การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ยังคงเป็นภารกิจสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีความรุนแรงและก่อให้เกิดความสูญเสียมาอย่างยาวนานกว่าครึ่งทศวรรษเช่นนี้ ซึ่งส่งผลให้มีเด็กกำพร้าและสตรีหม้ายเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน
งานเยียวยาเกือบทุกมิติในปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เฉพาะกลุ่มเด็กกำพร้าและสตรีหม้าย มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลเป็นกรณีพิเศษ ชื่อว่า คณะอนุกรรมการบูรณาการการให้ความช่วยเหลือเยียวยาเด็กกำพร้าและสตรีหม้ายที่ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ หรือ กยต. ซึ่งเพิ่งจัดประชุมกันไปเมื่อไม่นานมานี้เอง โดยคณะ กยต.เชิญผู้แทนจากโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา เข้าให้ข้อมูลและสังเกตการณ์ด้วย การประชุมของคณะ กยต.ที่เพิ่งจบลง นับเป็นการประชุมครั้งที่ 2 ของปี 2553 ที่สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 12 จังหวัดสงขลา โดยมี นายวัลลภ พลอยทับทิม ปลัดกระทรวง พม.นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานด้วยตนเอง สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาในลำดับต้นๆ ที่ต้องเร่งสะสางอย่างแท้จริง
“ผมคิดว่าจริงๆ แล้วการดูแลช่วยเหลือของ กยต.คงต้องทำไปพร้อมๆกันหลายๆ เรื่อง แต่ถ้ามองในแง่กลุ่มเป้าหมายนั้น กลุ่มเด็กและกลุ่มสตรีหม้ายก็ยังเป็นคนสองกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะเรื่องเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษา ต้องทำให้เด็กได้รับการศึกษาให้มากที่สุด ส่วนสตรีหม้ายก็ต้องเสริมพลังให้สามารถกลับมาทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลครอบครัวได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งต้องดูแลทั้งจิตใจและเรื่องการดำรงชีวิต” ปลัดวัลลภ กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา”
อย่างไรก็ดี หากมองในภาพกว้าง สิ่งที่ กยต.ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องคือการดูแลสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นในชุมชน เพราะชุมชนคือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กและสตรีหม้าย
“ยุทธศาสตร์ของเราก็คือต้องทำให้หมู่บ้าน ชุมชนดูแลผู้ได้รับผลกระทบ ต้องเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการทำงาน เพราะจะเป็นหลังพิงอันแข็งแกร่งให้กับผู้สูญเสียและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด” ปลัดวัลลภ กล่าว
ปลัดกระทรวง พม.ย้ำด้วยว่า ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มอื่นๆ จะถูกทอดทิ้ง เพราะมีหน่วยงานรัฐรับผิดชอบทุกกลุ่ม รวมทั้งครอบครัวของผู้ต้องขังคดีความมั่นคงด้วย เพียงแต่ว่ากลุ่มสตรีหม้ายเป็นกลุ่มเร่งด่วนที่มีคณะทำงานดูแลเป็นการเฉพาะเท่านั้นเอง
กยต.ชง 9 โครงการเชิงรุกปี 2553
จากผลการประชุม กยต.เที่ยวล่าสุด ทำให้ทราบว่า กยต.ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดูแลเสริมพลังให้กับเด็กกำพร้าและสตรีหม้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการเฉพาะในปี 2553 จำนวน 9 โครงการ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 3,978,700 บาท แยกเป็น
