วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 10, 2555

พม่าไฟเขียวกฎหมายลงทุน เว้นภาษีรวดเดียว5ปี ยืดได้อีก3 ไอเอ็มเอฟ เตือนค่าจ๊าดเกินจริง

รัฐบาลพม่าผ่านกฎหมายว่าด้วยการลงทุนภายในประเทศแล้ว เผยยกเว้นภาษีสำหรับบริษัทต่างชาติต่อเนื่อง 5 ปีแรก และอาจขยายให้ได้อีก 3 ปี หากทำได้ตามเงื่อนไข
หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์ส ของอังกฤษรายงานเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมว่า ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง แห่งพม่าได้ลงนามเพื่อประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการลงทุนฉบับแรกของประเทศเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวยังไม่สามารถเผยแพร่รายละเอียดฉบับเต็มออกมาได้ และอาจต้องรออีกหลายสัปดาห์กว่าจะมีการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างเป็นทางการต่อไป หลังจากที่เคยมีการเลื่อนกำหนดการลงนามมาแล้วครั้งหนึ่งก่อนหน้านี้เป็นเวลานานหลายเดือน ทั้งนี้ กฎหมายว่าด้วยการลงทุนภายในพม่าดังกล่าวถูกจับตามองและเฝ้ารอคอยกันอย่างมากหลังจากบรรดาบริษัทข้ามชาติจากหลายประเทศเดินทางมาสำรวจความเป็นไปได้ที่จะลงทุนในด้านต่างๆ ในพม่าก่อนหน้านี้ อันเป็นผลมาจากการผ่อนปรนมาตรการแซงก์ชั่น สืบเนื่องจากพัฒนาการทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นตามลำดับของพม่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้จะเป็นเครื่องกำหนดคุณลักษณะการลงทุนของบริษัทต่างชาติในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่การกำหนดระยะเวลาการใช้ประโยชน์จากที่ดิน, โครงสร้างทางกฎหมายที่ครอบคลุมลักษณะการลงทุนในด้านต่างๆ รวมถึงแรงจูงใจที่ทางการพม่ากำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและโอกาสที่จะก้าวขึ้นไปเป็นหนึ่งในเสือเศรษฐกิจในเอเชียในอนาคต ข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับการบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลพม่าระบุว่า ในกฎหมายเพื่อการลงทุนใหม่นี้จะมีการยกเว้นการเรียกเก็บภาษีสำหรับบริษัทลงทุนจากต่างประเทศต่อเนื่องกันในระยะ 5 ปีแรก เพื่อเป็นแรงจูงใจดึงดูดให้เข้ามาลงทุน หลังพ้นระยะปลอดภาษีดังกล่าว อาจมีการยืดเวลาไม่ต้องชำระภาษีออกไปได้อีก 3 ปี ถ้าหากกิจการลงทุนดังกล่าวเหล่านั้นสามารถดำเนินการได้ตามข้อกำหนดใดๆ ที่กำหนดไว้ ไฟแนนเชียล ไทม์ส ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า การผ่านกฎหมายดังกล่าวออกมานั้น มีขึ้นเพียงไม่กี่วันก่อนหน้าที่จะมีการจัดการประชุมว่าด้วยเรื่องพม่าของสถาบันทางการเงินระหว่างประเทศหลายสถาบันร่วมกับประเทศผู้บริจาค เพื่อหารือเรื่องการประสานงานการให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่อทางการพม่า ไม่ให้เกิดการทับซ้อนและซ้ำซ้อนกันขึ้น ซึ่งถือเป็นแนวทางใหม่จากสถาบันการเงินระหว่างประเทศเหล่านี้ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือตรงตามความต้องการของประเทศผู้รับที่พยายามจะเร่งรัดการปฏิรูปเศรษฐกิจของตนให้ได้โดยเร็วให้มากที่สุด ก่อนหน้านี้ ทางการพม่าเริ่มต้นการบริหารจัดการค่าเงินจ๊าดของตนเองให้สอดคล้องกับแนวทางสากลมากขึ้น ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คือค่อยๆ ปล่อยค่าเงินจ๊าดเปลี่ยนแปลงไปตามความเป็นจริงทีละเล็กทีละน้อย หรือที่เรียกว่า "แมเนจด์ โฟลท" เพื่อปรับอัตราแลกเปลี่ยนที่มีหลายตลาดให้เป็นอัตราเดียวและให้สะท้อนความเป็นจริงออกมาให้มากที่สุด นอกจากนั้นยังได้เริ่มสร้างตลาดกู้ยืมระหว่างธนาคาร ผ่านนายหน้าธนาคาร 17 แห่ง ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารกลางแห่งพม่า (บีโอเอ็ม) อย่างไรก็ตาม แม้การปฏิรูปทางการเงินดังกล่าวจะเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ไอเอ็มเอฟเชื่อว่าอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการในเวลานี้ซึ่งอยู่ที่ระหว่าง 815-825 จ๊าดต่อดอลลาร์ นั้นยังคงสูงเกินค่าเงินจริงอยู่ราว 40 เปอร์เซ็นต์ และยิ่งก่อปัญหาให้เกิดได้มากขึ้นถ้าหากค่าจ๊าดปรับเพิ่้มขึ้นไปอีกเมื่อเงินทุนจากต่างชาติทะลักเข้ามา เพราะจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศของสินค้าจากพม่าลดน้อยลงได้

0 ความคิดเห็น:

About This Blog

รายการบล็อกของฉัน

รายการบล็อก

Our Blogger Templates Web Design

  © Blogger templates The Professional Template by Ourblogtemplates.com 2008

Back to TOP