ไฟไหม้ "บีเอสที" มาบตาพุด ไม่ใช่บทเรียนครั้งแรก!!!
จากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ของวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา เมื่อถังบรรจุสารโทลูอีน ของ บริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางสังเคราะห์
สำหรับอุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ และผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ระเบิด ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 11 ศพ บาดเจ็บอีก 129 ราย นี่ยังไม่รวมผู้ที่ได้รับผลกระทบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านในชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม ตลอดจนถึงนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งต่างก็พบกับความโกลาหล และความไม่ชัดเจนของการแก้ปัญหาในพื้นที่
ข่าวแจ้งว่าในพื้นที่เกิดความแตกตื่นโกลาหลพอสมควร โดยเฉพาะความสับสนในเรื่องของข้อมูล และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากไม่มีหน่วยงานใดออกมาให้ข้อมูลหรือแจ้งเตือนประชาชนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องของการอพยพไปในจุดที่ปลอดภัย ซึ่งสิ่งที่ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวในพื้นที่สามารถทำได้ขณะนั้นคือ การเช็คข่าวจากสื่อทีวีเท่านั้น จนนำไปสู่ความสับสนวุ่นวาย จราจรติดขัดทั้งเมือง
คงไม่ปฏิเสธว่าทุกหน่วยงานในพื้นที่ต่างทำหน้าที่ดีที่สุด แต่ปัญหาที่พบคือ ต่างคนต่างทำ ไม่มีใครเป็นเจ้าภาพชัดเจน ไม่มีการวางแผนร่วมกัน ไม่มีผู้นำที่จะคอยประเมินสถานการณ์ว่าควรจะจัดการปัญหาอย่างไร ขณะที่ประชาชนที่ติดตามข่าวสารทางโทรทัศน์ ก็จะได้รับข้อมูลเชิงบวกเพียงด้านเดียว ไม่มีการแจ้งเตือนที่เป็นรูปธรรม สาระสำคัญที่ควรจะแจ้งเตือนกลับไม่มี โดยเฉพาะจุดอพยพที่ปลอดภัย และเส้นทางจราจรที่จะไปยังจุดอพยพ
ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่แต่เฉพาะชาวบ้านและนักท่องเที่ยวเท่านั้นที่รับรู้ได้ ยังสะท้อนไปถึงกลุ่มเพื่อนชุมชน โดยนายอนุลักษณ์ ถนอมสิทธิกุล ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อนชุมชน ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของ 5 บริษัทใหญ่ที่ลงทุนในมาบตาพุด บอกว่า บทเรียนจากอุบัติเหตุครั้งนี้ ทำให้ได้รู้ว่าแผนฉุกเฉินจังหวัดที่ทุกภาคส่วนซักซ้อมกันมาอย่างน้อยปีละครั้งนั้น ไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลของจังหวัด ทำให้ไม่มีการตั้งวอร์รูม เพื่อรวมศูนย์บัญชาอย่างที่ซ้อมกันไว้
นอกจากนี้ ยังพบความบกพร่องในเรื่องการแจ้งข้อมูลกับชาวบ้านที่ล่าช้า เพราะมัวแต่ไปให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ไม่ใช่สาระสำคัญ เช่น ชื่อบริษัทเจ้าของโรงงานที่เกิดเหตุ เป็นต้น ซึ่งความจริงแล้วควรแจ้งเหตุเบื้องต้นให้ชาวบ้านรับทราบอย่างรวดเร็วก่อน เพื่อให้อพยพออกนอกพื้นที่ เพราะถือเป็นอุบัติภัยร้ายแรง ขณะที่นายอิทธิ แจ่มแจ้ง ประธานชุมชนหนองแฟบ ระบุว่า ชุมชนต้องกลับมาทบทวนการดำเนินการแผนงานการรับมือภาวะฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยแผนที่มีดีอยู่แล้วเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วเกิดความสับสนทำให้ไม่รู้ว่าใครต้องทำอะไร
ปัญหาที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการของระบบการแจ้งเตือนกรณีเกิดเหตุการณ์อุบัติภัยร้ายแรง แม้ว่าทุกหน่วยงานในพื้นที่จะออกมาบอกว่าได้มีการซักซ้อม และเตรียมรับมืออุบัติภัยเป็นประจำทุกปี แต่ภาพที่ออกมามันไม่ได้ตอบโจทย์ให้ประชาชนในพื้นที่ หรือนักท่องเที่ยวจากนอกพื้นที่ ให้รู้สึกและสัมผัสได้ถึงความปลอดภัย
หลังจากนี้ ผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับรัฐบาลลงไปถึงระดับหน่วยงานท้องถิ่น ควรต้องกลับไปทบทวนถึงมาตรการดูแลความปลอดภัยประชาชนในพื้นที่ให้มีความชัดเจนมากขึ้น อย่ามัวแต่สร้างความเชื่อมั่นให้แต่นักลงทุนอย่างเดียว จนลืมสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวบ้านตาดำๆ เพราะพวกเขาควรจะได้รับความเชื่อมั่นจากรัฐบาลบ้าง
โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรม ที่เราไม่ได้พูดถึงแค่โรงงานบีเอสทีแห่งเดียวที่ไฟไหม้ แต่หมายถึงอีกนับร้อยนับพันโรงงานที่ตั้งอยู่รายล้อมชุมชนที่อยู่อาศัยของประชาชน หากไม่เร่งแก้ไข ก็ไม่ต่างอะไรกับระเบิดเวลาที่พร้อมระเบิดได้ทุกเมื่อนั่นเอง...
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น