วันเสาร์, เมษายน 07, 2555

วิเคราะห์ปัญหา-ค้นคว้าทางออกของเหตุความรุนแรงภาคใต้กับ "ชัยวัฒน์-รอมฎอน"

เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน อ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และ จ.ยะลา เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แม้ยังไม่ชัดเจนแน่นอนว่า การวางระเบิดดังกล่าวทำในนามกลุ่มใด เพื่อเรียกร้องอะไร และต้องการนำไปสู่หนทางไหน แต่ความแน่นอนที่เกิดขึ้นแล้วคือผลสะเทือนถึงการเมืองส่วนกลาง ระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล รวมถึง ผลสะเทือนต่ออารมณ์ความรู้สึกเศร้าเสียใจของประชาชนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะที่การค้นหา "ข้อเท็จจริง" ในพื้นที่ภาคใต้ ยังเป็นโจทย์ ที่เดินหน้าหาคำตอบได้ไม่สิ้นสุด เพราะพื้นที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจาก ศูนย์กลางอำนาจประเทศ อย่าง กรุงเทพมหานคร ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ แต่จุดร่วมกัน คือ คนส่วนใหญ่ของทุกภูมิภาค คงไม่ต้องการให้เกิดการเสียเลือดเสียเนื้อหรือเห็นประชาชนมีชีวิตอยู่ในสถานการณ์ที่ขาดความมั่นคงปลอดภัย "มติชนทีวีออนไลน์" สัมภาษณ์บุคคล 2 คน ผู้ศึกษาและสังเกตการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ ถึงแนวทางที่น่าจะเป็น "ทางออก" ลดความรุนแรงและหนทางในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางสารพัดช่องว่างที่คั่นกลางความเข้าใจกันของหลายฝ่าย "ชัยวัฒน์ สถาอานันท์" ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอดีตว่า สมัยเมื่อ 30 ปีก่อน เวลาพูดถึงเหตุการณ์ความรุนแรงภาคใต้ มักจะหมายถึง ขบวนการโจรแบ่งแยกดินแดน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2-3 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งก็จะเป็น กลุ่มสายนิยมเจ้าปัตตานีเก่า บางทีเรียกว่า BNPP เป็นสายประเพณีในพื้นทื่ อีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นกลุ่มซึ่งอยู่ฝ่ายสังคมนิยม เป็นสายปฏิวัติ ที่เรียกกันว่า BRN ในสมัยก่อน ซึ่งมีมาตั้งแต่ 30 ปีก่อน ไม่ใช่เพิ่งมีตอนนี้ ใน 2 สายนี้ ถ้าพูดง่ายๆ คือ สายอนุรักษ์นิยม กับสายต่อต้านอนุรักษ์นิยมในพื้นที่ แต่ทั้ง 2 ฝ่ายเรียกร้องความเป็นอิสระเช่นเดียวกัน จึงเกิดขบวนการที่เรียกว่า พูโล ปัตตานียูไนเตดลิเบอเรชั่น ออกาไนเซชั่น คล้ายๆ เป็นองค์กรในระดับที่เป็น "ร่ม" คลุมของพวกนี้ไว้ แต่อันนั้น เมื่อ 30 ปีที่แล้ว "ใน 30 ปีนี้ มีความเปลี่ยนแปลง ในสิ่งเหล่านี้มากขึ้น สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดและมีความสำคัญ คือมีการเปลี่นนแปลง ′รุ่น′ ของผู้นำในขบวนการ ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงรุ่น มีผลสำคัญต่อชนิดของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกอย่างหนึ่งที่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคือ วิถีในการต่อสู้ของเขาเอง ซึ่งคงจะไม่เหมือนสมัยก่อนเท่าไหร่ หลายคนก็สงสัยว่า ต่อสู้ในสมัยนี้ ทำไมคนไม่เห็นเลยว่า ข้อเรียกร้องคืออะไร เป็นอย่างไร มีนักวิชาการฝรั่งบางคนบอกว่า ขณะนี้กำลังต่อสู้กับปีศาจ ไล่ตามเงาโดยไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แต่ฝ่ายรัฐ ก็บอกว่า รู้เหมือนกันนะ นี่คือ BRN co-ordinate อะไรทำนองนี้ ซึ่งก็ว่ากันไป แต่ถึงแม้จะรู้ว่ากลุ่มนี้ ประเด็นคือ วิธีที่เขาสัมพันธ์กัน ก็คงไม่เหมือนเดิม นี่คงเป็นการคลี่คลายของขบวนการเหล่านี้ ผมจะเรียกการคลี่คลายขบวนการเหล่านี้ว่ามีลักษณะเป็นเครือข่ายไม่มีแกนกลางเท่าไหร่ ฉะนั้น โอกาสในการทำงานจึงทำได้เยอะ" ชัยวัฒน์ กล่าว ชัยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า วิธีการแบ่งประเภทผู้ก่อการร้ายอีกวิธี คือ ขบวนการที่ปรากฎและไม่ปรากฎ ขบวนการที่ปรากฎมีตัวแทนที่เห็นภาพเห็นเสียงอยู่ในโลกไซเบอร์ แต่ขบวนการที่ไม่ปรากฎ เห็นแต่เงา ไม่รู้อยู่ไหนแล้วเพราะ ไม่รู้จะติดต่อกับใคร ทำให้เราต้องติดต่อแต่คนที่เห็นภาพเห็นเสียงอยู่ในโลกไซเบอร์ แต่ถามว่าเป็นตัวแทนทั้งหมดจริงหรือเปล่า อาจจะไม่ใช่ก็ได้ เพราะ อาจจะไม่สามารถคุมเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ได้จริงจัง ถามว่านี่เป็นปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไทยเท่านั้นหรือเปล่า ตนคิดว่าไม่ใช่ เพราะที่อื่นก็คล้ายๆ กัน เช่น กรณีขบวนการชื่อ "กาม" GAM (Gerakan Aceh Merdeka) ต่อสู้กับ อินโดนีเซีย ในกรณีอาเจะห์ กามก็มีตัวแทนอยู่สวีเดน คนก็รู้จักผ่านตัวแทนซึ่งอยู่สวีเดน คำถามคือ คนที่อยู่สวีเดนสามารถควบคุมบังคับผู้บัญชาการการรบในพื้นที่ที่สุมาตราได้ไหม คำตอบคือคงไม่ได้ ฉะนั้น ช่องว่างแบบนี้คงมีอยู่ให้เห็น สำหรับวิธีการระเบิด โดยมุ่งหมายต่อใครก็ได้ ไม่ได้กระทำต่อตัวบุคคล แปลว่า เขาต้องการสื่อสารกับรัฐว่าอย่างไรกันแน่นั้น ชัยวัฒน์ กล่าวว่า เวลาสู้กันระหว่างกลุ่มก่อการกับรัฐ จริงๆ แล้วรัฐเป็นฝ่ายได้เปรียบ ถามว่าทำไมรัฐเป็นฝ่ายได้เปรียบ เพราะโดยเปรียบเทียบแล้ว ระหว่างกลุ่มก่อการและกลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงทั้งหลายที่ต่อต้านรัฐ จะแพ้รัฐอยู่อย่างหนึ่ง ก็คือโดยส่วนใหญ่ รัฐเป็นอมตะ แต่กลุ่มไม่เป็นอมตะ แล้วกลุ่มก็ไม่ประสบความสำเร็จ "ของพวกนี้ เมื่อไม่ประสบความสำเร็จ ก็เพิ่มขีดความน่าสนใจของกรณีความรุนแรงที่ใช้ เพราะ กรณีความรุนแรงที่เกิดก่อนหน้านี้ ยิงที่สวนยางพารา ยิงคนบนมอเตอร์ไซต์ คนที่ไปกรีดยาง อันนี้เกิดขึ้นแทบทุกวัน ปัญหาของการใช้ความรุนแรงเกือบทุกวัน คือ ความเป็นปกติของความรุนแรง พอเป็นอย่างนั้น พลังของตัวความรุนแรงที่เขาอยากจะสื่อจึงลดลงไป จึงต้องเพิ่มขีด ฉะนั้น จึงเกิดเหตุระเบิดที่หาดใหญ่ โรงแรมลี กาเดนส์ และยะลา 3 จุด" ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ กล่าว ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวถึง