เขาคือ ส.ส. มลายูคนแรกของจังหวัด ‘นราธิวาส’
นายอดุลย์ ณ สายบุรี หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ตนกูอับดุลยาลาล์ นาเซร์ เป็นผู้สืบเชื้อสายจากเจ้าเมืองสายบุรีซึ่งเป็นเจ้าเมือง 1 ใน 7 เจ้าเมืองที่ทางราชการไทย ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ เรียกว่า ‘เจ้าพญาแขก 7 หัวเมืองปักษ์ใต้’ ประกอบด้วย เมืองปัตตานี เมืองสายบุรี เมืองยะหริ่ง เมืองหนองจิก เมืองยาลอ เมืองรามัน และเมืองระแงะ
การปฏิรูปการปกครองครั้งสําคัญ สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยุบเมืองและฐานะเจ้าเมืองต่างๆตามหัวเมืองฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ และหัวเมืองอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้เจ้าเมืองบางคนไม่พอใจและไม่ยอมรับอำนาจจากส่วนกลางที่ส่งข้าหลวงไปปกครอง ได้แก่ พระยาวิชิตภักดี หรือ ตนกูอับดุลกาเดร์ บินกอมารุดดิน ซึ่งเป็นเจ้าเมืองปัตตานีคนสุดท้าย เมืองปัตตานีเป็นเมืองสําคัญในคาบสมุทรมาลายู มีประวัติศาสตร์ความเป็นรัฐชาติ ที่มีความเจริญ รุ่งเรืองและมีอารยธรรมที่มีความโดดเด่นมาอย่างยาวนานในอดีต การแสดงการขัดขืน พระราชอำนาจ จนในที่สุดถูกสำเร็จโทษเอาไปกุมขังที่เมืองพิษณุโลกเป็นเวลา 4 ปี เมื่อได้รับการปล่อยตัวแล้ว
ได้ออกจากราชอาณาจักรไทยไปลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย
วันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยเดิมเป็นของ พระมหากษัตริย์ได้เปลี่ยนไปเป็นของปวงชนชาวไทย มีรัฐบาลทำหน้าที่บริหารราชการ แผ่นดินและมีรัฐสภาเป็นที่ตรากฎหมาย รัฐสภาชุดแรกแต่งตั้งโดยอำนาจของคณะราษฎร เมื่อ วันที่ 28 มิถุนายน 2475จำนวน 70 คน เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว และต่อมาได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทางอ้อมจำนวน 78คน โดยวิธีรวมเขตจังหวัด ให้ราษฎรเลือกผู้แทนตำบลก่อน แล้วให้ผู้แทนตำบลเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 15พฤศจิกายน 2476 เป็นสมาชิกรัฐสภาชุดที่ 2
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2480 มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยตรงจากราษฎร
นายอดุลย์ ณ สายบุรี ซึ่งเป็นปัญญาชนมลายูคนแรก ที่ผ่านการเรียนหนังสือ จากโรงเรียน วชิราวุธ ที่กรุงเทพได้ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก และเป็นคนแรกของชาวมลายูในจังหวัดนราธิวาส ต่อมา
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2481 นายอดุลย์ ณ สายบุรี ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาสเป็นครั้งที่สองและดำรงตำแหน่งอยู่ยาวจนถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2488 นับเวลาได้ 7 ปี เนื่องจากระหว่างนั้นได้เกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา(สงครามโลกครั้งที่ 2) รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้นำประเทศไทยเข้าสู่สงครามร่วมกับญี่ปุ่นและเยอรมัน จึงได้ออกพระราชบัญญัติขยายเวลาสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ออกไปจนกว่า สงครามจะยุติลง
