วันอาทิตย์, มีนาคม 25, 2555

การต่อสู้ช่วงชิงการนำภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน เจ้าชายน้อย (Princelings) กับคำขวัญ “แดงทั้งแผ่นดิน”

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่สองข่าวเกี่ยวกับประเทศจีน ข่าวแรก ภาคอุตสาหกรรมของจีนยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง ดัชนี PMI (Purchasing Manager's Index) ของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ในเดือนมีนาคมเหลือเพียง 48.1 จาก 49.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ และทางการจีนประกาศอย่างเป็นทางการว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้ (2555) จะอยู่ที่ 7.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2547 ข่าวที่สอง นาย โปซีไหล ถูกปลดออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคแห่งนครฉงชิ่ง และ (คาดว่าจะ) ไม่ได้รับการเสนอชื่อเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่เรียกว่า โปลิตบูโร (เก้าอรหันต์) ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์นอกกรอบที่สนใจเรื่องเมืองจีนเป็นพิเศษ สัปดาห์นี้ผมจะขออนุญาตพาท่านผู้อ่านเข้าไป “แจม” เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนในสายตาของ “กระจกหักมุม” แบบพอหอมปากหอมคอ เผื่ออาจจะเป็นความรู้และเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อย ใครคือโปซีไหล : นักปราบคอรัปชั่นศตวรรษที่ 21 หรือ “เจ้าชายน้อย” (Princelings) ?? จะรู้จักโปซีไหล ต้องรู้จัก “โปอีโป” ก่อน โปอีโปเป็นหนึ่งในแปดผู้อาวุโสแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ด้วยความเคารพอย่างสูงสุดว่า “แปดเซียน” (The Eight Immortals) อันล้วนแต่เป็นผู้อาวุโสที่แวดล้อมเติ้งเสี่ยวผิงทั้งสิ้น แม้จะถูกแก๊งออฟโฟร์ (ที่มีเจียงชิงภรรยาประธานเหมาเจ๋อตุงเป็นศูนย์กลาง) ทำร้ายอย่างแสนสาหัส แต่โปฯ ก็ยังคงชื่นชมเหมา และแนวทางซ้ายจัดของเหมาเป็นสำคัญ ซึ่งดูเหมือนว่าแนวคิดดังกล่าวก็ได้ตกทอดมาถึงลูกชายหัวแก้วหัวแหวนที่ชื่อ “โปซีไหล” แบบเต็มๆ หลังจากบรรดาผู้อาวุโสพรรค (รุ่นเดินทัพทางไกล หรือ Long March) ที่ได้รับการ “คืนยศ” และได้รับอำนาจกลับมาร่วมบริหารงานกับทีมงานของเติ้งฯ ในช่วงศตวรรษที่ 1980s เป็นต้นมา ความยิ่งใหญ่และยศฐาบรรดาศักดิ์ก็กลับมาสู่พวกเขาและครอบครัวอย่างมโหฬารและอลังการอย่างยิ่ง ถึงขนาดที่บรรดาลูกหลานของอาวุโสเหล่านี้ถูกขนานนามว่า “เจ้าชายน้อย” (Princelings) โปซีไหลก็เป็นหนึ่งในบรรดา “เจ้าชายน้อย” และเป็นเจ้าชายน้อยที่โดดเด่นไม่ธรรมดาอีกด้วย ควรบันทึกไว้เพื่อเป็นการตั้งข้อสังเกต ณ จุดนี้ด้วยว่า “ซีจิ้นผิง” ที่กำลังจะก้าวขึ้นแทน “หูจิ่นเทา” ในอีกไม่นานนี้ ก็เป็นหนึ่งในบรรดาเจ้าชายน้อยด้วยเช่นกัน ในขณะที่หูจิ่นเทาไม่ใช่เจ้าชายน้อย แต่เป็นพวกที่เติบโตมาในองค์กรที่สำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เรียกว่า Chinese Communist Youth League กลับมาที่นายโปซีไหล นอกจากจะเป็นเจ้าชายน้อยแล้ว เขายังเป็นนักบริหาร นักพัฒนา และนักต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง (แนวคิดเหมาเจ๋อตุง) ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ผลงานที่ทุกคนต้องทึ่งและยอมรับก็คือ การพัฒนาเมือง “ต้าเหลียน” (Dalian) ให้เป็นเมืองยุคใหม่ที่ยอดเยี่ยมตั้งแต่การวางผังเมือง การสร้างระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การพัฒนาอุตสาหกรรม เทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมที่เสมือนสร้างเมืองใหม่ เนรมิตสวรรค์บนดิน ฯลฯ เป็นที่กล่าวขวัญไปทั่วโลก แต่จุดสุดยอดของผลงานของโปซีไหลอยู่ที่เมืองฉงชิ่ง ซึ่งก่อนหน้านั้นได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นเมืองใหญ่ เติบโตเร็ว และ “มาเฟีย” เข้มแข็ง เพียงไม่ถึงห้าปี โปซีไหลประกาศสงครามกับอาชญากรจัดตั้ง มาเฟียท้องถิ่น เจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพลในสไตล์พรรคคอมมิวนิสต์ยุคสร้างชาติ และสไตล์เร็ดการ์ดที่ทุกคนขวัญผวา ขณะเดียวกันก็ผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจนครฉงชิ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ต่ำกว่าตัวเลขสองหลักตลอดทุกปี กล่าวโดยสรุปก็คือ จากภาพการเติบโตดังกล่าว และภูมิหลังครอบครัวปฏิวัติระดับแปดเซียนอมตะ อนาคตของโปซีไหลก็คือ “ผู้นำคนต่อไป” หลังจากซีจิ้นผิงพ้นวาระอย่างแน่นอน การต่อสู้ช่วงชิงการนำภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน วันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา หนึ่งวันหลังเสร็จสิ้นการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติครั้งที่ 11 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็มีมติปลดนายโปซีไหลออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคแห่งเมืองฉงชิ่ง และตำแหน่งอื่นอีกทุกตำแหน่ง และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีข่าวที่แน่ชัดเกี่ยวกับตัวนายโปฯ (อยู่ที่ไหน อยู่ในสภาพอย่างไร?) แต่ข่าวที่ชัดๆ ก็คือก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ลูกน้องมือขวาของนายโปฯ ชื่อว่านายหวัง ลี่จวิน ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้ากรมตำรวจแห่งเมืองฉงชิ่งก็ได้หายตัวเข้าไปในสถานกงสุลสหรัฐ และได้รับการยืนยันต่อมาว่าได้ขอลี้ภัยอย่างเป็นทางการแล้ว อันเป็นอะไรที่น่าเสียหน้าอย่างใหญ่หลวงสำหรับรัฐบาลจีนและพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งนอกจากจะเสียหน้าแล้วยังอาจจะ “เสียความลับ” ที่สำคัญอีกอย่างมหาศาลด้วย ว่ากันว่า นายหวังฯ นั้นเดิมทีก็เป็คนสนิทของนายโปฯ แต่ต่อมาในระยะหลังมีปัญหาขัดแย้งกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะที่ลือกันมากๆ ก็คือนายหวังดันไปจับญาติสนิทของนายโปฯ เข้าให้ และทำท่าจะขยายผลไปสู่ “คดีคอรัปชั่น รับสินบน” ที่ใกล้ตัวนายโปฯ เข้าไปทุกส่วนว่าจะจริงหรือไม่ไม่มีใครตอบได้ ทว่า ในทางการเมือง และในเชิงการวิเคราะห์แบบวิภาษวิธี คงต้องมองไปที่ความขัดแย้งในทางความคิด (สองแนวทาง) และการช่วงชิงการนำภายในพรรค ซึ่งในกรณีนี้ต้องยอมรับว่าข้อมูลน้อยมาก แต่จากที่เฝ้าติดตามดู โอกาสที่จะเกิดการช่วงชิงการนำภายในพรรคฯ ดูท่าจะเป็นเรื่องยาก เพราะ ประการแรก ขณะนี้หัวหน้ากลุ่ม “เจ้าชายน้อย” คือนายซีจิ้นผิงก็จับมือกับกลุ่มเยาวชนคอมมิวนิสต์ของนายหูจิ่นเทาได้อย่างเหนียวแน่น และมีข้อตกลงจัดสรรอำนาจเป็นที่ลงตัวแล้ว โดยล่าสุดนายซีฯ เองก็วิจารณ์ “ฉงชิ่งโมเดล” ของนายโปฯ อย่างเปิดเผยเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา และ ประการที่สอง นายเหวินเจียเป่าซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มปฏิรูปที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางซ้ายจัดของเหมาฯ มาแต่ไหนแต่ไร ก็ยังได้รับการยอมรับจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างท่วมท้น โดยในวันสุดท้ายก่อนปิดประชุมสภาประชาชนนายเหวินฯ ได้กล่าวสุนทรพจน์ย้ำอย่างชัดเจนว่า “China risks another historical tragedy like the Cultural Revolution unless it enacts political reforms.” ซึ่งเท่ากับบอกว่าสิ่งที่นายโปฯ กำลังทำอยู่นั้นเป็นการเดินถอยหลังเข้าคลอง และเป็นความเสี่ยงทางการเมืองที่รับไม่ได้ วันรุ่งขึ้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็มีมติปลดนายโปฯ ตามข้อเสนอ ช่วงชิงการนำคงไม่ใช่ และยังยากที่จะสำเร็จ แต่ความแตกต่างทางความคิดนับวันก็ยิ่งถ่างห่างขึ้นทุกที และนี่จะกลายเป็นบททดสอบความอยู่รอดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในอนาคต (ที่อาจจะไม่ยาวไกล).

0 ความคิดเห็น:

About This Blog

รายการบล็อกของฉัน

รายการบล็อก

Our Blogger Templates Web Design

  © Blogger templates The Professional Template by Ourblogtemplates.com 2008

Back to TOP