เหตุการณ์ความรุนแรงระลอกล่าสุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี ทำรายงานเสนอสาธารณชนเมื่อปีที่แล้ว โดยได้คาดคะเนไว้ล่วงหน้าแล้วว่า จะมีความรุนแรงลักษณะนี้เกิดขึ้น คือเส้นกราฟผงกหัวทวีขึ้น การใช้ระเบิดก็จะซับซ้อนมากขึ้น "การใช้ระเบิดรถยนต์แบบนี้ ผมคิดว่าเริ่มต้นตั้งแต่ที่ปัตตานี เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ใช้ระเบิดประมาณ 30 กิโลกรัมก่อความเสียหายได้มากมาย อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ล่าสุด ก็มีข้อเสี่ยงกลับไปยังฝ่ายผู้ก่อการเอง เพราะผู้ติดตามข่าวไม่ว่าจะเป็นชาติอะไร ศาสนาอะไร ก็ทนไม่ได้ ที่เห็นเหยื่อความรุนแรง โดยเฉพาะเด็กเกือบร้อยและคนบาดเจ็บจำนวนมาก ฉะนั้น เกิดผลลบต่อขบวนการนี้เพิ่มขึ้น ส่วนคำถามว่า สังคมควรทำอย่างไร ก็มี 2 ทางคือ 1) รอให้ความรุนแรงหนักไปอีกหรือความรุนแรงไม่หนักขนาดนี้ แต่เกิดขึ้นซ้ำๆ คนล้มลงเหมือนใบไม้ร่วง หรือ 2) ลองคิดวิธีที่จะทำให้เรื่องนี้ เป็นปัญหาทางการเมือง เพื่อพูดคุยประเด็นทางการเมือง ซึ่งเป็นที่มาของข้อเสนอ ′สันติสนทนา′ เพื่อให้ทราบว่า ผู้ก่อการคิดอะไร ซึ่งคาดว่าผู้ก่อการเองก็มีอยู่หลายส่วน และในขบวนการผู้ก่อการเอง ก็คงมีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นชีวิตเด็กและอีกหลายชีวิตในที่เกิดเหตุ ปัญหาภาคใต้อาจจะไม่ได้มีเพียงกลุ่มแบ่งแยกดินแดน เพราะคงมีกลุ่มมากกว่านั้น แต่จากข้อศึกษาหลายแห่งในโลกนี้ พบว่า การพยายามใช้ความรุนแรงของหลายกลุ่มที่พยายามจะแบ่งยกดินแดนจะไม่บรรลุเป้าหมาย ทีนี้ สมมุติถ้าคิดเรื่องการบรรลุเป้าหมาย ผมก็ไม่รู้เขา (ผู้ก่อการ) มีโครงการทางการเมืองของเขาไหม สมมุติถ้าแยกดินแดนแล้วหน้าตาเป็นยังไง มีรายละเอียดเยอะแยะ จะสัมพันธ์กับรัฐไทยบางลักษณะได้ไหม หรืออยู่ในรัฐไทยอย่างไร ซึ่งรัฐไทยเป็นเอกรัฐสมัยใหม่ ของพวกนี้เป็นประเด็นน่าจะลองพูดคุยสนทนากัน ไม่เฉพาะคนฝั่งรัฐหรือฝั่งกลางๆ แต่น่าจะได้คุยด้วยว่า เขา (ผู้ก่อการ) คิดอะไรเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ แล้วผลของสันติสนทนาประการหนึ่ง น่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริงที่ว่า เราควรคิดถึงคนเหล่านี้ (ผู้ก่อการ) ในฐานะที่ไม่ใช่คนที่เป็นเนื้อเดียวกัน (มีเอกภาพ) คงมีหลายส่วนอยู่ในนั้นโดยเฉพาะเมื่อเห็นเด็กอายุ 2 เดือนบาดเจ็บอยู่ในนั้น คนในขบวนก่อการอาจจะคิดว่า นี่เป็นราคาที่ต้องจ่าย แต่อีกส่วนอาจจะบอกว่า ไม่ควรทำแบบนี้ ก็คงมี ฉะนั้น การเสนอ ′สันติสนทนา′ จึงเป็นทางออก เพื่อให้เห็นว่า แม้แต่คนในขบวนการก่อการเอง ก็อาจจะมีความเห็นที่หลากหลาย แล้วทำให้ฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงเป็นคำตอบ อาจจะไม่แข็งแรงเหมือนเดิม" นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสนอ สำหรับการสร้างความรุนแรง จะเป็นวิธีการต่อรองที่ได้ผลที่สุดในสายตาผู้ก่อการร้ายหรือไม่นั้น ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ไม่ว่าเขาจะคิดอะไร