วันเสาร์, มีนาคม 17, 2555

ศาลสั่งจ่าย 2.4 แสนเหยื่อซ้อม-แถลงข่าวมิชอบ หมอ ตร.ให้การไร้หลักฐานชี้ "สุไลมาน" ถูกฆ่า

มีความคืบหน้าคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือสงสัยว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 2 คดี คือ คดีซ้อมทรมานเหยื่อที่ถูกจับกุมพร้อมกับอิหม่ามยะผา กาเซ็ง และคดีการเสียชีวิตในศูนย์ควบคุมตัวของ นายสุไลมาน แนซา เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2555 ศาลปกครองสงขลาได้อ่านคำพิพากษาคดี นายรายู ดอคอ ผู้ฟ้องคดี ฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดต่อกระทรวงกลาโหม กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีถูกเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ตั้งฐานอยู่ในวัดสวนธรรม อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส จับกุมและควบคุมตัวพร้อมกับ นายยะผา กาเซ็ง อดีตอิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกอตอ ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ และถูกซ้อมทรมานด้วยวิธีการอันโหดร้าย จนเป็นเหตุให้นายรายูได้รับบาดเจ็บต่อร่างกายและจิตใจ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19-21 มี.ค.2551 ต่อเนื่องกัน คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้ทำร้ายร่างกาย นายรายู ดอคอ จริงตามผลการตรวจของแพทย์โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และผลการตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของสภาเพื่อการฟื้นฟูผู้ถูกทรมานระหว่างประเทศ จึงพิพากษาให้หน่วยงานรัฐชดใช้ค่าเสียหายต่อความทุกขเวทนาทางจิตใจ สิทธิเสรีภาพในร่างกาย อนามัย และจิตใจ จากการที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม คุมขัง ทำร้ายร่างกาย ทรมาน ทารุณกรรม หรือลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายไร้มนุษยธรรม รวมทั้งการนำไปแถลงข่าวทั้งที่ไม่ยินยอม โดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ จำนวน 200,000 บาท ค่าขาดประโยชน์จากการทำมาหาได้ จำนวน 10,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย รวมเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนที่หน่วยงานรัฐต้องชดใช้ให้แก่ นายรายู ดอคอ ทั้งสิ้น 246,621.56 บาท วางมาตรฐานแถลงข่าวโดยมิชอบ จนท.รัฐผิด เป็นที่น่าสังเกตว่า คำพิพากษาของศาลปกครองได้สั่งให้หน่วยงานรัฐผู้ถูกฟ้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายกรณีถูกนำไปแถลงข่าวทั้งที่เจ้าตัวไม่ยินยอม โดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจด้วย ซึ่งถือเป็นการวางมาตรฐานของศาลปกครองในประเด็นนี้ การนำตัวผู้ต้องหาไปเปิดแถลงข่าวเกิดขึ้นอย่างดาษดื่นในประเทศไทย โดยเฉพาะคดีฆาตกรรม ข่มขืน และยาเสพติด โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมักนำตัวผู้ต้องหาไปแถลงข่าวอย่างเปิดเผย ซ้ำยังเปิดให้ผู้สื่อข่าวซักถามหรือสัมภาษณ์ด้วย ทั้งๆ ที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจให้กระทำได้ ที่ผ่านมามีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้มาตลอด แต่ก็ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ยกเว้นในยุคที่ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้มีคำสั่งห้ามตำรวจนำตัวผู้ต้องหาไปเปิดแถลงข่าว ทำได้เพียงพนักงานสอบสวนในคดีเองแถลงเกี่ยวกับความคืบหน้าของคดี