ล้อม‘มาบตาพิษ’ ขู่ถอนใบอนุญาต จี้ปรับแผนรับบึ้ม
ยิ่งลักษณ์ล้อมคอกโรงงานเคมี สั่ง รมต.อุตสาหกรรมลงพื้นที่ประเมินความเสี่ยงนิคมมาบตาพุด หลังพบสารเคมีอันตรายถูกนำมาใช้มาก กำชับตรวจสอบทุกไตรมาส ขู่หากหละหลวมอาจทบทวนต่อใบอนุญาต "มาร์ค” แนะกำหนดแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันจันทร์ถึงกรณีตรวจสอบพบว่ามีสารคลอรีนรั่ว ไหลอีกหนึ่งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ว่าต้องมีการระมัดระวัง ได้มีการสั่งการไปที่กระทรวงอุตสาหกรรม และวันนี้ได้มีการลงพื้นที่ เพราะสิ่งแรกที่ต้องทำคือการประเมินความเสี่ยง เพราะมีสารเคมีหลายตัวถูกนำไปในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งต้องดูว่ามีกี่ประเภทที่เป็นสารวัตถุไวไฟ ทำให้เกิดอากาศเป็นพิษ และต้องนำมาทบทวนใหม่ทุกโรงงาน "อยากให้มีการตรวจวัดในทุกๆ ไตรมาส เพราะจะมีผลต่อการต่อใบอนุญาตด้วย ส่วนมาตรการต่างๆ ได้สั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปดูในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมมากขึ้น และที่สำคัญ การมีส่วนร่วมกับประชาชนในท้องถิ่นถือเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ จากเหตุการณ์ได้สั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงมหาดไทยในการบูรณการและเข้าช่วยเหลือประชาชน” ผู้สื่อข่าวถามว่า มาตรการรักษาความปลอดภัยถือว่าอยู่ในระดับสากลหรือไม่ นายกฯ ตอบว่าส่วนใหญ่อยู่ในระดับสากล แต่ก็ต้องมีการทบทวนให้เข้มงวดขึ้นในบางส่วน มาตรการที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่ และบางส่วนก็เป็นเรื่องของบุคคล ที่เราต้องเข้าไปดูว่าครบตามขั้นตอนหรือไม่ ซึ่งจะต้องมีการอบรมเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเข้าไปซ่อมบำรุงต้องได้มาตรฐานตามที่กำหนด การดูแลโรงงานอุตสาหกรรมเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งอยากให้มีการตรวจสอบและซ้อมรับมือในทุกไตรมาส โดยสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูข้อมูลและรายละเอียดให้แน่นอนก่อน นายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ทางกรมควบคุมมลพิษจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบภายในบริเวณโรงงานกรุงเทพ ซินธิติกส์ (BST) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ระหว่างการขนถ่ายสารโทลูอีน รวมถึงบริเวณโดยรอบดังกล่าว เพื่อให้แน่ใจและสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชน ว่าไม่มีสารเคมีปนเปื้อนในดินและน้ำบริเวณชุมชนโดยรอบ ทั้งนี้ ล่าสุดพบสารโทลูอีนตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมเพียง 0.1-0.4 พีพีเอ็ม ถือว่าไม่เป็นอันตรายหรือส่งผลกระทบต่อระบบหายใจ ซึ่งปริมาณที่จะสร้างความระคายเคืองคือ 50 พีพีเอ็มขึ้นไป ขณะที่กรณีก๊าซคลอรีนรั่วไหลจากโรงงานบริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก หรือมาบตาพุด ห่างจากโรงงานบีเอสทีที่เกิดเหตุระเบิดนั้น นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) กล่าวว่า ขณะนี้เหตุการณ์ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว สามารถควบคุมในส่วนของพื้นที่ได้ 100% ขั้นตอนต่อไปคือ เตรียมเข้าไปตรวจสอบพิสูจน์หลักฐานทางคดีความของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อหาสาเหตุ และวันนี้จะมีทีมพิสูจน์หลักฐานจากกรุงเทพฯ ลงพื้นที่ช่วยตรวจสอบร่วมกับจังหวัดระยอง ด้านนางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า มาบตาพุดเป็นพื้นที่ที่มีการใช้ ผลิต และเก็บสารเคมีอันตรายมากที่สุดในประเทศไทย หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดอุบัติภัยสารเคมี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบการแจ้งเตือนภัย การอพยพ และการจัดการกับอุบัติภัยจะต้องทำงานได้ สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ หากอุบัติเหตุไม่ได้เกิดขึ้นที่ถังเก็บสารโทลูอีน แต่เป็นสารเคมีชนิดอื่น จะร้ายแรงกว่านี้ เพราะโรงงานปิโตรเคมีทุกโรงในมาบตาพุด มีการใช้และผลิตสารเคมีอันตรายอีกจำนวนมากที่มีอันตรายร้ายแรงกว่าสารโทลูอีน และหากไม่ได้เกิดในระหว่างที่โรงงานดังกล่าวปิดทำการในวันหยุด โศกนาฏกรรมครั้งนี้ก็อาจรุนแรงและส่งผลเสียหายยิ่งกว่านี้ การป้องกันและเตรียมรับมือจึงมีความจำเป็น น.ส.เพ็ญโฉมกล่าวว่า ในแง่การเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นคนงานทั้งของบริษัท BST และบริษัทรับเหมาเฉพาะทาง และเนื่องจากสารที่ได้รับสัมผัสจำนวนมากซึ่งยังระบุไม่ได้ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว จำเป็นต้องมีมาตรการติดตามเฝ้าระวังสุขภาพระยะยาวของคนงานผู้ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนจะต้องเร่งสร้างมาตรการเหล่านี้ ที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับฟังรายงานและตรวจเยี่ยมผู้ได้รับความเสียหายว่า จากการรับฟังรายงาน เหตุการณ์ยังไม่ได้ข้อยุติชัดเจนในเรื่องสาเหตุ แต่สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือ แผนการที่ต้องเตรียมพร้อม โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้มีการลงทุนในตัวระบบหลายเรื่อง แต่ในแง่การสื่อสารข้อมูลสำหรับการปฏิบัติจริงไม่สามารถทำได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ดังนั้นต้องมีการต่อยอดให้สมบูรณ์ รวมถึงมีการซักซ้อมและวางระบบสำรองกับเจ้าของโรงงาน และภาคเอกชนในกรณีหากเกิดปัญหา เมื่อถามว่า เป็นไปได้อย่างไรที่การนิคมฯ ไม่มีข้อมูลเป็นของตัวเองเลย ต้องรอให้โรงงานรายงานมา นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนเสนอไปแล้วว่าควรให้มีการสื่อสารกับสาธารณสุข ต้องมีการปรับและทำแผน อย่างไรก็ตามเท่าที่ฟังการรายงาน ในส่วนของนิคมเองนั้นมีปัญหาในเรื่องข้อมูลปัจจุบัน เพราะข้อมูลมีเพียงในระดับหนึ่งตามรอบเวลาเท่านั้น ไม่ได้ทันสถานการณ์ ต้องปรับปรุง โดยทำให้ใกล้ชิดชุมชนให้มากขึ้นเพื่อความสมบูรณ์ ถามว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่มีบทเรียนและแนวทางที่ชัดเจน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้ที่ตัวระบบมีการพัฒนาไปในแง่ของการมีสถานีตรวจวัดอากาศ มีแนวป้องกันระดับหนึ่ง มีข้อมูล การจัดงบประมาณที่เรียบร้อย แต่เมื่อเกิดเหตุจริงกลับไม่สามารถปฏิบัติได้ ขณะเดียวกันบริการด้านสาธารณสุข ตั้งแต่เรื่องสุขภาพ งบเคลื่อนที่ โรงพยาบาลก็ไม่เรียบร้อย ทั้งอุปกรณ์ความพร้อมที่จะรับมือหากเกิดเหตุ จึงต้องปรับเรื่องแผนให้ชุมชนซักซ้อมและเข้มงวดมากขึ้น รวมไปถึงการสร้างมาตรฐาน การระบุโทษผู้ที่ฝ่าฝืนด้วย.
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น