คลอดแล้ว แนวชันสูตรผ่าศพมุสลิม ผู้นำศาสนาโอเค ชี้เป็นสิทธิผู้ดูแลศพ
กรรมการสิทธิแถลง คลอดแนวทางชันสูตรศพมุสลิม ใช้เวลาศึกษา 6 ปี หวังเป็นอีกช่องสร้างความยุติธรรมชายแดนใต้ ผู้นำศาสนาโอเค บาบอแอ สะปาแย ชี้ จะทำตามหรือไม่ก็ได้ เป็นสิทธิของผู้ดูแลศพ หมอยะลาแนะต้องเพิ่มแพทย์นิติเวชมุสลิม สร้างการยอมรับกระบวนการยุติธรรมไทย เผยสาระสำคัญ 2ทัศนะทางศาสนา “ทำได้ – ไม่ได้”
ชันสูตรศพมุสลิม - ศ.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ที่ 3 จากซ้าย) แถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ“แนวทางการตรวจชันสูตรพลิกศพ ตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักด้านศาสนาอิสลาม” ณ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 ที่ห้องประชุม 1 สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับ สำนักจุฬาราชมนตรี และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ “แนวทางการตรวจชันสูตรพลิกศพ ตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักด้านศาสนาอิสลาม” จากนั้นมีการสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจและเผยแพร่แนวทางการตรวจชันสูตรพลิกศพ ตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักด้านศาสนาอิสลาม โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 150 คน ประกอบด้วยผู้นำศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นักกฎหมายในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศ.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงว่า การศึกษาแนวทางการตรวจชันสูตรพลิกศพตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักด้านศาสนาอิสลาม เริ่มตั้งแต่ปี 2549 โดยนายวสันต์ พานิช อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพราะเห็นว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้ตายและญาติที่เป็นชาวมุสลิมโดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศ.อมรา แถลงต่อไปว่า ต่อมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ ได้ดำเนินการต่อ โดยมีการหารือกับสำนักจุฬาราชมนตรี และสำนักจุฬาราชมนตรีได้ออกคำวินิจฉัยทางศาสนา (ฟัตวา) ที่ 04/ 2549 เรื่องการชันสูตรพลิกศพ สามารถกระทำได้ต่อเมื่อมีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ศ.อมรา แถลงอีกว่า นอกจากนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เดินทางไปศึกษาหลักการและแนวทางเรื่องนี้ที่ประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย มีการแต่งตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วยประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้นำศาสนา นักวิชาการ และ นักกฎหมาย มีการประชุม 5 ครั้ง ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 จนปี 2555 มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนักวิชาการศาสนาและนักกฎหมาย นายอับดุลสุโก ดินอะ คณะทำงานร่างแนวทางการตรวจชันสูตรศพตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักศาสนาอิสลาม ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า สาระสำคัญของหนังสือแนวทางการตรวจชันสูตรดังกล่าว อยู่ในหน้า 25 ข้อ 2.2 การชุนสูตรศพ โดยเฉพาะการขุดและการผ่าศพขัดต่อหลักการศาสนาอิสลามหรือไม่ สาระสำคัญในหน้าดังกล่าวระบุว่า จากการศึกษาไม่พบหลักฐานใดๆ ที่ระบุชัดเจนถึงการห้าหรืออนุมัติทั้งจากคัมภีร์อัลกุรอานและวจนะศาสดา ทำให้นักวิชาการปัจจุบันมีทรรศนะที่แตกต่างกัน 2 ทัศนะ “ทัศนะแรก ไม่อนุญาตให้ขุดศพและตรวจชันสูตรศพ ด้วยเหตุผลที่ว่า ศาสนาตั้งอยู่บนพื้นฐานการให้เกียรติและคุ้มครองคุณค่าอันสูงส่งของความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ในช่วงแห่งการมีชีวิตอยู่เท่านั้น