วันจันทร์, เมษายน 02, 2555

บึ้มใต้! สะเทือนรัฐบาล ภาพลักษณ์ติดลบ กระทบความเชื่อมั่น

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “หาดใหญ่” ตกเป็นเป้าหมายของการลอบวางระเบิด การแก้ปัญหาต้องมุ่งไปที่การข่าวต้องชัดเจน เพื่อไม่ให้คนไม่หวังดี ก่อการร้ายเขย่าขวัญ ทำลายภาพลักษณ์ประเทศไทย
แม้รูปแบบการก่อเหตุที่รุนแรงขนาดนี้ ยังไม่นับว่าเป็น “การก่อการร้าย” ซึ่งเป็นคำยืนยันจาก พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง แต่ก็นับว่าเป็นการก่อเหตุที่รุนแรงอย่างสูง ความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้จะมีการประเมินตัวเลขออกมาว่า เฉพาะในจุดระเบิดที่โรงแรมลีการ์เด้น มีมากกว่า 500 ล้านบาท และยังไม่นับ อาฟเตอร์ช็อก จากนี้ที่จะกระทบไปถึงเทศกาลสงกรานต์ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งทราบกันดีว่า นักท่องเที่ยวชาวเมเลเซียจะหอบเงินมาสาดกระจายแทนน้ำในช่วงนี้ รวมทั้งกระแสหวาดผวาไปถึง ภูเก็ต และ ถนนข้าวสาร กรุงเทพฯ แหล่งท่องเที่ยวเทศกาลสงกรานต์
สิ่งเหล่านี้ เป็น “ศูนย์” ทันที เรียกว่า บึ้มโรงแรมเดียว โรงแรมอื่นแทบล้มละลายไปตามกัน ทำเอาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในหาดใหญ่ช็อตถนัด การรุกคืบมาถึงหาดใหญ่ อย่างที่บอกไม่ใช่ครั้งแรก ย้อนไปไม่เกิน 10 ปี ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยถูกทักทายด้วยรูปแบบการตอบโต้แบบนี้มาแล้ว หลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทย ประกาศศักดา กวาดที่นั่ง 377 ที่นั่ง จากสภา 500 เสียง เรียกว่า ทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นฝุ่น ได้จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทย จากนั้นไม่นาน ในวันที่ 3 เม.ย. 2548 (ใกล้เคียงกับวันลอบบึ้มหาดใหญ่ครั้งล่าสุด) เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดสนามบินหาดใหญ่ อีกทั้ง วันเดียวกันนั้นยังเกิดเหตุที่ห้างคาร์ฟูร์ ในตัวเมืองหาดใหญ่ ในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 5 คน บาดเจ็บ 73 คน รวมทั้ง น้องฮ่องเต้ ที่ต้องเป็นเหยื่อบึ้มครั้งที่ในสนามบินหาดใหญ่ เดชะบุญที่รอดมาได้ แต่วันนี้ยังเหลือบาดแผลที่เป็นร่องรอยสะเก็ดระเบิดไว้ให้จดจำ แต่ผู้เป็นพ่อต้องเสียชีวิตไปในเหตุการณ์ครั้งนั้น เหตุการณ์ลอบวางระเบิดครั้งนั้น เรียกว่า เขย่าขวัญเมืองหาดใหญ่ให้หยุดชะงักไปทันทีเช่นกัน
อีกครั้งถัดมา คือในวันที่ 16 กันยายน 2549 เกิดเหตุการณ์วางระเบิดห้างกลางเมืองหาดใหญ่หลายจุด มีที่ห้างโอเดี้ยน ห้างบิ๊กซี ห้างไดอาน่า มีผู้เสียชีวิตแล้ว 4 คน บาดเจ็บ 30 คน
ตามมาด้วย การก่อเหตุซ้ำอีกครั้งเมื่อวันที่ 27พฤษภาคม 2550 โดยเกิดพร้อมๆกัน 7จุด ภายในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ประกอบด้วย 1.หน้ามูลนิธิเซียงตึ้ง ถ.ศุภสารสังสรรค์ 2.ภายในห้องน้ำร้านอาหารนายหนัง ถ.ธรรมนูญวิถี 3.บริเวณศาลพระภูมิหน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี 4.หน้าโรงแรมการ์เด้นท์โฮม 5.หน้าโรงแรมเจบี 6.หน้าห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัส บริเวณลานจอดรถรับจ้าง และ 7.หน้าร้านหมอยาเภสัช บริเวณสี่แยกหน้าวัดฉือฉาง ถ.ศุภสารรังสรรค์ เหตุการณ์ครั้งนั้น มีมีผู้บาดเจ็บ 13 ราย อย่างไรก็ดี เมื่อครั้งเหตุการณ์ลอบวางระเบิดสนามบินหาดใหญ่ ในช่วงนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี หลังเกิดเหตุการณ์ หลายฝ่ายพุ่งเป้าไปที่การต้องการทำลายความน่าเชื่อมั่นของรัฐบาล อันเนื่องมาจากการระดมกวาดล้างขบวนการค้ายาเสพติด โดยเฉพาะนโยบายทำสงครามกับยาเสพติด จึงถูกตอบโต้กลับอย่างรุนแรงหนักหน่วง