แต่ข้อเท็จจริงคือ ในกรณีต่างๆ ทั่วโลก รัฐจะชนะ ในสมัยนี้ แทบจะไม่มีที่ไหน ที่ใช้กำลังแล้ว แบ่งแยกตัวเองสำเร็จ หาได้น้อยมาก เช่น กรณี อาเจะห์ ในที่สุดก็เปลี่ยนเป็นกระบวนการทางการเมือง หรือในฟิลิปปินส์ ก็หันมาใช้กระบวนการทางการเมือง แม้ไม่ได้จบแต่ก็ต้องหาวิธีแก้ไขกันไป เชื่อว่าผู้ก่อความรุนแรงในภาคใต้ มีหลายกลุ่มและในแต่ละกลุ่มไม่เป็นเนื้อเดียวกัน ส่วนปัญหาว่าจะ "สันติสนทนา" กับใครนั้น สิ่งที่เสนอว่าควรมีคือ ความเป็นเอกภาพทางนโยบาย แต่ตัวสันติสนทนา ควรมีหลายช่องทาง เพื่อปล่อยให้เกิดโอกาสพูดคุยจากหลายช่องทาง จะแก้ปัญหาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ผบ.ทบ.) พูดว่ารัฐบาลไปสนทนาเฉพาะกลุ่ม ทำให้กลุ่มอื่นไม่พอใจได้ ในขณะที่เราเองก็ไม่รู้กลุ่มไหนมีพลังแค่ไหน การเปิดให้มีหลายช่องจะทำให้ลดปัญหาได้บ้างในระยะยาว สำหรับผลประโยชน์ที่ขัดกันระหว่างผู้ก่อเหตุกับรัฐคืออะไรกันแน่นั้น นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า คนเจนเนอเรชั่นปัจจุบัน รุ่นที่ปรากฎตัว แล้วอาจจะเป็นกลุ่มเดียวกับที่ใช้กำลังในขณะนี้ อาจได้รับอิทธิพลจากความเชื่อที่ว่า เขาอยากจะเป็นอิสระ แต่เป็นอิสระในรูปไหนก็ยังไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ เขาอาจจะรู้สึกว่าอัตลักษณ์ของเขา ถูกเบียด ถูกบังถูกขับ ในขณะที่ฝ่ายรัฐไทย ก็บอกว่าไม่เห็นเป็นอย่างนั้นเลย แต่นี่ก็เป็นการอ่านความเป็นจริงที่ต่างกัน เป็นผลของประวัติศาสตร์ที่ต่างกัน เป็นผลของความเป็นมาที่ต่างกัน ของพวกนี้ ในที่สุดแล้วปรากฎตัวในรูปของความขัดแย้งที่เห็นในภาคใต้ ฉะนั้น เมื่อถามว่าผลประโยชน์คืออะไร ก็คือ สิ่งที่เขาคิดว่าสำคัญ คนเราต่อสู้เพื่อสิ่งที่ตัวเองคิดว่ามันสำคัญ ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ ก็ไม่แน่ว่า ทุกกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้น เป็นฝีมือของขบวนการอย่างเดียว ส่วนตัวคิดว่ามีหลายฝ่ายที่จะต้องรับผิดชอบต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น ด้าน "รอมฎอน ปันจอร์" จาก ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า การส่งเสริมให้มีการถกเถียงกันจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อรัฐบาลส่งสัญญาณแรงๆ ชี้นำว่า เรากำลังจะไปสู่อะไร ด้วยวิธีการแบบไหน อะไรบ้าง เพราะขณะนี้ไม่ใช่เพียงทหารที่ทำงานอยู่ในภาคใต้และไม่ใช่ตำรวจเท่านั้น ที่ตามล่าตามจับคนร้าย แล้วไม่ใช่แค่ชาวบ้านกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่ต้องเผชิญชีวิตประจำวันที่มีแต่ความไม่แน่นอน เพราะประชาชนทั้ง 3 ฝ่ายในพื้นที่ คือ ชาวบ้านมลายูมุสลิม ก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองจะถูกจับกุมบุกค้นเมื่อไหร่ ถูกตรวจตราเมื่อไหร่ จะถูกใช้กฎหมายพิเศษเรียกตัวญาติพี่น้องไปเมื่อไหร่ ในขณะที่คนจีน ก็คงกังวลว่าการค้าธุรกิจตัวเองจะอยู่รอดไหม ส่วนคนไทยพุทธ ก็อาจจะอยู่อย่างลำบาก