วันพุธ, มีนาคม 14, 2555

ฮิซบุลลอฮ์’ คือใคร ?

ที่ผ่านมาชื่อ ‘ฮิซบุลเลาะฮ์’ ได้รับการพูดถึงบ่อยๆ ในบ้านเราจากกรณีที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เตือนชาวอเมริกันที่เดินทางและที่พำนักอยู่ในประเทศไทยให้ระวังการก่อการร้าย โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยว ตามมาด้วยการที่ทางการไทยควบคุมตัวชาวต่างชาติ ซึ่งต้องสงสัยว่าเกี่ยวพันกับกลุ่มฮิซบุลเลาะฮ์ และการตรวจค้นอาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร แล้วพบสารเคมีที่ต้องสงสัยว่าอาจถูกใช้เพื่อการประกอบเป็นระเบิดร้ายแรง เรื่องนี้มีทั้งการระบุออกมาจากทางการไทย มีทั้งการตั้งข้อสังเกตจากฝ่ายต่างๆ ในไทย ในหลายๆ แง่มุม แต่จะอย่างไรก็ตาม คำว่า ‘ฮิซบุลเลาะฮ์’ ก็ดังขึ้นในไทยแล้ว ฉะนั้น การรู้ ปูมหลังของ ‘ฮิซบุลเลาะฮ์’ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์เชื่อมโยงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คำว่า ‘ฮิซบุลเลาะฮ์’ (Hizbullah) ประกอบขึ้นจากคำนามภาษาอาหรับ 2 คำที่ถูกนำมาเชื่อมต่อกัน คือคำว่า ‘ฮิซบฺ’ กับ ‘อัลเลาะฮ์’ ทั้ง 2 คำรวมกันแปลว่า ‘พรรคของพระเจ้า’ (The Party of God) ชื่อนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากโองการหนึ่งของอัล-กุรอานที่ว่า “และผู้ใดให้อัลลอฮ์และร่อซูลของพระองค์ และบรรดาผู้ศรัทธา เป็นมิตรแล้วไซร้ แท้จริงพรรคของอัลลอฮ์นั้น คือ พวกที่ชนะ” (อัลมาอิดะฮ์ : 56) ฮิซบุลเลาะฮ์เป็นองค์กรของชาวมุสลิมชีอะฮ์ในเลบานอนภาคใต้ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะที่เป็นองค์กรช่วยเหลือสังคม กิจกรรมของกลุ่มมีทั้งการทำสื่อ การ ช่วยเหลือด้านการศึกษา การบริการสาธารณสุข การวิจัย ฯลฯ ซึ่งบทบาทด้านการช่วยเหลือสังคมดังกล่าว ถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญมากที่สุดขององค์กรนับตั้งแต่สงครามกลางเมืองในเลบานอนยุติลงเมื่อหลายปีก่อน นอกจากนั้น กลุ่มฮิซบุลเลาะฮ์ยังเข้าไปเล่นการเมืองในระดับชาติ แม้กระนั้นก็ตาม คนส่วนใหญ่ทั่วโลกกลับรู้จักฮิซบุลเลาะฮ์ในฐานะที่เป็นกลุ่มขบวนการ ติดอาวุธที่ใช้ความรุนแรงเพียงด้านเดียวมากกว่า บางคนถึงกับประณามฮิซบุลเลาะฮ์ว่าเป็น กลุ่มก่อการร้ายด้วยซ้ำไป เพราะเป็นกลุ่มที่เคยสร้างความเสียหายให้แก่สหรัฐฯ และอิสราเอลมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง แม้จะก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1982 แต่จุดกำเนิดของฮิซบุลเลาะฮ์ก็เริ่มต้นขึ้นก่อนหน้านั้น เริ่มจากการที่นักการศาสนา ชาวอิหร่านคนหนึ่งที่ชื่อ มูซา ศอดร์ (Musa Sadr) ซึ่งย้ายมาอยู่ที่เลบานอนทางภาคใต้ในช่วงทศวรรษที่ 1960 ได้ก่อตั้งขบวนการหนึ่งขึ้นมาเรียกว่า ‘ขบวนการของคนด้อยโอกาส’ (Movement of the Deprived) ที่เรียกร้องสิทธิและการปกป้องคนยากคนจนในพื้นที่ภาคใต้ของเลบานอน โดยมีกองกำลัง ‘อะมัล’ (Armal) เป็นปีกทางการทหารที่คอยสู้รบกับศัตรูในสงคราม กลางเมืองที่เกิดขึ้น มูซา ศอดร์ หายตัวไปอย่างลึกลับระหว่างที่ไปเยือนลิเบียในปี ค.