทำ เรื่องอาชีพทหารทำ เรื่องสิ่งแวดล้อมทหารก็ทำ แล้วเจ้าหน้าที่ปกติล่ะไปอยู่ที่ไหน ที่ควรจะเป็นต้องใช้ กลไกส่วนนี้ให้เป็นประโยชน์ในการคลี่ปมปัญหา

"ทหารก็บอกว่า...เจ้าหน้าที่ไม่กล้าลงพื้นที่ ก็ต้องถามว่าจริงหรือ? หรือว่าเป็นข้ออ้าง เพื่อให้เห็นแต่ภาพความหวาดกลัว ความหวาดผวา"

อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องมีประโยชน์ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มนี้รู้จักคน รู้จักพื้นที่ดีอยู่แล้ว ทว่า...เหตุการณ์เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่หลบชิดซ้าย ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่เกิดมานานแล้ว ตั้งแต่ยุครัฐบาลนายกฯทักษิณ...

ผ่านมาถึงวันนี้ ไม่มีอะไรดีขึ้น น่าจะชี้ชัดแล้วว่าแก้ปัญหาไม่ได้

"มูลเหตุหลักของปัญหา...ยังมาจากความเจ็บแค้น รัฐบาลไม่สามารถส่งสัญญาณดีๆในเรื่องของความเป็นธรรม การแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

วันแต่ละวันที่เกิดขึ้นมีข้อสงสัยตลอด ใครทำกันแน่? ประชาชนก็ว่าทหารทำ...ตำรวจทำ ขณะเดียวกัน ทหารเองก็พยายามที่จะบอกว่า...กลุ่มขบวนการเป็นคนทำ"

จริงๆแล้วการแก้ไขปัญหา ถ้ายังวนอยู่ในอ่างอย่างนี้ มันแก้ไม่ได้หรอก การทำสงครามความคิด ทหารไม่ได้คิดเลย ตำรวจก็ไม่ได้คิดเลย...คิดเรื่องกำลัง ติดอาวุธอย่างเดียว

"แนวทางแก้ไขปัญหา เป็นการทำสงครามความคิดเหมือนสมัยคอมมิวนิสต์ แต่จะหนักกว่า เพราะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกี่ยวเนื่องกับเรื่องอื่นๆอยู่ด้วย...ดินแดน ศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อ อัตลักษณ์ ที่ฝังลึกจนเป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์"

ท่ามกลางสุญญากาศระหว่างรัฐ...ประชาชน กลุ่มอิทธิพล กลุ่มของเถื่อน ยาเสพติด ธุรกิจมืด ก็เข้ามาผสมโรงแสวงประโยชน์ใช้เป็นช่องทางขยายงาน ขยายอิทธิพล

"ที่น่ากังวล...ทหารยิ่งอยู่นาน การสร้างอิทธิพลระดับพื้นที่ก็จะมีมากขึ้น หรือบางทีไม่แน่ว่า อาจเป็นเพราะกลไกรัฐที่ไม่ชอบทหารมีมากขึ้น หรือบางทีอาจเป็นเพราะกลไกที่ไม่ชอบทหารเป็นฝ่ายสร้างเองก็เป็นได้..."

ขณะที่รัฐเร่งโหมงบประมาณ ทุ่มกำลังพลลงไปดับไฟใต้ อีกมุมหนึ่งก็เหมือนเติมเชื้อไฟให้ยิ่งโหม...ทางออกที่เหมาะสมจะเป็นอย่างไร รัฐบาลประชาธิปัตย์ ผู้รู้ตื้นลึกหนาบางน่าจะรู้ดีอยู่แล้ว

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ,  25 กันยายน 2552 เวลา 21:53  

แย่จังน่ะ

ไม่ระบุชื่อ,  26 กันยายน 2552 เวลา 11:20  

ทหารพรานไม่ได้ถูกยิงในฐาน ฯ นะครับ เป็นการถูกยิงในระหว่างเดินทางกลับฐาน ฯ ของทหารพรานซึ่งเป็นมุสลิม ไปเปิดปอซอ ไม่ได้ถือปืน ไม่ได้แต่งเครืองแบบ ...กรุณารับผิดชอบต่อการให้ข่าวสารด้วยครับ..

About This Blog

Our Blogger Templates Web Design

  © Blogger templates The Professional Template by Ourblogtemplates.com 2008

Back to TOP