หวาดกลัว ของอย่างนี้เป็นมาโดยตลอด 8-9 ปี เราใช้งบประมาณ ใช้กำลังพลมากมาย ในการเยียวยา "ฉะนั้น โอกาสนี้รัฐบาลต้องส่งสัญญาณแรงๆ ว่าทิศทางควรเป็นยังไง ขณะที่สังคมไทย ในฐานะที่เป็นฐานสนับสนุนทิศทางการแก้ปัญหาระดับชาติ อาจจะต้องช่วยกันคิดว่า ตกลงควรจะเป็นอย่างไร และในอนาคต คนมุสลิมที่ปัตตานี หรือ ปาตานี เอง ทั้ง 3-4 จังหวัด อาจจะต้องทบทวนว่า ตัวเองต้องการอะไร จะอยู่กันยังไง ในสภาพความเป็นจริงที่มีขบวนการแบบนี้ ในขณะที่รัฐไทย กำลังเผชิญปัญหาแบบนี้ แล้วคนในพื้นที่ซึ่งอยู่ตรงกลางจะเอาอย่างไร การแชร์อำนาจ การตรวจสอบถ่วงดุลภายในมลายูเอง หน้าตาจะเป็นอย่างไร" เมื่อถามว่า หากเป้าหมายคือการแบ่งแยกดินแดนจริงๆ แล้ว ขบวนการดังกล่าวมีโมเดลหรือไม่ว่า ต้องการรูปแบบการปกครองอย่างไร ใครเป็นผู้นำ รอมฎอนบอกว่า เท่าที่ทราบมาคือยังไม่มี ซึ่งนี่เป็นปัญหาที่น่าสนใจว่า เขามีอะไรมาขาย เพื่อที่จะให้คนยอมรับ และสนับสนุน แต่ปัญหาของการไม่มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม ก็อาจจะเท่ากับปัญหาที่เป็นรูปธรรมเลวร้ายในมุมมองของพวกเขา คือมีทั้งแรงผลักและแรงดึง พวกเขามีสังคมที่ไม่น่าอยู่เท่าไหร่ในสังคมไทยและเจอปัญหา เช่น เรื่องอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ภาษา และของที่อยากจะพูด ก็พูดไม่ได้ จึงเป็นแรงผลักนำไปสู่สิ่งที่เกิดขึ้น "ผมว่าเรื่องนี้ ก็ไม่ต่างจากขบวนการทางการเมืองหลายๆ ขบวนการ แม้กระทั่ง นปช.เสื้อแดง หรือ พธม.เสื้อเหลือง คือเป้าที่จะไปถึงมีหน้าตาอย่างไรก็อาจจะยังไม่ชัด แต่อาจจะมีองค์ประกอบบางอย่างที่โผล่ขึ้นมา เช่น กรณีเสื้อเหลือง ก็ไม่ต้องการให้มีคุณทักษิณ หรือ กรณีเสื้อแดง ก็พูดถึงความยุติธรรม ก็ว่ากันไป คือมีของบางอย่างที่เรียกร้องร่วมกัน แต่เป้าหมายยังไม่ชัด หรืออาจจะมีก็ได้ แต่อาจจะสื่อสารกันภายใน อันนี้เราไม่รู้ ซึ่งเป็นข้ออ่อนอย่างหนึ่งที่ทำให้การแสวงหาแนวร่วมพันธมิตรเป็นไปได้ยาก ยังไม่รวมเรื่องวิธีการ (ความรุนแรง) ที่พวกเขาทำ ซึ่งมีปัญหาในตัวเอง สำหรับรัฐไทย รูปธรรมในอนาคต 10 ปี ถ้ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็เป็นปัญหาเหมือนกัน ถึงเวลาต้องทบทวนว่า จะอยู่ร่วมกับสังคมชายขอบ แต่เป็นชนกลุ่มน้อย ที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่อย่างไร แล้วจะสนับสนุนให้พวกเขาปกครองตัวเองหรือดูแลตัวเองยังไง ในมุมแบบนี้ ถ้ารัฐไทยปรับตัวได้เร็ว ก็จะเสริมอำนาจในการปกครอง ในขณะที่ฝ่ายขบวนการใต้ดิน อาจจะต้องปรับตัวในการทำงานการเมืองเพิ่มมากขึ้น คือทิศทางควรต้องไปแบบนี้ ไม่อย่างนั้นความรุนแรงจะกินตัวเอง แล้วทำให้ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักที่ตัวเองวางเอาไว้" รอมฎอน กล่าวทิ้งท้าย

0 ความคิดเห็น:

About This Blog

รายการบล็อกของฉัน

รายการบล็อก

Our Blogger Templates Web Design

  © Blogger templates The Professional Template by Ourblogtemplates.com 2008

Back to TOP