วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 20, 2553

นักวิเคราะห์ชี้สังคมไทยมีแนวโน้มขัดแย้งหนักไม่รู้จบ แนะต้องมีเลือกตั้งและประเมิน "คนชนบท" ใหม่

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 20 พ.ค.ว่า ความรุนแรงทางการเมืองของไทยยังจะยังดำเนินไปอีกไกล โดยนักวิเคราะห์ระบุว่า แม้ที่ผ่านมา ประเทศไทยจะเผชิญความไม่สงบด้านพลเรือน หรือการปฎิวัติรัฐประหาร แต่ความรุนแรงที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้น ทำให้ เมืองไทยเดินหน้าไปสู่เขตแดนที่ไร้กฎหมาย และกฎเกณฑ์ โดยนายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า สังคมไทยไม่เคยแสดงอาการโกรธหรือเดือดดาลในระดับนี้มาก่อน และอารมณ์ดิบที่ซ่อนในความเชื่อทางการเมืองต่าง ๆ กำลังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเมือง และทำให้มีการแบ่งขั้วข้างเพิ่มมากยิ่งขึ้น


นายปวิน ชัชวาลย์พงษ์พันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญแห่งสถาบันศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำสิงคโปร์ กล่าวว่า ขณะนี้ความรุนแรงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการเมืองไทยซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็น "ดินแดนแห่งรอยยิ้ม" ไปแล้ว โดยเหตุการณ์เผาตึกอาคารที่ไม่เกิดขึ้นเฉพาะในกรุงเทพ แต่ยังเกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ เป็นสัญญาณแสดงถึงความสุดขั้วสุดโต่งของการเมืองไทย และเรียกได้ว่าความขัดแย้งยังไม่ยุติ แต่เป็นเพียงการเริ่มต้นของอีกเส้นทางของสงคราม ซึ่งอาจจะเป็นสงครามกลางเมือง หรือ สงครามกองโจร


ด้านนายวิลเลี่ยม เคส ผู้อำนวยการแห่งศูนย์วิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ชนชั้นสูงไทยมองกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นเพียงทหารไพร่ของพ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรีไทย แต่ขณะนี้กลุ่มเสื้อแดงกำลังกลายเป็นกลุ่มที่มีความช่ำชองในการประท้วงมากขึ้น เพราะกลุ่มได้รับความรู้เรื่องการจัดตั้ง และมีศักยภาพที่จะตอบโต้ต่อความไม่พอใจทางชนชั้นได้


ขณะที่นายพอล แชมเบอร์ ผู้เชี่ยวชาญแห่งมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า กลุ่มเสื้อแดงได้ถูกกระตุ้นให้เลียนแบบแนวทางประท้วงของกลุ่มเสื้อเหลือง ซึ่งเคยก่อเหตุยึดสนามบินเมื่อปี 2551 และหากเรายังเห็นการใช้การชุมนุมเพื่อกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบรุนแรงเช่นนี้ต่อไปประชาชนคนไทยก็จะคุ้นเคยที่จะเห็นการประท้วง และม็อบต่อต้านรัฐบาลก็จะกลายเป็นเรื่องปกติ และประชาธิปไตยก็จะกลายเป็นเพียงความฝัน โดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นแค่สิ่งที่ไม่มีความหมายสำหรับกลุ่มที่ต่อต้าน


นายดันแคน แมคคาร์โก้ ศาสตราจารย์ด้านการเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งมหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ ได้เขียนบทความชื่อ "การประท้วงในไทย: การปราบปรามของทหารจะยิ่งเพิ่มความแตกแยก" ลงในเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ "เดอะ การ์เดี้ยน" ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่าการใช้กำลังทหารปราบปรามกลุ่มคนเสื้อแดงที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร จะไม่ทำให้ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนและต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จางหายไป


