เด็ดหัว 5 โจรใต้ยังไม่จบ หวั่นจัดหนักครบรอบกรือเซะ
“สงครามยังไม่สงบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร”
ประโยคนี้ยังใช้ได้กับสถานการณ์การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในระยะ 8 ปีที่ผ่านมาที่มีการทำ “สงครามประชาชน” ระหว่างแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น โคออดิเนต กับเจ้าหน้าที่รัฐได้เกิดความสูญเสีย บาดเจ็บ ล้มตาย ทั้งพลเรือน เจ้าหน้าที่รัฐ และคนร้ายเป็นจำนวนมาก โดยยอดคนตายอยู่ที่ 5,000 กว่าราย บาดเจ็บ 8,000 กว่าคน และมีผู้ถูกจับกุมอีก 7,000 กว่าคน ซึ่งเป็นความสูญเสียที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างได้รับ
โดยเฉพาะในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา เป็นห้วงที่เจ้าหน้าที่รัฐและพลเรือนได้รับความสูญเสียมากที่สุด เช่น การทำ “คาร์บอมบ์” ที่โรงแรมลี การ์เดนส์ หาดใหญ่ และที่ถนนรวมมิตร เขตเทศบาลนครยะลา จนมีการตั้งข้อสังเกตถึงความพ่ายแพ้ในด้านยุทธการของตำรวจ ทหารที่มีต่อ “แนวร่วม” ในพื้นที่ และมีการเรียกร้องให้ตำรวจทหารเปิดยุทธการเชิงรุกเพื่อกดดัน “แนวร่วม” ให้หยุดการเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์จากภาคประชาชน
แน่นอนว่า ตำรวจ ทหารในจังหวัดชายแดนภาคใต้เอง ก็ต้องการที่จะทำพื้นที่ซึ่งต้องรับผิดชอบให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย และต้องการชัยชนะเหลือ “แนวร่วม” ที่เคลื่อนไหวในพื้นที่รับผิดชอบ ดังนั้น หลังเกิด “คาร์บอมบ์” ในเขตเทศบาลนครยะลา พล.ต.ต.พีระ บุญเลี้ยง ผบก.ภ.จว.ยะลา จึงได้สั่งการให้ชุดปฏิบัติการของ กก.สส.ภ.จว.ยะลา ติดตามความเคลื่อนไหวของ “แกนนำ” และ “แนวร่วม” ที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ จ.ยะลา อย่างต่อเนื่อง จนในที่สุด “สายข่าว” ซึ่งเคยเป็น “มือดี” ที่เคยอยู่กับ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา อดีต ผกก.สภ.บันนังสตา จ.ยะลา ได้ส่งข่าวให้ทราบว่ากลุ่มโจรก่อการร้ายที่นำโดย สะกือรี จะปากียา แกนนำระดับปฏิบัติการ และพวกประมาณ 15 คน เข้ามาซ่องสุมกำลังอยู่ที่บ้านสะโตร์ หมู่ 6 ต.สะเอะ อ.กรงปีนัง เพื่อเตรียมการก่อเหตุร้ายในพื้นที่
หลังจากตรวจสอบข่าวสาร และพิกัดที่แน่ชัด พล.ต.ต.พีระ จึงได้สนธิกำลังจากส่วนของทหารและฝ่ายปกครองนำกำลังเข้าปิดล้อมพื้นที่รอบนอก และส่งชุดปฏิบัติการไล่ล่าเข้าปิดล้อมขนำขนาดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่กลางสวนผลไม้ โดยพบว่า ภายในขนำ และรอบขนำดังกล่าวมีกองกำลังติดอาวุธประมาณ 15 คน จึงได้ประกาศให้มอบตัวแต่ไม่ได้ผล เพราะกองโจรทั้งหมดได้ระดมยิงเข้าใสเจ้าหน้าที่เพื่อเปิดทางหลบหนี จนทำให้ทั้งสองฝ่ายปักหลักยิงปะทะกันนาน 15 นาที ก่อนที่กลุ่มกองโจรส่วนหนึ่งอาศัยความชำนาญพื้นที่แหวกวงล้อมหลบหนีไปได้
