วันเสาร์, พฤษภาคม 22, 2553

18ปี พฤษภาวิปโยค

‘พฤษภา2535’ความต่างในความเหมือน‘พฤษภา2553"? "...ขอให้ท่านช่วยกันคิด คือหันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน เพราะว่าประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคนต้องเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากันแก้ปัญหาเพราะว่าอันตรายมีอยู่เวลาคนเราเกิดความบ้าเลือด ปฏิบัติการรุนแรงต่อกันมันลืมตัว ลงท้ายก็ไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร แล้วจะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วใครจะชนะ ไม่มีทางชนะ อันตรายทั้งนั้น
มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดคือประเทศชาติ ประชาชนทั้งประเทศ แล้วจะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะเวลาอยู่บนกองสิ่งปรักหักพัง ฉะนั้น จึงขอให้ทั้งสองท่านเข้ามา คือไม่เผชิญหน้า แต่จะต้องหันหน้าเข้าหากัน และสองท่านนี้เท่ากับเป็นผู้แทนของฝ่ายต่าง ๆ ให้ช่วยกันแก้ปัญหา ปัจจุบันนี้คือความรุนแรงที่เกิดขึ้น แล้วเมื่อเยียวยา ปัญหานี้ได้แล้วจะมาพูดกัน ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรสำหรับให้ประเทศได้มีการสร้างพัฒนาขึ้นมาได้ กลับคืนมาโดยดี..." กระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้ง พล.อ.สุจินดา คราประยูร และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าฯ ในเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ 2535" 18 ปี ผ่านไป เหตุการณ์ "พฤษภาวิปโยค" กลับมาสร้างความสูญเสียให้กับประเทศไทยอีกครั้งจากกรณีการชุมชุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่สี่แยกราชประสงค์ ก่อให้เกิดความสูญเสียมากมาย ซึ่งหากเทียบความใกล้เคียงของสองเหตุการณ์ จะพบว่า พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำประชาชนในเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ 2535" ถูกจับกุมวันที่ 18 พฤษภาคม 2535 ขณะที่แกนนำ นปช.เข้ามอบตัวในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งวันที่ถูกควบคุมตัวต่างกันเพียงหนึ่งวันหากไม่นับปี พ.ศ. แต่สองเหตุการณ์หลังจากแกนนำมอบตัวก็เกิดความวุ่นวายด้วยการลอบเผาสถานที่สำคัญ ซึ่ง "พฤษภาทมิฬ 2535" ส่วนใหญ่ลอบวางเพลิงในสถานที่ราชการ ต่างจาก "พฤษภาเลือด 2553" ที่ลอบวางเพลิงสถานที่ของเอกชน เช่น ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ แสดงออกถึงความมุ่งหมายให้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ จุดเริ่ม 2 เหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ 2535" เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ระหว่างวันที่ 17 - 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นการรัฐประหารรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำไปสู่เหตุการณ์ปราบปรามและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกับประชาชนผู้ชุมนุม มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ขณะที่จุดเริ่มของการชุมนุมของ นปช. เกิดจากรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 เป็นการก่อรัฐประหารในประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นในคืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นำโดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ โดยโค่นล้มรักษาการนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นับเป็นการก่อรัฐประหาร เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี รัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนต่อมา 18 ปี ของเหตุการณ์ต่างกรรม ต่างวาระ รศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ประธานสภาคณาจารย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองว่า "พฤษภาทมิฬ 2535" จุดเริ่มต้นเกิดจากนายทหารต้อง การสืบทอดอำนาจทางการเมือง ประชาชนที่ออกมาต่อต้านเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ต่างจากการชุมนุมของ นปช. จุดเริ่มต้นเกิด จากความไม่พอใจที่เกิดจากการปฏิวัติ "19 กันยายน 2549" โดยมีการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป้าหมายลึก ๆ ทุกคนในสังคมรู้ดีว่า ต้องการให้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร กลับคืนสู่อำนาจทางการเมือง แต่สิ่งที่เหมือนกันของทั้งสองเหตุการณ์คือ เป็นการแย่งชิงอำนาจรัฐ" "ด้วยความที่นักการเมืองไม่สามารถแก้ปัญหากันในสภาได้ ทำให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น หลังจากจบเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ 2535 ก็นึกว่า นักเลือกตั้งจะยกระดับตัวเองให้มีคุณภาพ ไม่ใช่วนเวียนกันแค่คนในตระกูลตัวเอง ซึ่งเหตุการณ์ของ นปช. เป็นอีกบริบทหนึ่งที่เกิดจากนักการเมืองไม่มีคุณภาพ หากมองดูให้ดี ส.