แมคคาร์โก้เห็นว่าความขัดแย้งดังกล่าวสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลืองกับกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นรูปแบบความขัดแย้งที่ข้ามผ่านประเด็นเรื่องชนชั้นทางสังคมและพื้นเพภูมิลำเนาของผู้คน ทว่ากลับฝังรากลงลึกไปในครอบครัวจำนวนมากทั่วประเทศ และความขัดแย้งเช่นนี้จะจบลงเมื่อเกิดการตกลงกันได้อย่างแท้จริงของทั้งสองฝ่าย ซึ่งอาจเกิดขึ้นในรูปข้อตกลงทางการเมือง การจัดสรรแบ่งปันอำนาจ การกระจายอำนาจในบางรูปแบบ และแน่นอนว่าการเลือกตั้งจะถือเป็นส่วนสำคัญอันจำเป็นต่อกระบวนการดังกล่าว


"รัฐบาลไทยจะต้องกระทำการใด ๆ ที่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ได้จริง และต้องรับฟังเสียงสะท้อนที่มีเหตุผล" ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยลีดส์ ระบุ


ขณะที่นายแอนดรูว์ วอล์คเกอร์ นักวิชาการประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ได้เขียนบทความชื่อ "ชาวนาไทยได้ลุกขึ้นหยัดยืนแล้ว" ในเว็บไซต์ "เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล" โดยมีเนื้อหาระบุว่า แม้อาวุธยุทโธปกรณ์อันทรงพลานุภาพของกองทัพจะทำให้รัฐบาลไทยชนะศึกในการขับไล่คนเสื้อแดงออกนอกกรุงเทพฯ ทว่ารัฐบาลกลับต้องพ่ายแพ้ในสงครามที่พยายามจะยื้อยุดให้ประวัติศาสตร์ไทยหมุนย้อนกลับไปสู่จุดเดิมอีกครั้งหนึ่ง


วอล์คเกอร์เสนอว่า เราจะเข้าใจความขัดแย้งในประเทศไทยยุคปัจจุบันได้ก็ต่อเมื่อเราทำความเข้าใจกับผู้คนในชนบท ซึ่ง ณ ตอนนี้ พวกเขาส่วนใหญ่มีสถานะเป็น "ชาวนาผู้มีรายได้ระดับปานกลาง" ที่ดำรงชีวิตด้วยการเพาะปลูกเพื่อยังชีพ, การขายสินค้าทางการเกษตร และการรับจ้างนอกภาคเกษตรกรรม ไม่ใช่ชาวชนบทผู้ยากจนข้นแค้นเช่นแต่ก่อน


อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจระหว่างเมืองกับชนบทที่ยังคงดำรงอยู่ และวัฒนธรรมการดูถูกดูแคลนคนชนบท เช่น เห็นเป็นพวกขายเสียง ได้นำไปสู่ปัญหาทางการเมืองของประเทศไทย และรัฐบาลไทยรักไทยก็ใช้นโยบายประชานิยมเข้ามาแก้ปัญหาตรงจุดนี้ โดยเปิดโอกาสให้ผู้คนในชนบทมีบทบาทในการกำหนดวิถีการทำมาหากินของตนเอง และให้ความเคารพต่อพวกเขา จนก่อให้เกิดหนทางใหม่ในการคิดถึงเรื่องอำนาจและการมีส่วนร่วมในสังคมการเมืองไทย

รูปแบบนโยบายของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขัดแย้งกับแนวทางเดิมของบรรดาชนชั้นนำไทย ที่จะแสดงความเมตตากรุณาต่อชาวนาชนบทผู้ยอมเคารพนบนอบ ผ่านระบบความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ และรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็รับแนวทางการทำงานของชนชั้นนำเหล่านั้นมา ซึ่งวอล์คเกอร์อธิบายว่า เป็นนโยบายที่ด้อยประสิทธิภาพในโลกชนบทไทยยุคใหม่ ซึ่งประกอบไปด้วย ระบบผลิตแบบฟาร์มประกันราคา (คอนแทร็คต์ ฟาร์มมิ่ง), การทำงานรับจ้างนอกภาคเกษตรกรรม และการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือ

0 ความคิดเห็น:

About This Blog

รายการบล็อกของฉัน

รายการบล็อก

Our Blogger Templates Web Design

  © Blogger templates The Professional Template by Ourblogtemplates.com 2008

Back to TOP