วันศุกร์, เมษายน 06, 2555

การเมือง การทหาร กรณี ระเบิดภาคใต้ การเมือง หลั่งเลือด

ถามว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในห้วงที่ดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.ทบ.นับแต่เดือนมิถุนายน 2497 เป็นต้นมา จนถึงเดือนมีนาคม 2500 เหตุใดจึงประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ประสบความสำเร็จกระทั่งได้รับยกย่องให้เป็น "ขวัญใจ" หากศึกษาจากการเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งสกปรกของนักศึกษา ประชาชน เมื่อเดือนมีนาคม 2500 ก็จะประจักษ์ ประจักษ์จากคำสั่งมิให้ทหารใช้ความรุนแรง สัมผัสได้จากเมื่อ ร.อ.อาทิตย์ กำลังเอก คุมทหารอยู่บริเวณสะพานมัฆวาน ได้ตะโกนบอกกำลังพลครั้งแล้วครั้งเล่าว่า "ทหารอย่าทำร้ายประชาชน" ทั้งๆ ที่มีคำสั่งจาก จอมพล ป.พิบูลสงคราม ถึง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้สกัดขัดขวางมิให้การเดินขบวนแผ่ขยายไปบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล แต่ในฐานะ ผบ.ทบ.จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่ยอมคล้อยตาม อย่าได้แปลกใจ หาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะถูกบีบจากฝ่าย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ให้พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการรักษาความสงบ และอำลาไปพร้อมกับคำประกาศ "พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ" คําตอบอันได้มาจากการปฏิบัติของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สะท้อนรูปธรรมอันเด่นชัดยิ่งของหลักการและแนวทาง "การเมือง" นำ "การทหาร" แม้จะเป็น ผบ.ทบ.แม้จะมีกำลังทหารและอาวุธอยู่ในมือ ครบถ้วน บริบูรณ์ แต่ไม่ยอมใช้ความรุนแรง ตรงกันข้าม กลับใช้ "การเมือง" แก้ปัญหาการเมือง จากจุดนี้เองที่ทำให้สถานะของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับสถานะของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ และสถานะของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เมื่อก่อรัฐประหารเดือนกันยายน 2500 จึงได้รับการหนุนเสริมอย่างคึกคัก ยิ่งเมื่อก่อรัฐประหารเพื่อกระชับอำนาจอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2501 ก็ยิ่งได้รับการหนุนเสริมเป็นทบเท่าทวีคูณ แต่ความนิยมทางการเมืองต่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ค่อยคลายลงๆ เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนกุมภาพันธ์ 2502 และนำประเทศเข้าสู่ยุคแห่งการร่างรัฐธรรมนูญอย่างยาวนานกระทั่งถึงแก่กาลกิริยา นั่นเพราะว่าได้พลิกเอาการทหารขึ้นมาเผด็จอำนาจและนำการเมือง หากศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับการทหารจากพื้นฐานการสรุปของท่านเคลาซวิตซ์ ปราชญ์ทางการทหารแห่งปรัสเซียก็จะประจักษ์ ประจักษ์ว่าแท้จริงแล้ว การเมือง กับ การทหาร เป็นกระบวนการอันต่อเนื่อง เคลาซวิตซ์ บอกว่า การเมืองกับการทหารคือกระบวนการเดียวกัน เพียงแต่การทหารเป็นความต่อเนื่องของการเมือง "เป็นการเมืองที่หลั่งเลือด" ทั้งๆ ที่การเมือง การทหาร เป็นกระบวนการต่อเนื่อง สัมพันธ์และยึดโยงกันและกัน แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยมองอย่างแยกส่วน แยกการเมืองเป็นอย่างหนึ่ง แยกการทหารเป็นอย่างหนึ่ง ขณะเดียวกัน ก็มีคนจำนวนหนึ่งซึ่งเติบใหญ่ทางด้านการทหารก็สะสมความจัดเจนและความโน้มเอียงกลายเป็นความเคยชินที่จะเอาการทหารเป็นเครื่องตัดสินทุกสิ่งทุกอย่าง โดยลืมความเป็นจริงที่ว่าการทหารคือความต่อเนื่องของการเมือง โดยลืมความเป็นจริงที่ว่าแม้การทหารจะคือการเมืองที่หลั่งเลือด แต่การหลั่งเลือดนั้นก็ดำรงอยู่บนรากฐานความเป็นจริงของการเมืองอยู่นั่นเอง การจัดความสัมพันธ์ของการเมืองการทหารจึงมีความสำคัญ ยิ่งกว่านั้น ยังมิอาจละเลยและมองข้ามความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ของการเมืองโดยตลอด ถามว่าเหตุใดจึงยกอุทาหรณ์ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เหตุใดจึงยกประเด็นการเมือง การทหาร คำตอบของคำถามนี้มาจากสถานการณ์ระเบิด 3 จุดที่ยะลา ปัตตานี หาดใหญ่ คำตอบของคำถามนี้มาจากผลสะเทือนของภาวะสุดโต่งทางความคิดของบางส่วน บางฝ่าย คำตอบของคำถามนี้เน้นให้เห็นความสำคัญของการเมืองที่ต้องกำกับแม้กระทั่งต่อการทหาร

0 ความคิดเห็น:

About This Blog

รายการบล็อกของฉัน

รายการบล็อก

Our Blogger Templates Web Design

  © Blogger templates The Professional Template by Ourblogtemplates.com 2008

Back to TOP