แต่นโยบายนี้ก็ปรากฏผลเป็นรูปธรรมเพียงระยะหนึ่งเท่านั้น หลังจากนั้นก็มีการปฏิบัติเช่นเดิม เปิดเส้นทางคดีซ้อมอิหม่ามยะผาและพวก นายยะผา กาเซ็ง หรืออิหม่ามยะผา ถูกเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ จับกุมพร้อมพวก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นายรายู ดอคอ เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2551 และนำตัวไปเปิดแถลงข่าว จากนั้นอีก 2 วัน อิหม่ามยะผาถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิต ส่วนนายรายูกับพวกก็กล่าวหาเจ้าหน้าที่ทหารว่า ซ้อมทรมานพวกเขาเช่นกันขณะถูกคุมตัวอยู่ในฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดสวนธรรม หมู่ 2 ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ 25 ธ.ค.ปีเดียวกัน ศาลจังหวัดนราธิวาสได้มีคำสั่งในคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายยะผา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 สรุปว่านายยะผาเสียชีวิตที่ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2551 เนื่องจากผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกาย ทำให้กระดูกซี่โครงหัก ลมรั่วในช่องอกด้านขวา ระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ต่อมา นางนิม๊ะ กาเซ็ง ภรรยาของอิหม่ามยะผาและลูกๆ ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดต่อกระทรวงกลาโหม กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทั่งเมื่อวันที่ 20 ก.ค.2554 ทั้งสองฝ่ายได้ไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความกัน โดยกระทรวงกลาโหมและกองทัพบกยินยอมเยียวยาค่าเสียหายต่อเกียรติยศชื่อเสียงของนายยะผาผู้ตาย เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท ค่าปลงศพเป็นจำนวนเงิน 87,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 (ภรรยาและบุตร) เป็นจำนวนเงิน 4,624,000 บาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5,211,000 บาท ส่วนคดีอาญามี 2 ส่วน คือ คดีที่พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวนนั้น ขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างการไต่สวน ขณะเดียวกันยังมีคดีที่ นางนิม๊ะ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.วิชา ภู่ทอง ร.ต.สิริเขตต์ วาณิชบำรุง จ.ส.อ.เริงณรงค์ บัวงาม ส.อ.ณรงค์ฤทธิ์ หาญเวช ส.อ.บัณฑิต ถิ่นสุข และ พ.ต.อ.ทนงศักดิ์ วังสุภา (อดีตผู้กำกับการ สภ.รือเสาะ) เป็นจำเลยที่ 1-6 ในข้อหาร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด, กักขังหน่วงเหนี่ยว, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย ปรากฏว่าศาลให้ยกฟ้องจำเลยที่ 6 (พ.ต.อ.ทนงศักดิ์) ทุกข้อกล่าวหา ส่วนจำเลยอื่นมีคำสั่งไม่รับฟ้อง โดยให้ไปฟ้องจำเลยที่ 1-5 ต่อศาลทหารที่มีเขตอำนาจ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการซ้อมทรมาน ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) นับแต่ปี พ.