ขณะที่ตอนนั้น ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในฐานะรมว.คลัง วิเคราะห์ว่า ระเบิดจุดยุทธศาสตร์ภาคใต้ ต้องการบั่นทอนเรื่องความเชื่อมมั่นทางเศรษฐกิจ และทำลายภาพลักษณ์ประเทศไทย เพราะการเลือกวางระเบิดสนามบินสร้างผลกระทบอย่างมาก ส่วนมาตรการหลังเหตุการณ์ในอดีต พบว่า ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเซฟตี้โซน ถูกงัดขึ้นนำมาใช้ทันที โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล ประกาศเป็นนโยบายคุมเข้ม วางกำลังและมาตรการการรักษาความปลอดภัยอย่างรัดกุม ทั้งการเพิ่มกล้องวงจรปิด การตรวจสถานที่จุดเสี่ยงต่างๆ เพิ่มมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่า ภาพการคุมเข้มเช่นนั้นกระทบต่อความเชื่อมมั่นของนักท่องเที่ยวไม่ใช่น้อย ยิ่งในปีนี้ ประเทศไทยเองเพิ่งถูกต่างชาติประกาศเตือนภัยก่อการร้ายไปไม่นาน จากเหตุการณ์จับผู้ต้องหาชาวอิหร่านที่ก่อเหตุบึ้ม กลางซอยสุขุมวิท 71 และยังโยงใยไปถึงแผนการลอบสังหารรัฐมนตรีของอิสรเอล กว่าที่จะเคลียร์รายการประกาศเตือนภัยได้หมดไม่นาน เมื่อมาเจอเหตุการณ์ที่หาดใหญ่ คงต้องดุว่าในสัปดาห์นี้ จะมีประเทศใดประกาศเตือนภัยเหตุไม่สงบเป็นรายแรก
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ หรือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นโยบายที่ถูกเอาจริงเอาจัง และประชาชนชอบใจ คือ นโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง แต่คนที่ไม่ชอบใจ คือ “มาเฟีย” ในขบวนการค้ายาเสพติด เมื่อเส้นทางธุรกิจ ถูกกวนใจ และต้องสูญเสียรายได้ไปเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องตอบโต้กลับไปบ้าง เพื่อให้รัฐบาลเสียศูนย์ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มคู่ค้ายาเสพติดด้วยกันเองว่า เครือข่ายเหล่านนี้ยังมีฤทธานุภาพ จึงเป็นงานเหนื่อยของฝ่ายการข่าว ที่จะต้องกลั่นกรองข่าวให้เป็น “ข่าวกรอง” ที่แท้จริง ไม่ใช่ “ข่าวกอง” ที่แจกเงินซื้อมาเป็นจำนวนมากจากหลายแหล่งข่าว แล้วก็เอามากองรวมกัน เพราะเป็นข่าวเดียวกันหมด เบิกงบลับการข่าวไปใช่น้อย มากกว่าหลายร้อยล้านบาทต่อปี ก็คงต้องเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบการก่อเหตุ ที่ทางการระบุแล้วว่าทราบตัวเครือข่ายผู้ก่อเหตุไม่ว่าจะเป็น นายมูฮัมหมัด สามะ หรือเครือข่ายของ นายอับดุล กามะ ผู้ต้องหาที่เคยมีหมายจับของสาลจังหวัดสงขลามาแล้ว และยังโยงใยคดีลอบวางระเบิดท่าอากาศยานหาดใหญ่ และที่ห้างคาร์ฟูร์ อ.หาดใหญ่ โดยข่าวแจ้งว่าทั้ง นายมูฮัมหมัด สามะ และนายอับดุล กามะ เป็นผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงที่มีค่าหัวคนละ 300,000 บาท นอกจากนี้ เรื่องการระมัดระวังเรื่องการใช้รถยนต์ออนด้า ซีวิค เป็นคาร์บอมบ์ ก็เป็นข้อมูลข่าวกรองที่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่รับทราบกันมานาน เพราะตั้งแต่เมื่อครั้งเหตุการณ์บึ้มสนามบินหาดใหญ่เมื่อปี 2548 ช่วงนั้นมีคำสั่งจาก กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 หรือ บช.