ส. ในประเทศไทยทั่วประเทศวนเวียนกันไม่กี่ตระกูล" รศ.ทวีศักดิ์ ย้ำถึงการยกระดับนักการเมือง นำสู่การนองเลือด ด้วยบริบทด้านเวลาซึ่งนำสู่การนองเลือดบนแผ่นดินไทยของ 2 เหตุการณ์ ค่อนข้างมีความแตกต่างอย่างชัดเจน โดยใน ยุค "พฤษภาทมิฬ 2535" หลังจาก รสช. ยึดอำนาจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ก้าวล่วงมาสู่เดือนพฤษภาคม 2535 ใช้ระยะเวลากว่า 1 ปีในการบ่มเพาะแรงต่อต้าน ขณะที่การชุมนุมของ นปช. เริ่มจากการปฏิวัติ "19 กันยายน 2549" และนำสู่การแตกหักในเดือนพฤษภาคม 2553 รวมเวลาเกือบ 4 ปี รศ.ทวีศักดิ์ อธิบายของห้วงเวลาของ 2 เหตุการณ์ว่า การชุมนุมของ นปช. ใช้เวลานานกว่า แต่ใช้การสื่อสารเป็นตัวบ่มเพาะในหลายรูปแบบทั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ต วิทยุชุมชน และแกนนำในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเหมือนถูกออกแบบให้วางจุดจบเหมือน "พฤษภาทมิฬ 2535" สิ่งที่เห็นจากการชุมนุมของ นปช. คือการเจรจาที่เหมือนจะได้ข้อยุติ แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล ในทางกลับกันจึงเป็นการทำให้ผู้ชุมนุมเกิดความเคียดแค้นผ่านการปราศรัยของแกนนำ ขณะที่พื้นที่ในการปักหลักชุมนุมระยะแรก นปช. มีการชุมนุมแบบดาวกระจาย สร้างความปั่นป่วนให้กับคนในเมืองหลวง แต่สุดท้ายตัดสินใจยึดที่มั่นบริเวณ สี่แยกราชประสงค์ ใจกลางถนนธุรกิจ สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นได้ว่า แกนนำต้องการให้เศรษฐกิจใน ประเทศสะดุดเพื่อให้รัฐบาลยุบสภา ต่างจาก "พฤษภาทมิฬ 2535" ที่เน้นการชุมนุมบนพื้นที่อันเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง เช่น ถนนราชดำเนิน นี่แสดงให้เห็นถึงอนาคตที่ภาครัฐต้องหันกลับมาหาวิธีแก้ไขไม่ให้ผู้ชุมชุมมาปักหลักในสถานที่ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น สำหรับการชุมนุมของ นปช. ที่เป็นตัวบ่มเพาะให้เกิดความรุนแรงเกิดจากการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงรายวันที่ผ่านมาทั้งเครื่องยิงลูกระเบิด และเหตุการณ์กองกำลังไม่ทราบฝ่าย ซึ่งเหตุการณ์อันนำสู่จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดจากการลอบสังหาร พล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 โดยได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกกระสุนเข้าที่ศีรษะด้านขวาทะลุท้ายทอย และกลุ่มคนเสื้อแดงได้นำตัวส่งโรงพยาบาลหัวเฉียว และย้ายไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาลในกลางดึกของวันเดียวกัน โดยทางแพทย์ผู้ให้การรักษาได้ให้เหตุผลว่าทางวชิรพยาบาลมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เพียบพร้อมกว่า ซึ่งอาการอยู่ในสภาพทรงตัวมาตลอดจนกระทั่ง พล.ต.ขัตติยะ เสียชีวิตด้วยภาวะไตวายเฉียบพลันเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เวลา 09.20 น. ปิดฉาก "ฮาร์ดคอร์แดง" อำนาจรัฐของ 2 กรณี รศ.ทวีศักดิ์ มองว่า อำนาจรัฐในเหตุ การณ์ ยุค "พฤษภาทมิฬ 2535" มีความเป็นเอกภาพมากกว่าเหตุการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเห็นได้จากทหารบางหน่วยที่ไม่ได้รับสั่งการให้มาปราบผู้ชุมนุม แต่ก็ขออาสาเข้ามาปราบผู้ชุมนุมเพื่อสร้างผลงาน ต่างจากเหตุการณ์ของ นปช. ที่หน่วยงานรัฐค่อนข้างระมัดระวังจน คนบางกลุ่มเริ่มจะไม่เอาด้วยกับรัฐบาล แต่สุดท้ายก็รวมกันได้จนเป็นเอกภาพของกองทัพ แต่สิ่งที่คล้ายกันของ 2 เหตุการณ์คือ ผู้ชุมนุมกลุ่มสุดท้ายที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจะเป็นคนรากหญ้า ที่เขามาเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในสิ่งที่ตัวเองเดือดร้อน และต้องการให้ภาครัฐทำการแก้ไขอย่างแท้จริง แม้ในอดีต พฤษภาทมิฬ 2535 จะได้รับฉายาว่า "ม็อบมือถือ" แต่สุดท้ายเมื่อทหารเข้าปราบปรามคนส่วนใหญ่ที่อยู่กลายเป็นคนระดับล่าง ซึ่งยังคงรอความหวังจากนักการเมืองให้แก้ปัญหา ซึ่งกลายเป็นเหยื่อของการแย่งชิงอำนาจของนักการเมือง ดังนั้นภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจนของผู้คนในประเทศซึ่งจากแผนปรองดอง 5 ข้อ ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย 1. ที่ผ่านมามีคนจำนวนหนึ่งทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เข้าสู่ความขัดแย้งทางการเมือง การจะทำให้สังคมไทยเป็นปกติสุขได้ ต้องช่วยกันไม่ให้มีการนำสถาบันเข้ามาสู่ความขัดแย้ง โดยทุกฝ่ายต้องมาร่วมกันทำงานเพื่อเชิดชูเทิดทูนสถาบัน 2. ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีรากฐาน มาจากความไม่เป็นธรรมในสังคมในระบบ เศรษฐกิจ ประชาชนได้สัมผัสถึงความไม่เป็นธรรมเหล่านั้น โดยหลายคนที่มาชุมนุมมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้รับโอกาส ถูกรังแกจากผู้ที่มีอำนาจ ถ้าปล่อยให้เกิดความรู้สึกอย่างนี้ จะทำให้เกิดเงื่อนไขความขัดแย้ง สิ่งที่ต้องทำคือไม่ปล่อยให้การแก้ไขเหมือนกับในอดีตที่แต่ละรัฐบาลต่างก็มีวิธีแก้ไขเองตามยุคตามสมัย วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนทุกคนต้องได้รับการดูแลที่เท่าเทียมกัน ทั้งด้านการศึกษา รายได้ และคุณภาพชีวิตรวมไปถึงคนที่ไม่มีที่ทำกิน มีหนี้สินท่วมตัว จะต้องได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบ รวมไปถึงผู้ที่มีความเดือดร้อนเป็นพิเศษต้องได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบ กระบวนการปรองดองจะดึงทุกภาคส่วนเข้ามาแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมทั้งระบบ มีเป้าหมายยกระดับรายได้ประชาชน ที่สามารถประเมินผลได้ และเป็นเรื่องที่กำหนดให้ทุกรัฐบาลต่อจากนี้ต้องเข้ามาดำเนินการ 3.การปรองดองต้องมีการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ โดยสื่อต้องไม่เสนอข้อมูลข่าวสารที่มุ่งความขัดแย้ง สร้างความเกลียดชัง ถ้าหากทำให้การดูแลสื่อสารมวลชนโดยไม่มีการละเมิดสิทธิ มีการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ก็จะทำให้เกิดความปรองดองสงบสุขอย่างรวดเร็ว 4. ตั้งแต่มีการชุมนุมได้เกิดเหตุการณ์ ที่มีความสูญเสีย นำไปสู่ความคลางแคลงใจที่อาจนำไปสู่ความแตกแยกรุนแรงมากขึ้น และแม้เหตุการณ์ที่ไม่มีการสูญเสีย เช่น ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็สร้างความสะเทือนใจให้ประชาชนจำนวนมาก ดังนั้นทุกเหตุการณ์ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยให้มีคณะกรรมการอิสระเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้คำตอบกับสังคม 5. การที่จะมีกติกาทางการเมืองที่เป็นที่ยอมรับกันของทุกฝ่าย โดยต้องมีการนำข้อขัดแย้งต่าง ๆ มาวางเพื่อให้มีการระดมความเห็นจากทุกฝ่ายให้เกิดความเป็นธรรม ครอบคลุมตั้งแต่ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปถึงความผิดในการชุมนุม ในช่วงที่มีการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง แผนปรองดองทั้ง 5 ข้อนี้ เป็นสิ่งที่รัฐต้องพิสูจน์ถึงความจริงใจในการปฏิรูปสังคมไทย จุดจบบนปลายทาง รศ.ทวีศักดิ์ กล่าวถึงแนวทางแก้ไขว่า รัฐต้องปฏิรูปตัวเองในการคัดสรรนักการเมืองที่มีจริยธรรมมากกว่าการเป็นพวกพ้องของตัวเองหรือแบ่งสรรผลประโยชน์ให้กับนายทุนพรรค ขณะเดียวกันต้องมีความจริงใจในการแก้ไขสังคมให้ประชาชนชั้นล่างไม่ห่างจากประชาชนชั้นบนมากนัก เพื่อสร้างให้พวกเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันนักการเมืองควรทำให้พื้นที่ในสภาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา มากกว่าการปลุกระดมให้ชาวบ้านเป็นพวกของตนแล้วไปต่อกรกับอำนาจรัฐ โดยประชาชนควรรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจให้อยู่เหนืออำนาจของพรรคการเมืองต่าง ๆ เพราะหากเรามัวแต่ยึดติดกับนักการเมืองประชาชนเองก็จะเป็นเบี้ยล่างของนักการเมือง แม้ 2 เหตุการณ์เกิดต่างกันถึง 18 ปี แต่สังคมไทยกลับก้าวอยู่กับที่ เพราะ 2 เหตุการณ์เปลี่ยนแค่ตัวละคร แต่เลือดคนไทยที่ราดรดแผ่นดินขวานทองไทยทั้งสิ้น ถึงเวลาหรือยังที่นักการเมืองในสภาต้องถามตัวเองว่า วันนี้เราจะเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไรให้กับประชาชน...?.

0 ความคิดเห็น:

About This Blog

รายการบล็อกของฉัน

รายการบล็อก

Our Blogger Templates Web Design

  © Blogger templates The Professional Template by Ourblogtemplates.com 2008

Back to TOP