จังหวัดนราธิวาส 1 โครงการ คือโครงการอาชีพเสริมระยะสั้นให้แก่สตรีหม้าย งบประมาณ 1,038,000 บาท
จังหวัดยะลา 6 โครงการ ได้แก่ โครงการเวทีประชาคม “ทางออก บอกจากใจ” โครงการกีฬาสานสัมพันธ์หัวอกเดียวกัน โครงการสร้างน้องให้เป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม โครงการค่ายทักษะความคิดเพื่อเด็กกำพร้า โครงการต้นกล้าพาแม่สู่ฝัน โครงการส่งเสริมอาชีพแก่สตรีหม้ายผู้ได้รับผลกระทบ รวมใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,703,300 บาท
จังหวัดปัตตานี 1 โครงการ คือโครงการการซับน้ำตาเสริมพลังใจสู่ครอบครัวเข้มแข็ง ใช้งบประมาณ 683,500 บาท
จังหวัดสงขลา 1 โครงการเช่นกัน คือ โครงการครอบครัวเดียวกัน ใช้งบประมาณ 553,500 บาท
ระวังแก๊งหาประโยชน์จากคราบน้ำตา
แม้จะมีโครงการเยียวยาพร้อมงบประมาณลงไปในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แต่จากมุมมองผู้ได้รับผลกระทบเองยังเห็นว่ามีอีกหลายเรื่องราวที่น่าเป็นห่วงในบริบทของงานเยียวยา
นางยินดี แซ่เหง่า สตรีผู้สูญเสียจาก จ.ยะลา ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปรึกษากลุ่มแม่บ้านในพื้นที่ กล่าว่า ที่ผ่านมาโครงการต่างๆ ของ กยต.เป็นโครงการที่ดี แต่ยังไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร และแม้จะมีหลายปัญหาเกิดจากโครงการและกิจกรรม แต่ผลสะท้อนกลับยังไปไม่ถึง กยต. ทำให้ปัญหายังคงคาราคาซัง
“เท่าที่เคยประสบมาด้วยตัวเอง หลายโครงการมักจะนำกลุ่มพวกเรา ไปรวมกลับอีกกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบ พอมีการทำงานในพื้นที่ก็ให้กลุ่มที่ไม่ใช่ผู้ได้รับผลกระทบไปทำ สุดท้ายผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ ก็เสียโอกาส ไม่ได้ประโยชน์อะไร จุดสำคัญที่เป็นต้นเหตุของปัญหาคือโครงการต่างๆ เหล่านี้มักจะผ่านมาทางผู้นำในพื้นที่ และผู้นำเหล่านั้นก็นำเอาสิทธิประโยชน์ที่ผู้สูญเสียสมควรจะได้รับ ไปมอบให้กับพวกพ้องและคนใกล้ชิดแทน และอ้างว่าคนเหล่านั้นได้รับผลกระทบ ฉะนั้นจึงอยากให้เปลี่ยนแนวทางการทำงานใหม่ โดยส่งผ่านโครงการและงบประมาณมายังตัวผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงเลย”
“ฉันเห็นมาหลายกรณี เอาประโยชน์จากเด็กกำพร้า ไม่รู้ทำกันได้อย่างไร มีคนมาบอกหลายคนแล้ว อยากให้ทาง กยต.มาดูแลเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องเป็นราวด้วย จริงๆ ยังมีอีกหลายปัญหาที่กลุ่มสตรีหม้าย จ.ยะลา เผชิญอยู่ และอยากให้ กยต.ลงพื้นที่มาพูดคุยกับพวกเราเอง จะได้ทราบความจริง และปรับกระบวนการทำงาน” นางยินดี กล่าว
ขณะที่ นางประไพ หมะสะอะ หนึ่งในเครือข่ายสตรีผู้สูญเสียจากสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สะท้อนว่า เมื่อก่อนหลายๆ โครงการสามารถเข้าถึงผู้สูญเสียและผู้ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง ทำให้หลายคนมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ระยะหลังๆ โครงการต่างๆ เริ่มหายไป ไม่รู้ว่าเพราะอะไร ทำให้งานเครือข่ายเองก็ห่างๆ กันไปด้วย
