ปัญหา"ไฟใต้"ยังมืดแปดด้าน รัฐบาลเชื่อ“นักรบในห้องแอร์”
ตั้งแต่รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี ได้เข้ามาบริหารประเทศ ท่ามกลางความขัดแย้งของกลุ่มคนทางการเมือง และปัญหามากมายที่ถูกจับตาว่า ภายใต้การนำของ "นารีขี่ม้าขาว" จะรับมือไหวหรือไม่
ปัญหาสำคัญอันหนึ่งที่จะปฏิเสธไม่ได้และถูกเพ่งเล็งเป็นอย่างมาก ว่ารัฐจะจริงใจแก้ไขปัญหาให้เกิดความสันติสุขให้ประชาชนที่เดือดร่้อนได้หรือไม่ ก็คือ “ไฟใต้" หรือปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่ไม่ว่ากี่รัฐบาลก็จนใจ แม้แต่สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั่งเป็นนายกรัฐมนตรีก็เป็น "ตัวการ" ที่สุมไฟใส่ฟืนจนปัญหาปลายบานไม่รู้จบ
หนำซ้ำเมื่ออำนาจผลัดมือตกมาถึง "นารีปู" แทนที่จะเน้นในเรื่องยุทธศาสตร์ที่จับต้องได้เป็นรูปธรรม กลับอาศัยอาศัยองค์กรที่ใช้แก้ปัญหาอย่าง "ศูนย์บริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้" หรือ ศอ.บต.มาเป็นเบาะรองก้นให้คนของตัวเอง จะเห็นได้เมื่อช่วงต้นของรัฐบาลนี้ ก็ได้แสดงอิทธิฤทธิ์จัดให้ "พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง" รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่ถูกดองตั้งแต่สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ข้ามห้วยมานั่งชูคอเป็น เลขาธิการ ศอ.บต. แทน "ภาณุ อุทัยรัตน์" เลขาฯคนเก่าที่ถูกเด้งเข้ากรุมาตบยุงที่ริมคลองหลอด
ทั้งที่นายภาณุก็เป็นลูกหม้อของกระทรวงมหาดไทยมาอย่างยาวนาน และที่สำคัญในสนามราชการ นายภาณุโลดแล่นอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ มาโดยตลอด เป็นคนที่มีภูมิลำเนาอู่ใน อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มีความคุ้นเคยกับพื้นที่เป็นอย่างมาก ต่างจาก "ทวี" ที่ประสบการณ์งานไฟใต้นับได้เป็น "ศูนย์" ราวฟ้ากับเหว ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ชี้ให้เห็นว่า
รัฐบาลนี้หมางเมินที่จะให้ความสำคัญกับปัญหาอย่างสิ้นเชิง
แม้ว่าล่าสุด "ยิ่งลักษณ์" จะเจียดเวลาเดินทางลงพื้นที่ "ยะลา - ปัตตานี" แต่ก็เป็นการไปเยือนครั้งแรกหลังรับตำแหน่งที่ผ่านมาเกือบ 1 ปี
ยิ่งไปกว่านั้น คล้ายว่า "นายกฯคนสวย" จะเพิ่งรู้สึกตัวว่าตกหล่นบางสิ่งบางอย่างไป จึงมีคำสั่งแต่งตั้งให้ "พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา" รองนายกรัฐมนตรี เข้ามารับผิดชอบดูแลการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง ภายใต้ชื่อ “คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้” ซึ่งมีการสั่งให้ "บูรณาการ" งานของ 17 กระทรวง 77 หน่วยงานเข้าด้วยกัน
สาเหตุก็เป็นเพราะเพิ่งรู้ว่า ที่ผ่านมาต่างคนต่างทำงาน และบางหน่วยงานก็ไม่ทำตามหรือทำไม่ตรงกับยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายนโยบายวางไว้ ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่คืบหน้า และดูท่าว่าจะไม่สำเร็จ
จึงต้องขยับแต่งตั้งให้ "บิ๊กอ๊อด" เข้ามาดูแลงานด้านความมั่นคง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แทน "พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ" อดีตรองนายกรัฐมนตรี คนก่อนหน้านี้ที่ถูกปรับออกนั้น แต่ก็เป็นเวลาหลังจากที่ปรับ ครม.ครั้งก่อนมากว่า 4 เดือน