ศ.1978 แม้กระนั้นชื่อของเขาก็มักถูกอ้างถึงอยู่บ่อยๆ ในคำแถลงการณ์ของ ซัยยิด ฮัซซัน นัศรุลเลาะฮ์ ซึ่งเป็นผู้นำคนปัจจุบันของกลุ่มฮิซบุลเลาะฮ์ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า อุดมการณ์ของ ‘ขบวนการของคนด้อยโอกาส’ ไม่ได้หายไปพร้อมๆ กับตัวผู้นำของขบวนการแต่อย่างใด กลุ่มฮิซบุลเลาะฮ์ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ในช่วงที่อิสราเอลเข้ามารุกรานเลบานอนในปี 1982 เป้าหมายหลักของกลุ่มจึงอยู่ที่การต่อต้านการยึดครองเลบานอนของอิสราเอล พร้อมกันนั้น ก็พยายามสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ชุมชนชาวชีอะฮ์ทางภาคใต้ของประเทศ พลังอำนาจของกลุ่มฮิซบุลเลาะฮ์ เพิ่มขึ้นอย่างมากท่ามกลางสงครามกลางเมืองที่ดุเดือดที่สุดตลอดช่วงทศวรรษที่ 1980 จนในที่สุดกองกำลังของฮิซบุลเลาะฮ์ก็เข้มแข็งขึ้นจนสามารถเข้ามาแทนที่กองกำลังอะมัลในพื้นที่รอบๆ กรุงเบรุตได้ การต่อต้านกองกำลังอิสราเอลของกลุ่มฮิซบุลเลาะฮ์ค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นขึ้นตามวันเวลา จากการทำสงครามตามรูปแบบก็เปลี่ยน มาเป็นใช้การสู้รบแบบกองโจร จนอิสราเอลไม่สามารถอดทนต่อความสูญเสียของฝ่ายตนได้ จึงตัดสินใจถอนทัพออกไปจากเลบานอน ในปี 2000 นอกจาการต่อต้านอิสราเอลแล้ว ฮิซบุลเลาะฮ์ยังเข้าไปเล่นการเมือง โดยสามารถครองที่นั่งในรัฐสภาได้ถึง 23 ที่นั่ง จากทั้งหมด 128 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งปี 2005 รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและน้ำคนปัจจุบันก็เป็นสมาชิกของกลุ่มฮิซบุลเลาะฮ์ ความจริงกลุ่มฮิซบุลเลาะฮ์ ได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองนับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกหลังสงครามกลางเมืองในปี 1992 แล้ว อย่างไรก็ตาม เป้าประสงค์ที่แท้จริงของการก่อตั้งกลุ่มฮิซบุลเลาะฮ์คือ การปลดปล่อยเลบานอนจากการยึดครองของอิสราเอล ฮิซบุลเลาะฮ์ถือว่าอิสราเอลเป็นรัฐที่ถือกำเนิดขึ้นอย่างผิดกฎหมาย เพราะได้มาจากการแย่งชิงดินแดนของชนชาติอื่น แม้ว่าอิสราเอลจะถอนกำลังออกไปจากเลบานอนแล้ว แต่ฮิซบุลเลาะฮ์ก็ยังมีอีก 2 ภารกิจที่จะต้องสะสาง คือปัญหาความขัดแย้งเหนือดินแดนชีห์บาอฺ ฟาร์ม (shebaa Farms) ที่ยังอยู่ภายใต้การยึดครองของอิสราเอล และการช่วยเหลือนักโทษชาวอาหรับที่ถูกอิสราเอลจับกุมไว้ ในประเด็นแรก ชีห์บาอฺ ฟาร์ม ตามทรรศนะของรัฐบาลเลบานอน ถือเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน อิสราเอลกลับอ้างว่าดินแดนนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีเรียที่ถูกอิสราเอลยึดครองอยู่ ทั้งนี้ ชีห์บาอฺ ฟาร์ม ถือเป็นดินแดนที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ เพราะเป็นดินแดนที่อยู่สูงกว่าที่ราบสูงโกลาน (Golan Heights) ของซีเรีย ซึ่งเป็นดินแดนที่อิสราเอล ยึดครองมาตั้งแต่หลังสงคราม 6 วันในปี 1967 ประเด็นต่อมาคือเรื่องการช่วยเหลือนักโทษชาวอาหรับ ซึ่งมีจำนวนกว่า 10,000 คน ทั้งที่เป็นชาวปาเลสไตน์และชาวอาหรับรวมกัน ในจำนวนนี้มีนักโทษอยู่ประมาณ 2,000 คนที่เป็นชาวเลบานอน การแลกเปลี่ยนตัวประกันเกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อเยอรมันรับอาสาเป็นคนกลางในปี 2004 ในครั้งนั้น ปรากฏว่า อิสราเอลยอมปล่อยตัวประกันชาวอาหรับ 430 คน เพื่อแลกกับนายทหารอิสราเอล 3 นาย และนักธุรกิจอิสราเอลอีก 1 คน แต่ความจริงก็มี อยู่ว่า ตัวประกันชาวอาหรับที่ยังถูกอิสราเอลจับกุมโดยไม่มีการไต่สวนพิจารณาความผิดยังมีอยู่อีกเป็นจำนวนนับหลายพันคน ด้วยเหตุนี้ ฮัซซัน นัศรุลเลาะฮ์ จึงเตือนอิสราเอลมาตลอดว่าจะจับตัวประกันชาวอิสราเอลเพื่อแลกเปลี่ยนกับอิสรภาพของชาวอาหรับต่อไป ฮิซบุลเลาะฮ์ไม่ใช่พรรคการเมืองตามความหมายของตะวันตก