ภ.9 ได้มีคำสั่งถึงสถานีตำรวจในสังกัดให้จับตารถยนต์ ที่กลุ่มคนร้ายจะนำไปใช้ในการก่อเหตุ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้ารุ่นซีวิค สีบรอนซ์เงิน ทะเบียน ธ 6873 ไม่ทราบจังหวัด ซึ่งเป็นแผ่นป้ายทะเบียนที่ปลอมแปลงขึ้นมา โดยต้องสงสัยว่ารถคันดังกล่าว น่าจะเป็นของคนร้ายที่จะนำเอาไปใช้ทำคาร์บอมบ์ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พร้อมให้ตรวจสอบรถยนต์ชนิดต่างๆ ที่ถูกแจ้งหายไว้ หากพบให้ดำเนินการตรวจยึด และเข้าทำการตรวจสอบทันทีเช่นกัน ส่วนเหตุระเบิดที่สนามบินหาดใหญ่ และห้างคาร์ฟูร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในอดีตนั้น จากการสืบสวนทราบช่วงนั้นทราบว่า แกนนำกลุ่มขบวนการก่อการร้ายในภาคใต้ ได้มอบหมายให้หัวหน้าชุดที่มีชื่อจัดตั้งว่า "ดอหะ" เข้าดำเนินการ โดยนายดอหะเป็นชาว จ.นราธิวาส สังกัดกลุ่มเยาวชนกู้ชาติปัตตานี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากสถาบันการศึกษาของรัฐที่ จ.ยะลา โดยเข้ามาเช่าบ้านอยู่ใน อ.หาดใหญ่ ตั้งแต่ต้นปี 2548 และมีแนวร่วมที่อยู่ในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ ซึ่งเป็นวัยรุ่นที่มาจาก จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส เป็นผู้ร่วมวางแผนก่อวินาศกรรม
ข้อมูลเหล่านี้ ในระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการและเจ้าหน้าที่ยุทธการ ต่างมีข้อมูลเชิงลึกมากกว่านี้อีกมากมาย อยู่ที่ว่าจะเอามาใช้ร่วมกันได้ดีแค่ไหน (ไม่อยากเรียกว่า บูรณาการ) แต่อย่างที่บอก ต่างหน่วย ต่างซื้อข่าว ต่างเลี้ยงสายข่าวของตัวเอง เพราะจะได้มีงบประมาณการข่าวอย่างต่อเนื่อง เลยไม่รู้ว่า ข่าวกรองจริงเท็จอย่างไร หรือข่าวล่าไปแล้วหรือไม่ แต่หากรัฐบาลระดม “ตัวจริง” เข้าสะสางปัญหา ยังพอมีเวลาเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้โดยเร็ว จึงถึงเวลาที่นายกรัฐมนตรี จะต้องเร่งวางยุทธศาสตร์รับมือในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก่อนที่จะต้องสร้างความมั่นใจกับต่างชาติต่อไป แค่คิดก็เหนื่อย เพราะนายกฯเพิ่งไปสร้างความมั่นใจ เรื่อง แผนการป้องกันน้ำท่วม เพื่อให้นักลงทุนชาวญี่ปุ่นมั่นใจ อีกทั้งการสยบกระแสข่าวการย้ายฐานการผลิตรถยนต์ของค่ายรถยนต์แดนปลาดิบ รวมทั้งเรื่องการสร้างความมั่นใจว่าประเทศไทยไม่ใช่เป้าหมายการก่อการร้ายหลังเหตุจับผู้ก่อการร้ายชาวอิหร่านในประเทศไทย รวมทั้งคำถามสุดคลาสสิคที่มีข่าวว่า เมื่อครั้งกลุ่มนักลงทุนสหรัฐฯ และจีน เดินทางเข้าพบนายกฯเมื่อไม่นาน ก็มีการแอบถามหยิกแกมหยอกว่า “การเมืองไทยจะมียกต่อไปอีกมั๊ย” หรือ “คุณทักษิณจะกลับเมืองไทยเมื่อไหร่” เพียงเท่านี้ ก็เป็นคำถามง่ายๆ แต่คงตอบได้ยากที่สุด

0 ความคิดเห็น:

About This Blog

รายการบล็อกของฉัน

รายการบล็อก

Our Blogger Templates Web Design

  © Blogger templates The Professional Template by Ourblogtemplates.com 2008

Back to TOP