วันเสาร์, มีนาคม 24, 2555

อนุกมธ.ชายแดนใต้ เสนอรายงาน 7 แนวทางแก้ปัญหาไฟใต้

คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอร่างรายงานของคณะอนุกมธ.ซึ่งเป็นผลการศึกษาและข้อเสนอแนะ โดยมีสาระสำคัญเป็นข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหา ดังนี้ ผลการศึกษาพบว่า มีปัญหาหลายประการทับซ้อนกันอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนยากที่จะสังเกตแยกแยะได้ว่า อะไรคือปัญหาหลักที่มีอิทธิพลต่อปัญหาอื่นๆ แต่ภายหลังมีการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง และคำรับสารภาพของสมาชิกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ และผู้ประสบเหตุโดยตรง ทำให้มีข้อเสนอแนะดังนี้ ประกอบด้วย 1.การศึกษา 1.1 ต้องมีการขับเคลื่อนปฎิรูปการศึกษาที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง และครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายอย่างมีคุณภาพและทันที 1.2 การศึกษาต้องนำการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าประชาชนในพื้นที่ได้รับการศึกษาที่ดีมีคุณภาพจะทำให้พวกเขาได้เข้าใจมีการเรียนรู้และคิดอย่างเป็นระบบ สามารถประกอบอาชีพและมีรายได้เพียงพอตามวิถีมุสลิม 1.3 ควรเพิ่มงบประมาณด้านวัฒนธรรม และศาสนาให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และงบประมาณดังกล่าวต้องถึงประชาชนอย่างแท้จริง 1.4 สร้างความเข้าใจในหลักศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง 2.การพัฒนาเศรษฐกิจ 2.1 ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจที่ประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์ยางแท้จริง มิใช่ได้รับผลประโยชน์เพียงกลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่งเท่านั้น 2.2 พัฒนาเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของประชาชน และฐานทรัพยากรของท้องถิ่นโดยยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและกระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในการดำรงชีพของประชาชน 2.3 เสริมสร้างความมั่นคงทางอาชีพและรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่ บนพื้นฐานโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการดำรงชีวิต 3.การอำนวยความยุติธรรม 3.1 พัฒนากระบวนงานยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ โดยทำความจริงให้ปรากฏด้วยความรวดเร็ว 3.2 กระบวนการที่จะอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในระดับต้น กระบวนการที่สอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลามคือ ยุติธรรมชุมชน ชุมชนสามารถไกล่เกลี่ยทำความเข้าใจ และหาข้อยุติร่วมกันเอง 3.3 ควรเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยอยางสันติ 3.4 ผลักดันให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบหรือสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ 4.การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ข้อเสนอนี้ขึ้นอยู่กับประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ว่าจะเห็นด้วยหรือ ไม่กับแนวทางดังกล่าว ทั้งนี้ข้อเสนอรูปแบบการกระจายอำนาจต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2550 และประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรและการพัฒนา 5.การเยียวยา 5.1 ประเด็นบุคคลที่จะได้รับการเยียวยาและการชดเชยความเสียหายควรจะต้องชัดเจนและมีเหตุผล เช่น ประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ใดๆเลยแต่ต้องมาเสียชีวิต หรือทุพลภาพ ควรต้องอยู่ในขอบข่ายที่จะได้รับการเยียวยาด้วย 5.2 ประเด็นการชดเชยที่เป็นจำนวนเงิน ต้องมีความระมัดระวังให้มาก ในเรื่องการไม่สร้างความขัดแย้งให้เพิ่มขึ้น และต้องมีมาตรฐานจำนวนเงินที่เท่ากันกับเหตุการณ์การชุมนุมที่กรุงเทพมหานคร 5.3 ประเด็นลักษณะและการเยียวยาชดเชยที่ไม่ใช่จำนวนเงิน ถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่ยังไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญเท่าที่ควร ดังนั้น ควรมีการพิจารณาและคำนึงถึงด้วย 5.4 ประเด็นเรื่องขอบเขตเวลา กรณีเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่กรุงเทพฯ นั้น สามารถกำหนดระยะเวลาได้ว่าเริ่มต้นและเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ แต่กรณีเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นประเด็นที่น่ากังวลเพราะ เหตุการณ์ความขัดแย้งที่เริ่มขึ้นเมื่อใดสามารถระบุเวลาได้ แต่กรณีที่จะกำหนดระยะเวลาที่เสร็จสิ้นในปัญหาความขัดแย้งต่างๆนั้น ทำได้ยาก ดังนั้นเห็นว่า ในกระบวนการชดเชยเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบในปัญหาภาคใต้ควรต้องเป็นการทำงานแบบปลายเปิด 6.การสนับสนุน คณะอนุกรรมาธิการฯ มีความเห็นสนับสนุนให้เกิดการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่อย่างเป็นระบบ ในเรื่อง การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เช่น การกระจายอำนาจ การบังคับใช้กฎหมายที่มีความจำเป็น การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การป้องกันความรุนแรง และเหตุร้ายรายวัน เป็นต้น 7.การปฏิบัติในทางยุทธวิธี ควรจะประสานและสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน ความสำเร็จในการแก้ปัญหา จำเป็นต้องอาศัยความจริงจังและจริงใจของรัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอยางเป็นรูปธรรมที่ประชาชนสามารถรู้สึกและยอมรับได้ มีการขับเคลื่อนการระดมการแก้ไขปัญหาในทุกด้านไปด้วยกันอย่างสอดประสานอย่างมีการบูรณาการ พร้อมทั้งให้น้ำหนักกับมิติความมั่นคงของประชาชนควบคู่กับมิติของสังคมและวัฒนธรรม โดยต้องเร่งรัดการแปลงยุทธศาสตร์และนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างมีเอกภาพและต่อเนื่อง ยอมรับและแก้ไขข้อบกพร่องที่ผ่านมา โดยตระหนักและเข้าใจถึงโจทย์สำคัญต่อการแก้ไขปัญหาอย่างปราศจากอคติ ความหวาดระแวง และผลประโยชน์แอบแฝง ตลอดทั้งมีการตรวจสอบและประเมินผลการทำงานของภาครัฐที่ผ่านมาอย่างเป็นระบบ มีมาตรฐานที่วัดความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างแท้จริง

0 ความคิดเห็น:

About This Blog

รายการบล็อกของฉัน

รายการบล็อก

Our Blogger Templates Web Design

  © Blogger templates The Professional Template by Ourblogtemplates.com 2008

Back to TOP