ย่อมเป็นธรรมดาที่ราษฎรทุกหย่อมหญ้าต้องประสบกับความเดือดร้อนและทุกข์ยากลำบากในระหว่างศึกสงคราม สำหรับราษฎร ในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วมีทุกข์ยิ่งกว่า เพราะนอกจาก ต้องทนทุกข์ยากลำบาก จากภาวะสงครามแล้ว ยังประสบทุกข์กับนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ประกาศนโยบายชาตินิยมไทย ปลุกจิตสำนึกความเป็นไทย ไม่ยอมรับวัฒนธรรมของราษฎรที่มีความแตกต่าง ทางด้านศาสนา และชาติพันธุ์ โดยเฉพาะราษฎรชาวมลายู ได้รับผลกระทบอย่างมาก จากการที่รัฐบาลห้ามไม่ให้ราษฎรกินหมากกินพลู และบังคับให้แต่งกาย ในลักษณะที่เป็นสากล ห้ามมิให้แต่งกายแบบประเพณีนิยมของราษฎรที่จะออกไปนอกบ้าน
มีอยู่เหตุการณ์หนึ่ง ตนกูปัตตารอ นาเซร์ ซึ่งเป็นพี่ชายของนายอดุลย์ ณ สายบุรี ได้ออกจากบ้านไปตลาดสายบุรี โดยแต่งกายแบบชาวมลายู คือนุ่งโสร่ง และใส่เสื้อมลายู และสวมหมวกกะปิเยาะ ถูกตำรวจจับกุมไปคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจภูธร อำเภอสายบุรีหลายชั่วโมง สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจแก่ราษฎรที่รู้เห็นเป็นอย่างมาก จนในที่สุด ในปี 2487 สมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายอดุลย์ ณ สายบุรี ได้อภิปรายในสภาว่ารัฐบาลจอมพล ป. ข่มเหงรังแกพี่น้องมุสลิม ทำให้ไม่อยากเป็นคนไทย เพราะรู้สึกเป็นการเสื่อมเสียเกียรติและศักดิ์ศรีเป็นอย่างมาก
จากบทบาทที่ปกป้องสิทธิประโยชน์ของราษฎรนี้เอง ทำให้ข้าราชการในพื้นที่ หมายหัว และเพ่งเล็งว่าเป็นผู้ยุยงส่งเสริม ให้ราษฎรกระด้างกระเดื่อง ต่อทางราชการ และได้ติดตามพฤติกรรม ของนายอดุลย์ฯรายงานต่อหน่วยเหนือโดยใช้ข้อมูลที่ไม่ ถูกต้อง ทำให้นายอดุลย์ฯ ต้องอยู่อย่างระมัดระวังตัว อยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่เขายังอยู่ในตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังสงครามมหาเอเซียบูรพายุติลง ในปี 2488 นายอดุลย์ฯ จึงได้หลบหนี ออกจากประเทศไทย ไปอยู่ที่อำเภอปาเสปูเตะ รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย และต่อมาได้รับการชักชวนจากกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนให้เป็นประธานขบวนการปลดแอกแห่งชาติปัตตานี (BNPP=Barisan National Pembebasan Patani) ใช้ชีวิตอยู่จนถึงปี 2521 นายอดุลย์ ได้เสียชีวิตลง ในดินแดนที่ไม่ใช่มาตุภูมิของตน ส่วนขบวนการ BNPP ก็ได้สลายตัวไปโดยปริยาย
ในปี 2519 ผู้สื่อข่าวหนังสืออาทิตย์รายสัปดาห์ ได้ไปสัมภาษณ์ นายอดุลย์ ณ สายบุรี ที่บ้านปาเสปูเตะ รัฐกลันตัน ผู้สื่อข่าวได้ถามท่านว่า มีแผนการจะกลับสู่มาตุภูมิอีกหรือไม่ นายอดุลย์ฯ ตอบว่า
“หากเมืองไทยมีนายกรัฐมนตรีเหมือนหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) เขาพร้อมที่จะกลับไปตายบนผืนแผ่นดินเกิด”
1 ความคิดเห็น:
sejarah ini anak melayu ada jatatan
แสดงความคิดเห็น