ในสภาวะไร้วิญญาณ ศาสนาอิสลามก็ยังคงถือว่าเกียรติยศและความประเสริฐในการเป็นมนุษย์ยังมีอย่างสมบูรณ์” สาระสำคัญในหน้าดังกล่าว ระบุ “ทัศนะที่สอง อนุญาตให้ขุดศพและชันสูตรศพ เป็นทัศนะส่วนใหญ่ของนักวิชาการโลกมุสลิมร่วมสมัยว่า การขุดศพเพื่อชันสูตรที่ได้ฝังไปแล้ว หรือการชันสูตรศพที่เพิ่งเสียชีวิต แม้เป็นสิ่งต้องห้ามตามมติของปวงปราชญ์ แต่หากสถานการณ์มีความจำเป็น ก็สามารถทำได้โดยอนุโลม” สาระสำคัญในหน้าดังกล่าว ระบุ นายอับดุลสุโก เปิดเผยว่า สำหรับหนังสือเล่มนี้ในเบื้องต้นบรรดาอุลามาอ์ (นักปราชญ์ทางศาสนาอิสลาม)ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการ แต่มีข้อกังวลคือ เมื่อมีการชันสูตรพลิกศพมุสลิมแล้ว จะสามารถอำนวยความยุธรรมให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ และจะทำให้สามารถนำผิดมาลงโทษได้หรือไม่ นายอับดุลสุโก กล่าวว่า การนำแนวทางดังกล่าวมาใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะสามารถนำความยุติธรรมมาให้ประชาชนได้ และกระบวนการต่างๆตามแนวทางดังกล่าว จะมีแพทย์มุสลิมที่มีความน่าเชื่อถือเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการชันสูตรด้วย นายแพทย์ฟาฏิน อะหะหมัด สาและอารง นายแพทย์ปฏิบัติการโรงพยาบาลศูนย์ยะลา กล่าวว่า แนวทางการตรวจชันสูตรพลิกศพดังกล่าว มีการเน้นว่า การชันสูตรพลิกศพมุสลิมสามารถทำได้หรือไม่ได้เท่านั้น ทั้งที่ ยังมีมิติอื่นที่ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน คือ การสนับสนุนการผลิตแพทย์นิติเวชที่เป็นมุสลิม และการสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบความยุติธรรมของไทย นายอิสมาแอล สะปันยัง หรือ บาบอแอ สะปาแย โต๊ะครูปอเนาะดูซงปันยัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี กล่าวในการสัมมนาว่า การที่มีทัศนะเรื่องการชัดสูตรศพของอูลามาอ์ เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งเป็นเรื่องปลีกย่อย เพราะไม่มีตัวอย่างในสมัยศาสดา “กรณีนี้ คนที่เห็นด้วยก็มีหลักฐาน ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยก็มีหลักฐาน แต่เมื่อสำนักจุฬาราชมนตรีออกคำวินิจฉัยเรื่องนี้แล้ว ใครจะทำตามหรือไม่ทำตามก็ได้ ไม่ได้บังคับ เพราะขึ้นอยู่กับผู้ดูแลศพหรือญาติที่จะอนุญาตหรือไม่” บาบอแอ สะปาแย กล่าว บาบอแอ สะปาแย กล่าวอีกว่า อยากรู้ว่าเรียกอูลามาอ์มาร่วมงานครั้งนี้ด้วยทำไม หากต้องการให้อุลามาอ์มาให้คำตอบว่า ได้หรือไม่ได้ก็คงต้องเป้นเวทีเฉพาะของอูลามาอ์ แต่ถ้ามีคำวินิจฉัยแล้วก็ไม่จำเป็น ดร.อับดุลเลาะ อาบูบากา ผู้อำนวยการโรงเรียนสมบูรณ์ศาสตร์ อำเภอยะหา จังหวัดยะลา กล่าวว่า การชันสูตรพลิกมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องมีหลักประกันว่า จะไม่มีการแทรกแซงการทำงานของทีมแพทย์นิติเวชที่ทำการชันสูตรพลิกศพ และที่สำคัญสุด ต้องสนับสนุนให้มีแพทย์นิติเวชที่เป็นมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ล้อมกรอบ เปิดสาระสำคัญ 2ทัศนะ “ทำได้ – ไม่ได้” นายอับดุลสุโก ดินอะ คณะทำงานร่างแนวทางการตรวจชันสูตรศพตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักศาสนาอิสลาม ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุสาระสำคัญของหนังสือแนวทางการตรวจชันสูตรดังกล่าว ดังนี้ สาระสำคัญของเรื่องนี้ อยู่ในหน้า 25 ข้อ 2.2 การชุนสูตรศพ โดยเฉพาะการขุดและการผ่าศพขัดต่อหลักการศาสนาอิสลามหรือไม่ ซึ่งจากการศึกษาไม่พบหลักฐานใดๆ ที่ระบุชัดเจนถึงการห้าหรืออนุมัติทั้งจากคัมภีร์อัลกุรอานและวจนะศาสดา ทำให้นักวิชาการปัจจุบันมีทรรศนะที่แตกต่างกัน 2 ทัศนะ ทัศนะแรกไม่อนุญาต ทัศนะแรก ไม่อนุญาตให้ขุดศพและตรวจชันสูตรศพ ด้วยเหตุผลที่ว่า ศาสนาตั้งอยู่บนพื้นฐานการให้เกียรติและคุ้มครองคุณค่าอันสูงส่งของความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ในช่วงแห่งการมีชีวิตอยู่เท่านั้น ในสภาวะไร้วิญญาณ ศาสนาอิสลามก็ยังคงถือว่าเกียรติยศและความประเสริฐในการเป็นมนุษย์ยังมีอย่างสมบูรณ์ กฎเกณฑ์ต่างๆ ในการปฏิบัติต่อผู้ตายจะต้องคอยระมัดระวังมิให้กระทบกระเทือนหรือเกิดอันตรายต่อศพ ท่านศาสดามูฮัมมัดได้กล่าวย้ำไว้ว่า ท่านจงอย่าทำร้ายศพ ดังนั้นการขุดศพและการตรวจชันสูตรจึงเป็นการทำร้ายศพและไม่ให้เกียรติศพ โดยเฉพาะการตรวจชันสูตรศพนำไปสู่การล้าช้าในการจัดการศพที่ต้องเร่งรีบไปรับผลบุญที่ศพจะได้รับในโลกหน้าเป็นการค้านกันวจนะศาสดาที่กล่าวไว้ว่า “เมื่อมีบุคคลหนึ่งเสียชีวิตเจ้าจงอย่ากักขังศพ ทว่าจงรีบนำศพสู่หลุมฝังโดยเร่งด่วน” (บันทึกโดยอีหม่ามอัฏฏอบรอนีย์) ทรรศนะดังกล่าว เป้นทรรศนะของนักวิชาการร่วมสมัยบางท่าน เช่น ชัยค มูฮัมมัด ซะกะริยา อัลกันดาฮารีย์, ชัยมูฮัมมัดบูรฮานุดดีน อัสสันบาฮารีย์, ชัยคมูฮัมมัด บะเคียต, ชัยคอัลอารอบีย์ อบูอิยาต อัฏฏอบาคีย์ และ ชัยคมูฮัมมัดอับดุลวะฮฮาบ ทัศนะที่สอง อนุญาต ทัศนะที่สอง อนุญาตให้ขุดศพและชันสูตรศพ เป็นทัศนะส่วนใหญ่ของนักวิชาการโลกมุสลิมร่วมสมัยส่วนใหญ่ เช่น ชัยคฺ ยูซุฟ อัลดะญาวีย์, ชัยคฺฮุซัยน์ มัคลูฟ, ชัยคฺอิบรอฮีม อัลยะกูบีย์, ชัยคฺดร.มุฮัมมัด ซะอีด รอมาฏอน อัลบูฏีย์, ชัยค ดร.มะห์มูด นาซิม นุซัยมีย์ และ ชัยค ดร.มะห์มูด อาลี อัซซัรฏอวีย์ ที่อนุโลมการตรวจชันสูตรศพโดยให้เหตุผลในภาพรวมว่า ในภาวะปกติ ความเป็นจริงศาสนาให้เกียรติและคุ้มครองคุณค่าอันสูงส่งของความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือเสียชีวิต ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้มีชีวิตในชุมชนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบรวมร่วมกันในการจัดการศพตามขั้นตอนที่ได้ระบุไว้ตามหลักนิติศาสตร์อิสลามทุกประการ ตามหลักฐานที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ไม่ว่าจากคัมภีร์อัลกุรอานและวัจนะศาสดา ดังนั้น การขุดศพเพื่อชันสูตรที่ได้ฝังไปแล้ว หรือการชันสูตรศพที่เพิ่งเสียชีวิต แม้เป็นสิ่งต้องห้ามตามมติของปวงปราชญ์ แต่หากสถานการณ์มีความจำเป็น ก็สามารถทำได้โดยอนุโลม ทัศนะที่ 2 นี้ มีคำวินิจฉัย (ฟัตวา) ที่สำคัญของสถาบันและนักวิชาการในโลกมุสลิมสนับสนุนมากมาย เช่น 1. สถาบันปราชญ์อาวุโสของประเทศซาอุดิอาระเบีย (ฮัยอะกิบารอุละมาอ) ในมติการประชุมครั้งที่ 9 หมายเลข 98 ลงวันที่ 14 เดือนซะอบาน ปีฮิจเราะห์ศักราช 1396 2. ศูนย์นิติศาสตร์อิสลามของสันนิบาตชาติมุสลิม ในมติการประชุมครั้งที่ 10 ประจำเดือนเศาะฟัร ปีฮิชเราะห์ 1408 3. สำนักงานสภาการวินิจฉัยของอัลฮัซฮัร ประเทศอิยิปต์ และวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1971 4. สำนักงานวินิจฉัยประเทศอียิปต์ วินิจฉัยโดยมุฟตีอียิปต์สมัยต่างๆ คือ ชัยค อับดุลมาญีด ซาลีม หมายเลขข้อวินิจฉัย 639 ลงวันที่ 26 ซะอบาน ฮ.ศ.1356 และชัยค หุซัยน มัคลูฟ วินิจฉัยเมื่อปี ค.ศ.1951 5. คณะกรรมการถาวรการวิจัยและวินิจฉัยประเทศซาอุดิอาระเบีย ในมติการประชุม วันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ.1935 6. คณะกรรมการสภาวิจัยประเทศจอร์แดน ลงวันที่ 20 เดือนญะดิ้ลอาคิร ฮ.ศ.1937 ? 7. อายาตุลลอฮ ซัยยิด อัซซัยตานีย์ ผู้นำชีอะห์ในอิรัก และ ศ.ดร.มุสตอฟา อัลอัรญาวีย์ นักวิชาการาวอิรัก (เพราะประเทศอิรักมีการขุดศพมุสลิมมากมาย) 8. ดร.อะห์หมัด อับดุลการีม นาญีบ 9. อ.มุฮัมมัด มัศริ นักวิชาการมาเลเซีย 10. คำวินิจฉัยทางศาสนาของสำนักจุฬาราชมนตรี ที่ 04/2549
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น