ศ.2550 แต่ยังไม่มีการออกกฎหมายกำหนดให้การซ้อมทรมานเป็นความผิดอาญา อีกทั้งอนุสัญญาดังกล่าวกำหนดให้รัฐต้องมีมาตรการป้องกันการทรมานและเยียวยาผู้เสียหายจากการทรมานด้วย ในอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานฯ (CAT) บทที่ 1 ข้อย่อยที่ 1 นิยามการซ้อมทรมานเอาไว้ว่า "การทรมาน หมายถึง การกระทำใดก็ตามโดยเจตนาที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างสาหัส ไม่ว่าทางกายหรือทางจิตใจต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพื่อความมุ่งประสงค์ที่จะให้ได้มาซึ่งข้อสนเทศหรือคำสารภาพจากบุคคลนั้นหรือจากบุคคลที่สาม การลงโทษบุคคลนั้นสำหรับการกระทำซึ่งบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สามกระทำหรือสงสัยว่าได้กระทำ หรือเป็นการข่มขู่ให้กลัว หรือเป็นการบังคับขู่เข็ญบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สามหรือเพราะเหตุผลใดๆ บนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นในรูปใด..." ส่วนบทที่ 2 ข้อย่อยที่ 2 กำหนดว่า "ไม่มีพฤติการณ์พิเศษใด ไม่ว่าจะเป็นสงคราม หรือสภาพคุกคามที่จะเกิดสงคราม การขาดเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ หรือสภาวะฉุกเฉินสาธารณะอื่นใดที่ยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างที่มีเหตุผลสำหรับการทรมานได้" นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 32 บัญญัติว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม จะกระทำมิได้..." แพทย์ ตร.ชี้ไม่ปรากฏหลักฐาน "สุไลมาน" ถูกฆ่า ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2555 ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้นัดสืบพยานคดีไต่สวนการตาย นายสุไลมาน แนซา ซึ่งเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหาร โดยมีผู้พบศนายสุไลมานในสภาพมีผ้าผูกคอติดกับเหล็กดัดหน้าต่างห้องควบคุมตัว ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อเช้าตรู่วันที่ 30 พ.ค.2553 สำหรับพยานที่นำสืบคือ พ.ต.ท.พงศ์ศิริเดช สุตสาครเย็น (ชื่อเดิม พ.ต.ต.ปิยะพงษ์ สาครแป้น) เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลตำรวจ สังกัดกลุ่มงานตรวจพิสูจน์ สถาบันนิติเวชวิทยา โดยเป็นการส่งประเด็นมาจากศาลจังหวัดปัตตานี พ.ต.ท.พงศ์ศิริเดช ให้การต่อศาลในฐานะพยานว่า เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพนายสุไลมานในที่เกิดเหตุ ร่วมกับแพทย์ประจำโรงพยาบาลหนองจิก พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ปลัดอำเภอหนองจิก เจ้าหน้าที่วิทยาการจังหวัดปัตตานี เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ และพนักงานสอบสวน มีบิดาและญาติของนายสุไลมาน รวมทั้งสื่อมวลชนและนักสิทธิมนุษยชนด้วย พยานให้การต่อว่า จำไม่ได้ว่าผ้าที่ใช้ผูกคอนั้นผูกปมแบบเงื่อนตายหรือเงื่อนล็อค แต่ไม่พบร่องรอยบาดแผลจากการถูกทำร้ายร่างกายภายนอก ไม่พบร่องรอยการต่อสู้ พบรอยลักษณะคล้ายมดแทะบางแห่งแต่ไม่แน่ใจว่าอยู่บริเวณแถวๆ ขอบกางเกงในหรือไม่ บริเวณอันฑะเป็นคราบของสัตว์กัดแทะแต่ไม่ปรากฏว่ามีเลือดไหล แต่เป็นสะเก็ดเลือด สาเหตุการตายสันนิษฐานได้ว่าเกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยงสมองเนื่องจากการผูกคอ น้ำหนักตัวกดบริเวณเส้นเลือดใหญ่บริเวณลำคอซึ่งเป็นลักษณะการตายที่สบายเหมือนการนอนหลับ แต่ใบหน้าจะคล้ำกว่าปกติ ลักษณะตาของผู้ตายเป็นความแห้งของลูกตา ไม่ได้เกิดจากเส้นเลือดฝอยในลูกตาแตก ลิ้นจุกปากเกิดจากแรงดันจากผ้าขนหนูดันโคนลิ้นทำให้ลิ้นจุกออกมา ซึ่งขึ้นกับความหนาของวัสดุที่ใช้ผูกคอและตำแหน่งไปตรงกับโคนลิ้นหรือไม่ ริมฝีปากล่างด้านในไม่มีลักษณะของการกดกระแทก บริเวณลำคอซ้ายมีแผลถลอกเกิดจากการกดทับของผ้าขนหนูที่ใช้รัดคอ เนื่องจากผู้ตายได้ตายมาเป็นเวลานาน เนื้อเยื่อจึงน่าจะตายแล้ว