นอกจากนั้นยังได้ข่าวไม่ค่อยดีเกี่ยวกับงบประมาณโครงการสร้างงานเร่งด่วน 4,500 บาท ทราบมาว่าจะมีการตัดงบในส่วนนี้ โดยเฉพาะกับกลุ่มสตรีหม้าย ทำให้หลายคนไม่สบายใจ และอยากให้ กยต.เข้ามาตรวจสอบอย่างเร่งด่วน
“ต้องเข้าใจว่าสตรีหม้ายอีกหลายคนยังไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่ง แถมต้องแบกภาระดูแลลูกๆ ดูแลครอบครัว รายได้ก็ไม่คงที่ แต่ที่ผ่านมาก็ได้เงินโครงการ 4,500 มาช่วยเหลือในยามฉุกเฉิน ฉะนั้นหากตัดงบตรงนี้ไป จะทำให้อีกหลายครอบครัวได้รับความเดือดร้อน” หนึ่งในเครือข่ายสตรีผู้สูญเสีย กล่าว
“กลุ่มลูกผู้ก่อการ-ปฏิเสธรัฐ”ยังน่าห่วง
ด้าน แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา หรือ “หมอจอย” ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะ กยต. มองว่า อันที่จริงการให้ความช่วยเหลือเด็กกำพร้าและสตรีหม้ายทำกันมาอย่างต่อเนื่องและได้รับงบประมาณจากหลายแหล่ง แต่ปัญหาก็คือตอนนี้มีกลุ่มสตรีหม้ายจากเหตุการณ์ความไม่สงบมากถึงเกือบ 2,000 คน ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความรวดเร็วและความคลอบคลุมในการให้ความช่วยเหลือ
“หมอลงพื้นที่มาตลอด จึงทราบว่ากลุ่มสตรีหม้ายไม่ได้มีแต่ตัวผู้หญิงคนเดียวที่เดือดร้อน แต่ผู้หญิงในพื้นที่มีลูกค่อนข้างเยอะ แถมยังยากจน เวลาที่จะเจียดให้สำหรับเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมด้านการเยียวยาจึงแทบจะไม่มีเลย ฉะนั้นน่าจะมีกระบวนการติดตาม สรุปผลว่ามีกี่คนแล้วที่ได้รับการดูแล และอีกกี่คนที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ครอบคลุมมากขึ้น”
จากประสบการณ์ของหมอเพชรดาว ยังพบปัญหากลุ่มผู้สูญเสียที่ไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ รวมทั้งกลุ่มที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ได้รับการเยียวยาด้วย ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้รัฐต้องไม่ละเลยที่จะให้การดูแล
“สิ่งที่ทุกคนต้องการคือการดูแลด้านจิตใจ ที่ผ่านต้องยอมรับว่ายังมีอีกหลายคนที่ไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลของภาครัฐ ฉะนั้นถึงแม้การทำงานของราชการจะทำได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ในบางมิติที่สำคัญก็ยังไม่ได้ทำ เช่น บุตรของผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะครอบครัวของผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ยังไม่มีโครงการใดที่มุ่งเยียวยาและปลูกฝังสิ่งที่ถูกต้องให้กับพวกเขา หมอไม่อยากให้รัฐมองว่าคนเหล่านี้เป็นครอบครัวของผู้ก่อการ แต่อยากให้มองว่าพวกเขาอีกชีวิตหนึ่งในผืนแผ่นดินไทย”
“ประเด็นนี้ยังเป็นจุดอ่อนของคณะทำงานเกือบทุกคณะ ทำให้งานเยียวยายังไม่ครอบคลุม กรณีที่เห็นชัดๆ ก็คือกลุ่มที่เจ้าหน้าที่สามฝ่าย ได้แก่ ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ไม่ให้การรับรองว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบ หรือกลุ่มที่สูญหาย หรือถูกปิดล้อมหมู่บ้าน ที่สำคัญมีกลุ่มที่ปฏิเสธการเยียวยาจากภาครัฐด้วย ซึ่งเราต้องยอมรับความจริง และถอดสลักของปัญหาให้ได้โดยเร็ว” หมอเพชรดาว กล่าว
ทั้งหมดนั้นคือปัญหาที่ยังปรากฏในบริบทของงานเยียวยาซึ่งทุกฝ่ายไม่ควรปล่อยให้เกิดปมแสวงประโยชน์จากคราบน้ำตา หรือความรู้สึก “สองมาตรฐาน” อีกต่อไป
อ่านต่อ...