วันพฤหัสบดี, มีนาคม 29, 2555

ถึงเวลาต้องยกเครื่อง ศปก.สกัด “คาร์บอมบ์” รับมือก่อการร้ายเมษาฯเลือด/ไชยยงค์ มณีพิลึก

คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก สถานการณ์การก่อการร้ายใน 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งมีเหตุร้ายรุนแรงมากขึ้น และมีแนวโน้มว่าในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ โดยมีปัจจัยที่นำสู่ความรุนแรงของการก่อการร้าย คือข่าวจาก หน่วยข่าวความมั่นคงที่ได้รับจาก “สายข่าว” ในพื้นที่ว่า แกนนำของกลุ่มนักรบฟาตอนี หรือ “อาร์เคเค” ได้สั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อบต. ในเขตที่แกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนมีอิทธิพล จัดหาเครื่องแบบ เครื่องหมายของตำรวจ ทหาร อบต.ละ 20 ชุด เพื่อส่งมอบให้กับ “อาร์เคเค” ภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ และยังมีการสั่งการของ “แกนนำ” ถึงบรรดาเจ้าของเต็นท์รถมือสองใน 4 จังหวัด คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส ซึ่งเป็นเครือข่ายค้ายาเสพติดที่เป็นสนับสนุนทางการเมืองให้กับขบวนการแบ่งแยกดินแดน จัดเตรียมรถยนต์ด้วยการอำพราง ดัดแปลง ให้คล้ายกับรถยนต์ของ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ที่ใช้อยู่ในพื้นที่ให้อยู่ในลักษณะความพร้อมในการใช้งาน ข่าวทางลับทั้ง 2 เรื่อง จึงเชื่อได้ว่า ในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ กลุ่มนักรบฟาตอนี หรือ อาร์เคเค มีแผนในการก่อความไม่สงบในพื้นที่ 4 จังหวัดด้วยวิธีการที่เคยใช้และใช้ได้ผล เช่นการแต่งเครื่องแบบตำรวจ ใช้รถติดตราโล่และพ่นคำว่า สภ.ในพื้นที่ เข้าโจมตีปล้นปืนที่คุ้มครองหมู่บ้านบ้านกาลอ อ.รามัน จ.ยะลา ฆ่าเจ้าหน้าที่และยึดอาวุธปืนไปได้จำนวน 7 กระบอก หรือการแต่งกายคล้ายทหารพรานเข้าไปยังฐานปฏิบัติการของทหารชุมคุ้มครองครู ก่อนฆ่าทิ้งทั้ง 5 คน และยึดปืนไปได้ 5 กระบอก และอีกหลายๆ คดี ที่คนร้ายแต่งกายเรียงแบบเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เข้าไป ปฏิบัติการฆ่าและปล้นอาวุธปืน รวมทั้งใช้รถยนต์ที่ดัดแปลงให้เหมือนรถยนต์ของหน่วยราชการเป็น “คาร์บอมบ์” เช่น ทำสีรถ และติดสติ๊กเกอร์ของสาธารณสุข จ.ปัตตานี ประกอบเป็น “คาร์บอมบ์” สร้างความเจ็บและตาย ให้กับประชาชนกลางเมืองปัตตานี และอีกหลายต่อหลายเหตุการณ์ ที่ใช้วิธีการเดียวกัน จึงกลายเป็นประเด็นคำถามถึง ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศชต ) และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจส่วนหน้า ( ศปก. ) ซึ่งมีการจัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ โดยมีหน้าที่ปราบปราม ติดตามจับกุมการโจรกรรมรถยนต์ในพื้นที่รับผิดชอบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า นับตั้งแต่มีการจัดตั้งศูนย์โจรกรรมรถยนต์มาเป็นเวลาหลายปี ศูนย์นี้ได้ทำหน้าที่ในการติดตามจับกุมรถยนต์ที่ “แนวร่วม” นำมาใช้ปฏิบัติการ ทั้งเป็นยานพาหนะในการโจมตีเจ้าหน้าที่ เข่นฆ่าประชาชน และนำไปประกอบเป็น “คาร์บอมส์” ได้ผลมากน้อย เพียงใด เพราะที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เคยตรวจค้น จับกุม หรือยึดรถยนต์ที่คนร้ายใช้ในการก่อเหตุร้าย และใช้ในการประกอบ “คาร์บอมบ์” ได้แม้แต่ครั้งเดียว ทั้งที่โดยข้อเท็จจริง รถยนต์ที่คนร้ายใช้ในการก่อเหตุทั้งหมด วนเวียนอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จุดปฏิบัติการแต่ละครั้งของคนร้ายส่วนใหญ่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ คือทางหลวงแผ่นดิน ไม่ใช้ทางหลวงชนบท และหลังก่อเหตุ เจ้าหน้าที่ไม่เคยสกัดจับได้ หรือติดตามตรวจพบและยึดได้แม้แต่คันเดียว สิ่งที่ได้ประโยชน์จากศูนย์ฯดังกล่าว คือหลังเกิด “คาร์บอมบ์” จะได้ข้อมูลว่าเป็นรถของใคร และถูกโจรกรรมไปเมื่อวันที่เท่าไหร่ แจ้งความไว้ที่ไหน ประโยชน์ของศูนย์ฯ ที่เห็นจึงมีเพียงเป็นได้แค่ “ศูนย์ข้อมูล” เท่านั้น หาใช่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมอย่างการตั้งชื่อ ดังนั้น การที่จะแก้ปัญหาปฏิบัติการ “คาร์บอมบ์” ก็ดี การแก้ปัญหาคนร้ายปฏิบัติการฆ่าคน ฆ่าเจ้าหน้าที่ ปล้นชิงอาวุธ รถยนต์ในพื้นที่ก็ดี จะสำเร็จได้นั้นต้องตรวจค้น ตรวจยึด จับกุมรถยนต์ ผู้ครอบครองรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมมา และถูกนำมาดัดแปลง ซึ่งรถเหล่านี้ส่วนหนึ่ง ซ่อนหรือจอดไว้ในเต็นท์รถในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และซ่อนอยู่ในหมู่บ้านต่างๆ ที่เป็นเขตอิทธิพลของขบวนการ ซึ่งเป็นหน้าที่ของศูนย์ป้องกันและโจรกรรมรถยนต์ ของ ศชต. ที่จะต้องหาวิธีการ สืบสวนสอบสวน เพื่อเข้าถึง “ข่าว” เข้าถึงสถานที่ซุกซ่อนรถยนต์เหล่านี้ให้ได้ ไม่ว่าด้วยวิธีใด ศปก. และ ศชต. เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้น เพื่อรับผิดชอบในพื้นที่ ซึ่งมีเหตุรุนแรง และเป็นพื้นที่พิเศษ ที่มีการก่อการร้าย มีความพยายามแบ่งแยกดินแดนเพื่อให้เป็น “รัฐเดียว” ดังนั้นหน่วยงานทุกหน่วย ต้องมีความเป็นลักษณะที่ “พิเศษ” กว่าหน่วยงานเดียวกันที่อยู่ในพื้นที่อื่นๆ เช่น บชภ.8 และ 9. เพราะหากตั้งขึ้นมาแล้ว มีลักษณะเดียวกับศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์เหมือนที่อื่นๆ ก็จะได้สามารถอวยประโยชน์ เพื่อการแก้ปัญหา การก่อการร้ายแต่อย่างใด ล่าสุด พล.อ.อ.กำพล สุวรรณทัต รมว. กลาโหม ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงการแก้ปัญหาการก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ต้องควบคุมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ โทรศัพท์ และการเคลื่อนไหวของบุคคล ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่ถูกต้อง แต่เรื่องอย่างนี้ กอ.รมน. ทำไม่ได้ ทำไม่สำเร็จต้องเป็นงานของตำรวจ เป็นงานของ ศปก. หรือ ศชต. เพราะตำรวจเท่านั้นที่ถนัดงานด้านสืบสวนสอบสวน ติดตาม แกะรอย และจับกุม และที่สำคัญที่สุด ตำรวจคือเจ้าพนักงานผู้รักษากฎหมายที่ใช้กฎหมาย ป. วิอาญา อย่างเข้าใจ
ดังนั้น การแก้ปัญหา “คาร์บอมบ์” และการแก้ปัญหาปฏิบัติการรายวัน บนท้องถนน ทั้งการโจมตีจุดตรวจ การโจมตีฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่จะลดน้อยลงได้หรือไม่ จึงอยู่ที่ขีดความสามารถของ ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ เป็นด้านหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ ศชต. ต้องเร่งในการดำเนินการ แก้ไขข้อบกพร่อง ความไร้ประสิทธิภาพของหน่วยงานให้สามารถสนองตอบต่อการแก้ปัญหาการก่อการร้ายให้ได้ผล เพราะหากปล่อยให้ เหล่านักรบฟาตอนี หรือ “อาร์เคเค” มีเสรีในการเคลื่อนไหว โดยการใช้ยานพาหนะที่โจรกรรมมา ก่อเหตุร้ายตามอำเภอใจ สถานการณ์ความรุนแรงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังจะรุนแรงยิ่งขึ้นและจะไม่มีพื้นที่ปลอดภัยเหลืออยู่ ซึ่งจะส่งผลต่อการย้ายถิ่นของประชาชน ส่งผลให้ประชาชนที่เหลืออยู่กลายเป็น “แนวร่วม” จำยอมของขบวนการ ซึ่งจะนำไปสู่การพ่ายแพ้ทาง “การเมือง” ในที่สุด และนั่นคือความต้องการที่ “บีอาร์เอ็นฯ” ต้องการให้เป็น
และปัญหาเฉพาะหน้าในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนที่ “แกนนำ” ใช้เป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวก่อความรุนแรง จากเหตุการณ์ล้อมปราบที่ มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี จนมีคนตายจำนวน 28 คน ซึ่งจากข่าวการจัดหาเครื่องแบบตำรวจและการจัดเตรียมรถยนต์ให้มีความพร้อม แสดงชัดเจนว่าต้องมีเหตุร้ายครั้งใหญ่อย่างแน่นอน ในเมื่อ “แนวร่วม” มีการเตรียมการ และเตรียมพร้อมถึงขนาดนี้ ฝ่ายเรา ทั้ง กอ.รมน. และ ศชต. มีความพร้อมทั้งในการ “รุก” และตั้งรับกันพร้อมเพรียงแค่ไหน อย่าคิดเพียงว่า การที่ “แนวร่วม” ฆ่าผู้บริสุทธิ์มากขึ้น เราจะชนะทาง “ยุทธศาสตร์” เพราะประชาชนจะเคียดแค้น เกลียดชัง ไม่สนับสนุนแก่ขบวนการ เราจึงย่อมเพลี่ยงพล้ำทาง “ยุทธวิธี” เพื่อเอาชนะทางยุทธศาสตร์ เพราะถ้าคิดกันได้แค่นี้จะเข้าตำรา “ถั่วสุก งาไหม้” หายนะ จะอยู่คู่กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปอีกยาวนาน

0 ความคิดเห็น:

About This Blog

รายการบล็อกของฉัน

รายการบล็อก

Our Blogger Templates Web Design

  © Blogger templates The Professional Template by Ourblogtemplates.com 2008

Back to TOP