เพราะไม่ได้มีโครงสร้างพรรคอย่างเป็นทางการและไม่มีรายชื่อสมาชิกตายตัว แม้ว่าจะมีเป้าหมายเดียวกันกับพรรค การเมืองทั่วไปก็ตาม การให้ความสำคัญต่อบทบาทนักการศาสนา (อุลามาอฺ) ในสังคมนับเป็นลักษณะพื้นฐานของอุดมการณ์ของกลุ่ม ผู้นำของฮิซบุลเลาะฮ์เชื่อว่า มีเพียงนักการศาสนาเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งสำนึกแห่งความเป็นอิสลาม หรือที่เรียกโดยกลุ่มฮิซบุลเลาะฮ์เองว่า ‘สำนึกแห่งการสร้างเอกภาพ’ (the consciousness of unification) ความเชื่อนี้อธิบายถึงพลังอำนาจผูกขาดที่นักการศาสนามีอยู่ในพรรค เชค อิบรอฮีม อัล-อมีน (Shaykh Ibrahim al-Amin) เห็นว่าอำนาจของนักการศาสนานั้นไม่มีขอบเขตจำกัด สำหรับอุดมการณ์ของฮิซบุลเลาะฮ์แล้ว ความอยุติธรรมมีต้นเหตุปัญหามาจากมนุษย์ อันเป็นผลมาจากการที่คนบางกลุ่มกระทำต่อผู้อื่น พวกเขาเชื่อว่า ความยุติธรรมและความเท่าเทียมจะเกิดขึ้นได้ผ่านการพยายามของมนุษย์ โดยใช้กระบวนการการปฏิวัติ หากจะพูดถึงกระแสความนิยมของคนเลบานอนที่มีต่อกลุ่มฮิซบุลเลาะฮ์ คงต้องกล่าวว่าเนื่องจากฮิซบุลเลาะฮ์เป็นกลุ่มมุสลิมชีอะฮ์ ทำให้กลุ่มได้รับความนิยมชมชอบจากชาวมุสลิมชีอะฮ์ภายในประเทศที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทางตอนใต้ของกรุงเบรุต และทางภาคใต้ของเลบานอน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว กลุ่มฮิซบุลเลาะฮ์มีกิจกรรมการให้บริการแก่พลเรือนอย่างกว้างขวาง ทั้งในเรื่องการวิจัย การบริการด้านสาธารณสุข การศึกษา สวัสดิการสังคม และการสื่อสาร กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมที่เสริมส่งให้กลุ่มฮิซบุลเลาะฮ์ได้รับความนิยมชมชอบ ได้รับการยอมรับและการสนับสนุนจากสังคมเลบานอนมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ความสำเร็จของฮิซบุลเลาะฮ์ที่สามารถขับไล่อิสราเอลออกไปจากประเทศในปี 2000 ก็ยิ่งเพิ่มกระแสความนิยมให้แก่ฮิซบุลเลาะฮ์เป็นอย่างมาก และจากการที่ซีเรียต้องถอดถอนกองกำลังออกไปจากเลบานอนตามมติของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อปลายปี 2006 ทำให้กองกำลังของกลุ่มอิซบุลลอฮ์เป็นกองกำลังที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนี้ชาวเลบานอนจำนวนมากจึงเชื่อว่า ผู้ที่จะปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศได้ ก็มีแต่กองกำลังของกลุ่มฮิซบุลเลาะฮ์เท่านั้น ในสายตาของโลกมุสลิมภายนอก ฮิซบุลเลาะฮ์ถือเป็นองค์กรหนึ่งในไม่กี่องค์กรที่สามารถท้าทายพลังอำนาจของอิสราเอล (ที่ได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐฯ) และเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จทั้งทางด้านสังคม การเมือง และการทหาร ฉะนั้น ยิ่งชาวเลบานอนถูกอิสราเอลทำร้ายมากเท่าใด ก็จะยิ่งเพิ่มกระแสความนิยมให้แก่กลุ่มฮิซบุลเลาะฮ์มากขึ้นเท่านั้น แต่สำหรับสหรัฐฯ อิสราเอล อังกฤษ แคนาดา และออสเตรเลียแล้ว ฮิซบุลเลาะฮ์ คือกลุ่ม ‘ก่อการร้าย’ ที่ไม่แตกต่างอะไรมากนักกับอัล-กออิดะฮ์ของอุซามะฮ์ บิน ลาดิน แม้ว่ารัฐบาลเลบานอนและอีกหลายๆ ประเทศ จะให้การยอมรับฮิซบุลเลาะฮ์ในฐานะที่เป็นขบวนการปลดปล่อยที่มีความชอบธรรมก็ตาม

0 ความคิดเห็น:

About This Blog

รายการบล็อกของฉัน

รายการบล็อก

Our Blogger Templates Web Design

  © Blogger templates The Professional Template by Ourblogtemplates.com 2008

Back to TOP