อย่างน้อยการขยับหมากครั้งนี้ก็ดูจะมีแนวโน้มที่ดีกับปัญหา เพราะ "พล.อ.ยุทธศักดิ์" เป็นนายทหารผู้ใหญ่ ที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงในระดับปฏิบัติให้ความยำเกรง ตลอดจนความคุ้นเคยกับบรรดานายทหาร โดยเฉพาะ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ผบ.ทบ. ก็ให้ความเกรงใจในฐานะที่พี่ใหญ่ทางการทหาร
อาจเป็นหนทางสว่างสำหรับปัญหาที่ด้ามขวานทองก็เป็นได้
หากแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา กลับมีกระแสข่าวว่าจะมีการปรับ "พล.อ.ยุทธศักดิ์" ออกจาก ครม. เพราะ "คนที่อยู่ต่างแดน" ไม่พอใจการทำงานที่ "ซูฮก" กองทัพเกินไป เป็นที่มาของอารมณ์เหวี่ยงของ "บิ๊กอ๊อด" เมื่อถูกถามถึงโอกาสที่จะไร้เก้าอี้รองก้น
คำถามจึงมีว่า หากมีการปรับ "พล.อ.ยุทธศักดิ์" ออก ทั้งที่เพิ่งชูให้ขึ้นมาเป็นผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จะเกิดอะไรขึ้น
คำตอบที่พูดออกไปแทนได้ทันทีคือทุกอย่างก็ต้องสะดุดหยุดลง เริ่มนับหนึ่งกันใหม่ ไม่ต่างจาก "พายเรือในอ่าง"
การบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องชะงักลง เพราะต้องรอ "คนใหม่" ที่จะมานั่งหัวโต๊ะ บัญชาการแก้ไขปัญหา
อีกปัจจัยที่เสี่ยงรัฐบาลของกำลังจะ "เพลี่ยงพล้ำ" หากไม่ใส่ใจแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังก็คือ การแทรกแซงจากองค์กรต่างชาติ โดยเฉพาะ องค์การการประชุมชาติอิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation : OIC) ที่มีข่าวมาว่าจะส่งตัวแทนเดินทางมายังประเทศไทย และลงพื้นที่ไปดูต้นตอของปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นมานาน
ซึ่งที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดก่อน รวมทั้งผู้นำทางการทหารก็ได้ปฏิเสธและตอบโต้ “โอไอซี”ไปแล้วว่า ปัญหาในบ้านเราเองนั้น เราแก้ไขปัญหาเอง
แม้เป็นท่าทีที่แข็งขืน แต่ก็เป็นการปิดกั้นไม่ให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
หากแต่มองกลับกันรัฐบาลชุดนี้จะมีก็แต่ "พล.อ.ยุทธศักดิ์" เท่านั้นที่ติดตามเรื่องปัญหาไฟใต้อย่างใกล้ชิด แต่สำหรับ "ยิ่งลักษณ์" ผู้นำประเทศแล้วนั้นยังไม่มีปฏิกิริยาอะไรที่ชัดเจนต่อเรื่องนี้
จนหวั่นใจว่าป่านนี้แล้ว "นายกฯปูนิ่ม" อาจยังไม่รู้ว่า "โอไอซี" คืออะไร
หนักไปกว่านั้น ล่าสุดเว็บไซด์ "สำนักข่าวอิศราฯ" เปิดข้อมูลจากศูนย์ข่าวภาคใต้ ที่ระบุถึงกำหนดการที่ คณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของโอไอซี จะเดินทางมาประเทศไทย ระหว่างวันที่ 7-12 พ.ค.นี้ว่า เป็นมาเยือนตามคำเชิญของกระทรวงการต่างประเทศของไทย
กลายเป็นอีกปมปัญหาว่ารัฐบาลขาดเอกภาพในการทำงาน โดยเฉพาะในระดับกระทรวง ที่ "พล.อ.ยุทธศักดิ์" ตั้งแง่คัดค้านการเดินทางมาไทยของ “โอไอซี”มาตลอด แต่กระทรวงการต่างประเทศกลับเชิญเข้ามา ส่วนนายกรัฐมนตรีจนป่านนี้ก็ยังไม่เคยเอ่ยถึง ปฏิเสธไม่รู้เรื่องนี้ด้วยซ้ำ
ระดับบริหารเจอหน้ากันแทบทุกวันยังบูรณาการตัวเองไม่ได้ นับประสาอะไรกับระดับปฏิบัติการที่ต้องเสี่ยงชีวิตอยู่ในพื้นที่
แถมต้องมาเสี่ยงหนัก เพราะนโยบายของพวก "นักรบห้องแอร์" ที่ไร้ซึ่งความเข้าใจในปัญหาอย่างถ่องแท้
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น