หลังการเข้าเคลียร์พื้นที่เจ้าหน้าที่พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากการปะทะครั้งนี้จำนวน 5 รายด้วยกัน คือ นายสะกือรี จะปากียา, นายลุกมาน ดือราแม, นายอิสมาแอ แปเปละ, และนายตัสกีรี ยะยอ พร้อมอาวุธปืนอีก 3 กระบอก
สำหรับนายสะกือรี ซึ่งเป็นหัวหน้าชุด มีหมายจับ 7 หมายด้วยกัน เป็นผู้ร่วมก่อเหตุยิงรถตู้สายเบตง-หาดใหญ่ ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 8 ราย คดียิงถล่มบ้านนายดอเลาะ เซ็งมะสู ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ต.ปะแต อ.ยะหา คดีวางระเบิดและยิงถล่มรถยนต์ของปลัด และคดีสำคัญคือเป็นผู้ร่วมกันวางระเบิดรถยนต์ของ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ผกก.สภ.บันนังสตา จ.ยะลา จนเสียชีวิต เมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการสูญเสียนายตำรวจมือดีเจ้าของสมญา “นักรบภูเขาบูโด” ไปอย่างน่าเสียดาย
จากการตรวจสอบภูมิประเทศซึ่งเป็นที่ตั้งของขนำกลางสวนผลไม้ของ “แนวร่วม” ที่เป็นกองโจรติดอาวุธชุดนายสะกือรี พบว่าเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมในการเคลื่อนไหวเพื่อก่อการร้าย เนื่องจากเป็นพื้นที่กึ่งกลางระหว่าง อ.บันนังสตา กับ อ.กรงปีนัง และ อ.ยะหา ที่กลุ่มกองโจร สามารถเคลื่อนไหวปฏิบัติการในพื้นที่ 3 อำเภอ ของ จ.ยะลา ได้อย่างสะดวก และตัวของนายสะกือรี เป็น “มือขวา” ของนายยูกีมือรี เจะดีแม หรือ “ไอ้หน้าเหลี่ยม” ซึ่งเป็นแกนนำระดับสั่งการที่ควบคุมพื้นที่ของ 3 อำเภอดังกล่าว การปฏิบัติการของ พล.ต.ต.พีระ ครั้งนี้ จึงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่สร้างความสูญเสียครั้งสำคัญให้เกิดขึ้นกับกองโจรที่เป็น “แนวร่วม” ของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ในพื้นที่ จ.ยะลา
สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อสังเกตของความสำเร็จในการปิดล้อมและไล่ล่าจนสร้างความสูญเสียให้แก่ “แนวร่วม” ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ในครั้งนี้ และหลายครั้งของเจ้าหน้าที่ตำรวจคือเรื่องของ “การข่าว” ซึ่งความสำเร็จเกือบทุกครั้งมาจาก “การข่าว” ที่เป็นของ “สายข่าว” ที่เป็นผู้นำท้องถิ่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพราะไม่มีใครที่จะรู้เห็นความเคลื่อนไหวของ “แนวร่วม” ในพื้นที่ได้ดีเท่ากับผู้นำท้องถิ่นอีกแล้ว และความสำเร็จครั้งนี้ก็มาจาก “สายข่าว” ที่เป็นผู้ท้องถิ่นอีกครั้งหนึ่ง
และความสำคัญอีกอย่างคือ แม้ว่า พ.ต.อ.สมเพียร จะได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่ “สายข่าว” ที่ พ.ต.อ.สมเพียร สร้างเอาไว้ในพื้นที่ 4 อำเภอ ของ จ.ยะลา เช่น บันนังสตา ยะหา กรงปีนัง และกาบัง รวมทั้งอำเภอใกล้เคียง ยังมีความพร้อมที่จะช่วยเหลือบ้านเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐในการเป็น “แหล่งข่าว” หรือ “สายข่าว” เพื่อรายงานความเคลื่อนไหวของ “แนวร่วม” ให้แก่หน่วยงานของรัฐ เพียงแต่ที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครองไม่ได้นำคนเหล่านี้ช่วยเหลือให้ทำงานอย่างจริงจัง และไม่มีความ “จริงใจ” ในการดูแลคนเหล่านี้อย่าง “จริงจัง” เพื่อทำประโยชน์ให้แก่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง
สงครามประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การแพ้-ชนะ อยู่ที่การแย่งชิงมวลชน และอยู่ที่การควบคุมจำนวนของ “แนวร่วม” โดยต้องมิให้ขบวนการขยาย “เซลล์” หรือ “แกนนำ” และ “แนวร่วม” ให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น และต้อง “ลบ” จำนวน “แกนนำ” และ “แนวร่วม” ให้น้อยลงด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การทำความเข้าใจ ทำการพูดคุยเพื่อให้กลุ่มแนวร่วมที่หลงผิดกลับใจกลับตัวมาสู่ความสว่างของข้อเท็จจริง การให้ความเป็นธรรม การใช้ พ.ร.ก.ความมั่นคง เป็นเครื่องมือในการเปิดโอกาสให้ผู้หลงผิดสามารถพื้นข้อหาเพื่อกลับคืนสู่สังคม และวิธีการ “สันติวิธี” อื่นๆ ส่วนกลุ่มที่ถูก “ฝังชิป” จนยากแก่การเยียวยาด้วยวิธีดังกล่าว จำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการปิดล้อม ไล่ล่าเพื่อจับกุม และสุดท้ายเมื่อมีการต่อสู้ ย่อมหมายถึงความสูญเสียของคนร้ายอย่างที่เกิดขึ้น
ซึ่งเชื่อว่าความสูญเสีย 5 ศพ ของ “แนวร่วม” ในครั้งนี้อย่างน้อยที่สุด คนในพื้นที่ จ.ยะลา คงจะอุ่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าเจ้าหน้าที่รัฐ ยังมีศักยภาพในการปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อสร้างความสูญเสียแก่ “แนวร่วม” และการสูญเสียของ “แนวร่วม” ครั้งละมากๆ อาจจะทำให้เกิดความสงบขึ้นในระดับหนึ่งกว่าที่ “แกนนำ” จะหากำลังมาทดแทนได้
แต่ในมีได้ย่อมมีเสีย หลังการสูญเสียของ “แนวร่วม” ย่อมมีการตอบโต้เพื่อ “เอาคืน” เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ “แนวร่วม”ในพื้นที่ ดังนั้น ตำรวจ ทหาร และปกครองต้องมีแผนในการ “ตั้งรับ” ที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ “เป้าหมาย” ที่อ่อนแออย่างประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่อาจจะเป็นเครื่องสังเวยบัดพลีเหมือนกับหลายต่อหลายครั้งที่ “แนวร่วม” เกิดความสูญเสีย
แน่นอน “สงครามยังไม่จบ อย่างเพิ่งนับศพทหาร” เพราะเส้นทางของสงครามประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังยาวไกล สิ่งที่ตำรวจ ทหาร และปกครองต้องเร่งปฏิบัติในวันนี้ คือแผนรับมือการแก้แค้นของขบวนการ ก่อนถึงวันที่ 28 เม.ย. ซึ่งเป็นวันครอบรอบ 8 ปีของเหตุการณ์ สังหารหมู่ที่มัสยิดกรือเซะ ซึ่งหากตำรวจ ทหาร และปกครองไม่มีการตั้งรับ และเปิดเกมรุกที่รัดกุมและมีประสิทธิภาพเพียงพอ ประชาชนอาจจะเป็น “เหยื่อ” สถานการณ์อีกครั้ง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น