ไม่มีเลือดไปเลี้ยงทำให้เกิดแผลถลอก ลำคอไม่หัก และการผูกคอลักษณะเช่นนี้คอจะไม่หักแน่นอน อย่างไรก็ดี ไม่ได้ตรวจละเอียดว่าสภาพฟันผู้ตายมีซี่ไหนหักหรือไม่ และไม่ได้ตรวจสอบเล็บมือเล็บเท้าของผู้ตาย การผูกคอตายไม่จำเป็นต้องมีการเกร็งมือหรือกำมือเสมอไป ขึ้นอยู่กับสภาพในขณะที่ผู้ตายจะถึงแก่ความตาย ขณะชันสูตร สภาพศพที่แข็งเริ่มใกล้อ่อนตัวไปสู่สภาวะเน่าเปื่อย ซึ่งโดยเฉลี่ยศพจะแข็งเต็มที่ใช้เวลาประมาณ 10-12 ชั่วโมง หากถูกฆ่าด้วยวิธีใช้ถุงพลาสติกครอบศีรษะขณะผู้ถูกฆ่ามีสติอยู่ จะต้องมีบาดแผลจากร่องรอยการต่อสู้เพื่อดิ้นรนหาอากาศหายใจ และจะไม่มีเลือดออกบริเวณนัยน์ตาของผู้ตาย เพราะไม่มีการกดที่บริเวณเส้นเลือดใหญ่บริเวณลำคอ พ.ต.ท.พงศ์ศิริเดช ให้การด้วยว่า ญาติของนายสุไลมานอยู่ด้วยและเห็นการชันสูตรทุกขั้นตอน พยานได้แจ้งให้ทราบว่าหากสงสัยสาเหตุการตาย พนักงานสอบสวนจะส่งศพไปผ่าพิสูจน์ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แต่ญาติและผู้ที่เกี่ยวข้องไม่สงสัยสาเหตุการตาย และไม่ยอมให้นำศพผู้ตายไปผ่าชันสูตร จึงได้มอบศพให้ญาติไปจัดการตามประเพณี ทั้งนี้ ภายหลังการไต่สวนพยานปากนี้แล้ว ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ส่งสำนวนคดีกลับไปยังศาลจังหวัดปัตตานี โดยกำหนดวันนัดพร้อมที่ศาลจังหวัดปัตตานีในวันที่ 19 มี.ค.2555 เวลา 13.30 น. เพื่อให้ศาลจังหวัดปัตตานีจะได้กำหนดวันนัดไต่สวนพยานที่เหลือต่อไป ย้อนรอยคดี "สุไลมาน แนซา" อนึ่ง นายสุไลมาน อยู่บ้านเลขที่ 35 หมู่ 2 บ้านฮูแตมาแจ ต.กะดุนง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ทหารเพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2553 ระหว่างถูกควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายสุไลมานไปตรวจค้นพื้นที่ใน อ.สายบุรี เพื่อค้นหาอาวุธปืนตามที่อ้างว่าเจ้าตัวให้การ อย่างไรก็ดี นายสุไลมานได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 30 พ.ค. เบื้องต้นเจ้าหน้าที่แจ้งว่าพบศพนายสุไลมานผูกคอตายอยู่ในห้องพัก ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร เมื่อเวลา 07.10 น.วันเดียวกัน และได้แจ้งให้ นายเจ๊ะแว นาแซ บิดาของนายสุไลมาน มารับศพลูกชาย แต่ภายหลังนายเจ๊ะแวไม่เชื่อว่าลูกชายผูกคอตายเอง จึงได้ยื่นคำร้องขอเข้าซักถามพยานในคดีไต่สวนการตาย และยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อเรียกค่าเสียหายทางละเมิดจากกรณีที่ลูกชายเสียชีวิต เปิดขั้นตอนคดีไต่สวนการตาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 150 กำหนดให้ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์ เมื่อได้มีการชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้พนักงานอัยการเข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ เมื่อได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานอัยการทำคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับสำนวน ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ -------------------------------------------------------------------------------- บรรยายภาพ : (ซ้าย) สุไลมาน แนซา (ขวา) อิหม่ามยะผา กาเซ็ง

0 ความคิดเห็น:

About This Blog

รายการบล็อกของฉัน

รายการบล็อก

Our Blogger Templates Web Design

  © Blogger templates The Professional Template by Ourblogtemplates.com 2008

Back to TOP